- เรื่องยังไม่จบPosted 24 hours ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
ด้วยขันติธรรม / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์
หลายปีมานี้สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งทั้งทางการเมืองและศาสนา แต่จนวันนี้เรายังไม่พบทางออกจากความขัดแย้ง เนื่องจากความขัดแย้งเป็น “สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น” โดยการเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาทางการเมืองนอกวิถีทางประชาธิปไตย และนำมาสู่การสร้างวาทกรรม “ปรองดอง” ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังไม่สามารถปรองดองกันได้เสียที เพราะไม่สามารถกลับไปสู่วิถีทางประชาธิปไตยได้
จึงเป็นความจริงว่าถ้ายัง “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ความปรองดองจริงๆก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้นรากฐานของปัญหาจริงๆคือ “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” การแก้ปัญหาที่ถูกจุดจึงต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตย เพราะความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเปิด “พื้นที่” ให้ความเห็นต่างได้สนทนาถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างเท่าเทียม
ความสงบภายใต้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นเพียงความสงบที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจปืน และอันที่จริงความสงบก็ไม่ใช่เป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวของสังคมมนุษย์ ดังที่อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่า “ถ้าความสงบเป็นเป้าหมายเดียวของสังคมมนุษย์ เกาหลีเหนือคงเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด” เพราะเป็นประเทศที่สงบที่สุด ไม่มีสื่อวิจารณ์รัฐบาล ไม่มีการเดินขบวนประท้วงหรือความวุ่นวายทางการเมือง แต่สภาพเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชน และอื่นๆ ก็ไม่อาจเทียบได้กับสังคมประชาธิปไตย
แม้ประชาธิปไตยจะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ก็มีข้อบกพร่องน้อยกว่าเมื่อเทียบกับระบอบเผด็จการใดๆ โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และอื่นๆ ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ยืดหยุ่นที่สุดในการรองรับความหลากหลาย และเป็นระบอบที่เอื้อให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆมากกว่า เพราะเป็นระบอบที่เปิดพื้นที่ให้กับความคิดเห็นที่หลากหลายได้แสดงออก ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และได้แข่งขันกันทางนโยบายและอื่นๆ ภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม ย่อมทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกันที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพทางการบริหารประเทศและความยุติธรรมด้านต่างๆได้ดีกว่า
ฉะนั้นความเป็นประชาธิปไตยจึงเป็นรากฐานของความปรองดอง แต่ในสภาวะสังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องสร้าง “ขันติธรรม” (tolerance) เพื่อไม่ให้ความเห็นต่างพาสังคมเราไปสู่ความรุนแรง
ขันติธรรม หมายถึง ความอดกลั้น ความมีใจเปิดกว้างต่อความคิดความเชื่อที่แตกต่าง โดยมากมักจะใช้กับเรื่องที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ เช่นเรื่องความเชื่อทางศาสนา เราไม่สามารถเรียกร้องให้ศาสนาต่างๆยกเลิกคำสอน ความเชื่อ หรือประเพณีทางศาสนาได้ เช่น เราไม่สามารถไปเรียกร้องเรื่องการกิน การแต่งกายตามความเชื่อทางศาสนาของชาวมุสลิมและศาสนาอื่นๆว่าไม่ให้พวกเขาทำแบบนั้นๆได้ เรื่องแบบนี้เราต้องใช้ความอดกลั้นหรือมีใจเปิดกว้างเคารพความแตกต่างของกันและกัน
เวลานี้ดูเหมือนขันติธรรมทางศาสนาในบ้านเราไม่ค่อยมี ในหมู่ชาวพุทธด้วยกันเองก็มีการเอาประเด็นความเชื่อทางศาสนามาโจมตีกันจนนำไปสู่ความขัดแย้ง เช่น การโจมตีความเชื่อทางศาสนาแบบธรรมกายว่าเป็นลัทธินอกรีต เป็นลัทธิจานบิน ฯลฯ ซึ่งการกล่าวหากันดังกล่าวมักจะเป็นข้อกล่าวหายอดนิยมในยุคกลาง
นอกจากชาวพุทธจะขาดขันติธรรมต่อความเชื่อหรือการตีความ การสอนพุทธศาสนาที่แตกต่างกัน รัฐไทยที่ไม่ใช่ “รัฐโลกวิสัย” (secular state) แต่เป็น “รัฐศาสนาแบบไทย” ที่เอาศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ของรัฐ และรัฐก็มีอำนาจควบคุมการตีความคำสอนพุทธศาสนาผ่าน “คณะสงฆ์ของรัฐ” ยังได้ยึดเอาข้อโจมตีของชาวพุทธกลุ่มหนึ่งเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจรัฐไปจัดการกับชาวพุทธอีกกลุ่มหนึ่ง
ฉะนั้นความไม่มีขันติธรรมระหว่างชาวพุทธด้วยกันเอง ประกอบกับอำนาจรัฐที่แทรกแซงศาสนาได้ จึงเป็น “เงื่อนไขสำคัญ” ที่ทำให้สังคมพุทธไทยขัดแย้งกันเองมาตลอดประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ภายใต้เงื่อนไขนี้ พระรูปไหน วัดไหน สำนักไหนมีชื่อเสียงขึ้นมา เป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก ก็มักจะถูกโจมตีและนำไปสู่การใช้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการได้ง่ายๆ
ในอีกด้านหนึ่งคือการขาดขันติธรรมระหว่างศาสนา โดยเฉพาะระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม (บางกลุ่ม) มักจะมีการสร้างกระแสความหวาดระแรงกันบ่อยๆ อันมีสาเหตุมาจากปัญหาขัดแย้งใน 3 จังหวัดภาคใต้ โรคเกลียดอิสลามที่ระบาดมาจากพม่าและสื่อตะวันตก จนแม้กระทั่งเหตุการณ์ล้อมวัดพระธรรมกายด้วยอำนาจตามมาตรา 44 ก็มีการมโนกันไปว่ามี “มุสลิมอยู่เบื้องหลัง” ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธด้วยกันและระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม (บางกลุ่ม) จึงมักเป็นเรื่องของการ “มโน” กันเป็นส่วนใหญ่
ขณะเดียวกันสังคมเราก็ขาดขันติธรรมในทางการเมือง เพราะการมีขันติธรรมในทางการเมืองหมายความว่าต่อให้มีนักการเมือง พรรคการเมืองถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือทำผิดกฎหมายเรื่องอื่นๆ เราก็ต้องยืนยันวิธีแก้ปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น แต่สังคมเรากลับมีนักการเมือง พรรคการเมืองขั้วตรงข้าม มวลชนฝ่ายตรงข้ามเรียกร้องและสนับสนุนการใช้วิธีนอกระบบประชาธิปไตย
ฉะนั้นสังคมเราจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมการมี “ขันติธรรม” ทางศาสนาและทางการเมืองคือ มีความอดกลั้น เปิดกว้างต่อความแตกต่างทางความเชื่อทางศาสนา ความเห็นต่างทางการเมือง และยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพื่อให้เราสามารถก้าวไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้จริงๆ โดยไม่ต้องมีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อเหมือนอดีตที่ผ่านมา
You must be logged in to post a comment Login