วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เคาท์ดาวน์‘บิ๊กตู่’ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On April 10, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ในที่สุดรัฐธรรมนูญใหม่ก็ได้ฤกษ์ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว (ต้นฉบับนี้เขียนก่อนวันประกาศใช้) เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ก็เท่ากับเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งไปสู่การเลือกตั้ง เริ่มต้นนับถอยหลังการลงจากอำนาจของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ กระบวนการจัดทำกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ก็ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งด้วย

ตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ยกร่างกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับด้วยนั้น มีเวลาในการทำร่างกฎหมายเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 240 วัน หรือ 8 เดือน

จากนั้น สนช. มีเวลาพิจารณาร่างกฎหมายลูกอีก 60 วัน หรือ 2 เดือน

เมื่อผ่านขั้นตอนการพิจารณาจาก สนช. ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ โดยมีกรอบเวลาอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน หรือ 3 เดือน

หลังกฎหมายลูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วจะมีกรอบเวลาสำหรับจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน

เมื่อจัดการเลือกตั้งเสร็จแล้วมีกรอบเวลาสำหรับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งและประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีก 60 วัน หรือ 2 เดือน

นับนิ้วไปอีก 18 เดือน จึงจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามารับช่วงบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลทหาร คสช.

พูดอีกมุมหนึ่งคือ รัฐบาลทหาร คสช. จะยังอยู่ในอำนาจต่อไปอีกปีครึ่ง

สำหรับกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับที่จะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งประกอบด้วย

1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

5.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

6.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

7.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

8.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

9.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

10.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่กระแสเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งกำลังแรง ผู้มีอำนาจหลายคนออกมาพูดในทำนองว่าสามารถขยับโรดแม็พจัดการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นได้ โดยเร่งรัดทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับให้แล้วเสร็จก่อน และใช้ช่วงเวลาที่เหลือก่อนมีรัฐบาลใหม่จัดทำกฎหมายลูกที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เคยมีข่าวว่าจะเร่งให้เสร็จก่อนเพื่อย่นระยะเวลาโรดแม็พเลือกตั้งให้เร็วขึ้นได้คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ที่ผ่านมาในช่วงที่รอเวลาประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ กรธ.ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ทำการยกร่างกฎหมายต่างๆเหล่านี้แล้ว และยืนยันว่าทันทีที่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ก็พร้อมจะเสนอร่างกฎหมายให้ สนช. พิจารณาได้ทันที

ชั่วโมงนี้เสียงเรียกร้องให้รีบจัดการเลือกตั้งดูเหมือนจะแผ่วลงไปหลังเกิดสถานการณ์พิเศษที่กระทบจิตใจคนไทยทั้งประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลทหาร คสช. ได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพและงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นก่อนเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการย่อมมีผลต่ออำนาจของรัฐบาลทหาร คสช. โดยเฉพาะอำนาจของ “บิ๊กตู่” ในฐานะหัวหน้า คสช.

แม้หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ อำนาจต่างๆในการออกประกาศ คำสั่ง หรืออำนาจพิเศษตามมาตรา 44 จะยังมีอยู่เหมือนเดิม

แต่การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ต้องสิ้นสภาพลงไปโดยปริยายก็ไม่เป็นการบังควร เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

“บิ๊กตู่” ก็จะมีสถานะเหมือนยักษ์ไร้กระบอง

เมื่อเป็นยักษ์ไร้กระบองในช่วงนับถอยหลังลงจากอำนาจก็อาจมีแรงเสียดทานเพิ่มมากขึ้นเป็นธรรมดา

นับเป็นช่วงเวลาท้าทายมันสมองในการบริหารประเทศ ประคับประคองเรือแป๊ะให้เข้าเทียบท่าโดยใช้กฎหมายปรกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ นับเป็นเรื่องโชคดีอยู่ไม่น้อยที่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดแรงเสียดทานต่ออำนาจของรัฐบาลทหาร คสช. มีค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการเมือง

ในเมื่อมองเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไร ตามนิสัยของนักการเมืองก็คงไม่มีใครอยากกวนน้ำให้ขุ่นจนมองไม่เห็นคูหาเลือกตั้ง

ปัจจัยที่จะท้าทายอำนาจจากฝั่งการเมืองจึงแทบไม่มี

หากจะมีอะไรที่มาท้าทายอำนาจก็น่าจะมาจากการบริหารราชการแผ่นดินเสียมากกว่า เรียกว่าเป็นภาวะสนิมแต่เนื้อในตน ซึ่งเจอกันมาแล้วในทุกรัฐบาลไม่ว่าจะได้อำนาจมาจากรัฐประหารหรือจากการเลือกตั้ง

ปัจจัยที่ว่าคือการเข้าเกียร์ว่างของระดับปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นเรื่องปรกติ เมื่อรู้ว่าเจ้านายใกล้จะหมดอำนาจ อะไรที่ทำแล้วเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อตำแหน่งหน้าที่ตัวเองในอนาคตก็ต้องรอดูทิศทางลมให้ชัดเจนก่อนว่าจะพัดไปทางไหนหลังการเลือกตั้ง

เรื่องแบบนี้ “บิ๊กตู่” ก็เคยเจอมาแล้วในช่วงที่เข้ายึดครองอำนาจใหม่ๆที่ทำให้หงุดหงิดจนต้องออกมาส่งเสียงขู่เป็นระยะๆว่าจะย้ายให้หมดหากใครยังฝักใฝ่อยู่กับอำนาจเก่า

ตอนเข้ามารับอำนาจใหม่ๆ เสียงขู่คำรามก็มีผลอยู่บ้างเพราะยังมีอำนาจอยู่ล้นมือ แต่ในช่วงท้ายปลายอำนาจถึงจะไม่พอใจการเข้าเกียร์ว่างก็คงทำอะไรไม่ได้มาก

ภาวะของคนใกล้ไร้อำนาจก็เป็นอย่างนี้


You must be logged in to post a comment Login