วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ก่อการร้ายมุ่งเป้าเมืองใหญ่

On April 5, 2017

กรณีคนร้ายก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ที่สถานีรถไฟใต้ดินนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นรัสเซีย มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

แม้รัสเซียจะเรียกว่า เป็นการก่อเหตุประเภทใดก็ตาม แต่นักสังเกตการณ์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า เป็นการก่อการร้าย

สถานที่คนร้ายเลือกลงมือ คล้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ประกอบด้วยการก่อเหตุที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี กรุงปารีส ฝรั่งเศส และกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม

ถือเป็นการก่อเหตุลบล้างทฤษฎีที่ว่า เมืองใหญ่ไม่ใช่เป้าหมายโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย

ประเด็นสำคัญที่ตามมา ซึ่งนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางคือ สาเหตุและแนวทางป้องกันในอนาคต ภายใต้คำถามว่า “ทำอย่างไรชีวิตจึงจะปลอดภัยจากการก่อการร้าย”  

มหันตภัยประเภทนี้ นอกจากสร้างความหวาดกลัว ทำให้ผู้อยู่ในเมืองใหญ่ส่วนหนึ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว ยังก่อหายนะให้ชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก

ดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก (Global Terrorism Index) ปีล่าสุด คือปี 2015 (ยังไม่เผยแพร่สถิติของปี 2016) จัดทำโดยสถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพนานาชาติ (Institute for Economics and Peace) แห่งนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในปีดังกล่าว 29,376 ราย และเศรษฐกิจเสียหาย มูลค่า 89,660 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนปีนี้ ผ่านไปเพียง 3 เดือน มีเหตุก่อการร้าย (ไม่รวมที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) แล้ว 315 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1,953 ราย

ต่อคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรจึงจะป้องกันการก่อการร้ายได้” ผู้เชี่ยวชาญตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ” เนื่องจากกลุ่มก่อการร้ายใช้วิธีที่ยากต่อการป้องกัน โดยก่อเหตุด้วยวิธีง่าย ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดไม่ถึง

ที่ยากกว่านั้นคือ ผู้ก่อเหตุเป็นประชาชนทั่วไป ไม่มีประวัติเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายมาก่อน

นิก โอเบรียน แห่งสถาบันบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยชาร์ลสสจ๊วร์ต (CharlesSturtUniversity) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเคยทำงานในหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายมาหลายปี เสนอแนะว่า

แนวทางที่พอทำได้ส่วนหนึ่ง คือรวบรวมข้อมูลสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายในท้องถิ่น และติดตามความเคลื่อนไหวอย่างเกาะติด แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับนานาชาติ และรวบรวมวิธีการก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล

โอเบรียนระบุว่า ด้วยกลยุทธ์ของกลุ่มก่อการร้าย ที่ไม่ซับซ้อนแต่แยบยลขึ้น ทำให้เมืองใหญ่ยังเสี่ยงตกเป็นเป้าของการก่อเหตุต่อไป

โอเบรียนยกตัวอย่างว่า กลุ่มก่อการร้ายจะก่อเหตุในนครซิดนีย์ของออสเตรเลียแน่นอน แต่ไม่สามารถคาดได้ว่า จะลงมือเมื่อไร


You must be logged in to post a comment Login