- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
หน้ากากประชาธิปไตย / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
ถือเป็นข่าวใหญ่กับการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ทำให้ทุกองคาพยพต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย (99.99%) ไม่ว่าจะปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ก็ทำให้สถานการณ์ต่างๆคึกคักขึ้นทันที เพราะจะทำให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาคมโลกอีกครั้ง แม้หลายฝ่ายเชื่อว่าการเมืองไทยจะยังจมปลักกับความขัดแย้งและกลุ่มอำนาจเดิมๆ โดยเฉพาะกองทัพ
อย่างไรก็ตาม การประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเป็นทางการย่อมเท่ากับเริ่มต้นนับหนึ่ง และเป็นการนับถอยหลังลงจากหลังเสือของรัฐบาลทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องทำตามโรดแม็พนำประเทศสู่การเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งจะเป็นพรรคใด กลุ่มใด หรือนอมินีของใคร อำนาจที่แท้จริงจะมีอำนาจรัฐเหนือรัฐหรือรัฐซ้อนรัฐอย่างไร อย่างน้อยประชาชนก็จะได้มีกิจกรรมออกไปกากบาทและหย่อนบัตรเลือกตั้ง
ส่วนรัฐธรรมนูญจะอยู่ได้นานแค่ไหนคงไม่มีใครบอกได้ ยิ่งย้อนประวัติศาสตร์การประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งสิ้น 19 ฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แทบทุกฉบับอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ถูกฉีกทิ้งจากการรัฐประหาร โดยรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ประกาศใช้เป็นฉบับที่ 20 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475
ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็พ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. (4 เมษายน) ว่า หลังพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเท่ากับการเริ่มนับหนึ่งตามโรดแม็พ โดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกจะเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมที่มีระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือน ซึ่งมีขั้นตอนอยู่แล้ว ส่วนจะช้าหรือเร็วก็อยู่ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเผยแพร่รัฐธรรมนูญต่อประชาชนว่า ได้เผยแพร่ไปแล้วช่วงการทำประชามติ แต่หลังวันที่ 6 เมษายนก็สามารถอ่านได้อีกครั้ง จะได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร เขียนไว้อย่างไร กฎหมายลูกเขียนเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติอย่างไร ซึ่งมีหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎกระทรวงต่างๆ ต้องมีการปรับทั้งหมด ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญฉบับเดียวแล้วจะทำให้ประเทศไปได้ ทั้งหมดทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีกฎหมายลูก เดิมก็มีกฎหมายลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
ส่วนการควบคุมและกำกับดูแลพรรคการเมืองนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เคยควบคุมใครอยู่แล้ว เพียงแต่บังคับใช้กฎหมายและทำให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย พร้อมกับดำเนินการปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศไปตามลำดับ ไม่ได้ไปควบคุมใคร ขอร้องว่าอย่ามองเป็นการควบคุม ทุกคนต้องควบคุมตัวเอง อย่าสร้างความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อน อย่าทำให้ประชาชนเกิดความสับสนเท่านั้นเอง ส่วนการผ่อนปรนกฎหมายต่างๆและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองนั้น ฝ่ายความมั่นคงจะเป็นผู้พิจารณา
อำนาจคณะรัฐประหารยังคงอยู่
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงไทม์ไลน์ของแม่น้ำทั้ง 5 สาย โดยขีดเส้นให้ ครม. และ คสช. สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งและมีการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะหมดวาระ 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) จะหมดอายุทันทีเมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 120 วัน หลังวันที่ 6 เมษายน ส่วนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องอยู่ทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 240 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ คลอดกฎหมาย 10 ฉบับเมื่อไรก็พ้นวาระเมื่อนั้น
สำหรับมาตรา 44 ที่ออกก่อนหน้านี้ รวมทั้งที่จะออกใหม่ในวันข้างหน้า แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว มาตรา 44 ก็ยังสามารถดำเนินการได้ เพราะกำหนดไว้ในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า อำนาจที่เป็นของ คสช. แต่เดิม เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วยังคงมีอำนาจนั้นต่อไปจนกว่า คสช. จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมาตรา 44 ที่เคยออกไปแล้ว หากจะยกเลิกจะต้องมีการออก พ.ร.บ.ยกเลิก
ส่วน ครม. คสช. สนช.และ สปท. ที่อยากลาออกเพื่อลงสมัคร ส.ส. จะต้องลาออกภายใน 90 วันนับตั้งแต่รัฐธรรรมนูญประกาศใช้ แต่ไม่เกี่ยวกับการเป็น ส.ว. หรือการได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
ยุทธศาสตร์ชาติมัดทุกองค์กร
นายวิษณุกล่าวถึงคำสั่งมาตรา 44 ที่ยังคงอยู่ว่า คำสั่งที่มีมาแล้วยังคงใช้ต่อไป รวมถึงการออกคำสั่งใหม่ก็ยังออกได้ ส่วนการโจมตีการใช้มาตรา 44 นั้น เมื่อไม่ชอบก็โจมตี ชอบก็ไม่โจมตี เสียงเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ก็ยังคงมี การออกกฎหมายหรือ พ.ร.บ. จะมีขั้นตอนยุ่งยากกว่าเดิม เพราะมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่มีหลายรูปแบบ โดยส่วนนี้จะออกมาเป็นคู่มือปฏิบัติต่อไป ที่สำคัญคือการออกกฎหมายต้องเป็นไปตามเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถทำได้ หัวหน้าส่วนราชการก็ต้องรับผิดชอบโดยต้องพ้นจากตำแหน่ง
นายวิษณุยังระบุว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศและกฎหมายฝาแฝดอีก 1 ฉบับคือ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลา 4 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพื่อเตรียมพร้อมให้ประเทศเดินตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญจะกำหนดว่ารัฐบาลใหม่ต้องทำอะไรบ้าง ยุทธศาสตร์ชาติจะผูกมัดคณะรัฐมนตรี ผูกมัดศาล ผูกมัดรัฐสภา ผูกมัดองค์กรอิสระ แม้แต่องค์กรต่างๆ เช่น กกต. ป.ป.ช. ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่จะกำหนดขึ้นอีก 4 เดือนข้างหน้า
“ประธานยุทธศาสตร์ข้างหน้าอาจจะเป็นคนเดียวกับวันนี้คือนายกรัฐมนตรี จึงหวังว่ายุทธศาสตร์ชาติจะยังคงอยู่และจะไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ 20 ปี จะมีส่วนไหนเข้าไปต่อเติมก็ค่อยว่ากัน โดยรัฐบาลใหม่ที่จะเลือกตั้งเข้ามาไม่ต้องกลัวว่าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์วางแผนไว้ 20 ปี ทำให้รัฐบาล 20 ชุดต้องจำนนอยู่ภายใต้อำนาจ ทุกวันนี้ยุทธศาสตร์ชาติต้องฟังเสียงจากประชาชน ใครจะเปลี่ยนก็ต้องไปฟังเสียงจากประชาชน”
นายปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ได้แสดงความเห็นในเฟซบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul และตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า
“วิษณุ เครืองาม กล้าพูดชัดเจนขนาดนี้ แสดงว่ารัฐธรรมนูญใหม่ที่จะประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายนนี้ จะมีมาตรา 265 ที่รับรองให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 ต่อไปแน่นอน
นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยที่หัวหน้าคณะรัฐประหารผู้ทรงอำนาจสูงสุดเด็ดขาดในระบบรัฐประหาร-รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะยังคงมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดต่อไปในระบบรัฐธรรมนูญถาวร
แล้วแบบนี้ใครคือ “องค์อธิปัตย์” ตัวจริง?
หรือเรามี “องค์อธิปัตย์คู่”?
คนหนึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้มีและใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญได้ อีกคนหนึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ”
ยื้อเลือกตั้งได้นานสุด 19 เดือน
ที่น่าสนใจคือไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ซึ่งนายวิษณุเคยชี้แจงว่า หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญระยะเวลานานที่สุดคือ 19 เดือนดังนี้
1.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 240 วัน (8 เดือน) โดยกฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) มีทั้งหมด 10 ฉบับ ถ้า กรธ. เร่งทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับเสร็จก่อน การเลือกตั้งก็จะเร็วขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังประกาศใช้ กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับคือ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส., พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว., พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง
2.สนช. พิจารณากฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 60 วัน (2 เดือน)
3.สนช. ส่งร่างกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ. พิจารณา หากศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ. เห็นว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้ง สนช. ภายใน 10 วัน และตั้ง กมธ.ร่วมฝ่ายต่างๆพิจารณา แล้วเสนอ สนช. ให้ความเห็นชอบภายใน 15 วัน หาก สนช. ไม่เห็นชอบ กรธ. ต้องทำกฎหมายลูกใหม่ แม้ไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่จะใช้เวลาไม่นาน
4.ขั้นตอนการทูลเกล้าฯร่างกฎหมายลูกเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยใน 90 วัน (3 เดือน)
5.เลือกตั้งภายใน 150 วัน (5 เดือน) นับแต่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้
ระยะเวลาที่นานที่สุดสำหรับการเลือกตั้งคือพฤศจิกายน 2561 หมายถึง กรธ. จัดทำกฎหมายลูกตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดคือ 8 เดือน ทั้งยังมีขั้นตอนการพิจารณาใน สนช. และการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญอีก ซึ่ง กมธ. ก็หนีไม่พ้นข้อครหาว่าต้องการดึงเวลาให้ คสช. อยู่ในอำนาจให้นานที่สุด อย่างที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ให้สัมภาษณ์ (9 กุมภาพันธ์) ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้จึงจะเริ่มต้นนับหนึ่งได้ แม้ กรธ. ได้พิจารณากฎหมายลูกล่วงหน้าแล้ว แต่จะเสร็จทันภายในปีนี้หรือไม่ยังบอกไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไร เมื่อกฎหมายลูกออกมาแล้วก็ต้องดูว่า กกต. กับพรรคการเมืองจะใช้เวลานานเท่าไรในการปรับตัวเข้ากับเนื้อหากฎหมายใหม่
สถานการณ์เปลี่ยนอำนาจเปลี่ยน
สถานการณ์บ้านเมืองจึงน่าจะมีความชัดเจนขึ้นหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หลังจากที่รัฐบาลทหารไล่ล่าและไล่บี้ฝ่ายเห็นต่างทั้งกรณีวัดพระธรรมกาย อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และโกตี๋ ซึ่งมีการตอบโต้การใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐบาลทหารในทุกมิติ ทำให้มีคำถามถึงความถูกต้องชอบธรรมต่างๆ แม้แต่พวกเดียวกันก็ออกมาขย่มคัดค้านการหมกเม็ดร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมแห่งชาติ สุดท้ายก็ออกมาในลักษณะประนีประนอม รวมถึงการไม่เอาผิดผู้ชุมนุมคัดค้าน ยิ่งเห็นการเลือกปฏิบัติกับฝ่ายที่เห็นต่างชัดเจน โดยเฉพาะนักศึกษาและประชาชนที่แม้แต่ยืนเฉยๆหรือตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันก็ยังถูกจับและดำเนินคดี
ดังนั้น การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจของรัฐบาลทหาร แม้จะยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนเดิมก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ถือเป็นดาบอาญาสิทธิ์ของรัฐบาลทหาร อย่างที่นายวิษณุก็ยอมรับว่า อาจมีการคัดค้านหรือเรียกร้องต่างๆถึงการใช้อำนาจของรัฐบาลทหารว่าสมควรหรือไม่
สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เหมือนยักษ์ แต่การใช้กระบองก็ต้องระมัดระวังและรอบคอบมากยิ่งขึ้น พร้อมๆกับการวางยุทธศาสตร์อำนาจกับการนับถอยหลังลงจากอำนาจ เพราะการพยายามยื้ออยู่ในอำนาจท่ามกลางผลงานทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลทหารรู้ว่าไม่มีความสามารถและไร้ความถนัดย่อมไม่เป็นผลดีต่อ คสช. ซึ่งจะเห็นการส่งสัญญาณชัดเจนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ว่า กรธ. จะร่างกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมาย กกต. และกฎหมายพรรคการเมืองอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน
ขณะที่การใช้มาตรา 44 ของรัฐบาลทหารก็จะไม่ง่ายเหมือนเดิมแน่นอน อย่างน้อยก็ต้องคำนึงถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิความเป็นมนุษย์ที่เป็นปัญหาของรัฐบาลทหารและ คสช. มาตลอด การใช้อำนาจใดๆที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมจะมีการต่อต้านหรือเรียกร้องมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าเสรีภาพในการรวมตัว การแสดงออก การชุมนุม หรือการรับฟังความคิดเห็น แม้แต่การออกกฎหมายก็ต้องรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ทำให้หลายเรื่องตามรัฐธรรมนูญจะมีการยกขึ้นมาถกเถียงอย่างกว้างขวาง
ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเป็นปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ยังอยู่กับรัฐบาลทหาร สถานการณ์ทุกอย่างจึงเป็นไปได้ทั้งสิ้น แม้จะมีการเลือกตั้งและรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม รัฐธรรมนูญก็กำหนดชัดเจนถึงการคงอำนาจของกองทัพภายใต้บทเฉพาะกาล 5 ปี ซึ่งก็คือการ “สืบทอดอำนาจ” ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ซึ่งก็คือพรรค ส.ว. ที่มีเสียงมากที่สุดในสภา หรืออำนาจขององค์กรอิสระ ขณะที่มาตรา 44 ก็ยังอยู่จนกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถวายสัตย์ เท่ากับ คสช. ยังใช้อำนาจได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี
ดังนั้น การเลือกตั้งจะเร็วหรือช้าจึงอยู่ที่กฎหมายลูกและการพิจารณาของ สนช. ว่าจะยื้อเวลาหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดก็อยู่ที่ผู้มีอำนาจหรือ “เจ้าของเรือแป๊ะ” จะมีใบสั่งอย่างไร จะให้ผ่านการพิจารณา 3 วาระรวดภายในคืนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะกฎหมายมากมายที่ประกาศใช้ล้วนเป็นมติเอกฉันท์ที่มีเสียงท่วมท้นทั้งสิ้น
ชาตินิยมหน้ากาก-เสียงเพลง
ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์บทความที่เขียนไว้ใน “มติชนออนไลน์” ชื่อ “ชาตินิยมหน้ากาก-เสียงเพลง” ตอนหนึ่งไว้อย่างสอดคล้องกับยุคสังคมคลั่งไคล้คนใส่หน้ากากว่า
“…ความจริงที่จริงไปอีกชั้นหนึ่งคือเสน่ห์ของรายการหน้ากากนักร้อง นั่นก็คือคุณรู้จักเรื่องราวของคนที่คุณคิดว่าคุณรู้จักมากน้อยแค่ไหน? ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า เขาคือคนคุ้นเคยของคุณที่ไม่เคยรู้จักมุมเล็กๆมุมนี้ของเขา แม้กระทั่งคนเดาถูกหมด แต่เรื่องสำคัญก็ยังไปอยู่ที่ว่าทำไมเขาเลือกหน้ากากดังกล่าวมาเล่าหรือปกปิดตัวตนของเขา เป็นการปกปิดที่เปิดเผยตัวตนอีกด้านหนึ่งของเขาไปในเวลาเดียวกัน ส่วนเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คนไทยทั้งประเทศมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนในฐานะผู้ชมและผู้ตัดสิน
รายการเรียลิตี้เกมโชว์สมัยใหม่อาจจะให้ความสนใจจากคะแนนโหวตจากทางบ้านส่วนหนึ่ง บางคนอาจจะเห็นว่านี่คือรากฐานเบื้องต้นของสังคมประชาธิปไตย บางคนบอกว่าอย่าคิดมาก เพราะเป็นวิธีการทำธุรกิจที่จะขายบริหารการลงคะแนนของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
คำถามก็คือ ในสังคมแบบนี้เราสนใจเรื่องราวของการเกี่ยวพันกับคนไทยทั้งประเทศแค่ไหน
บางรายการรู้สึกว่าใช้กรรมการตัดสินก็พอ เราจึงเป็นสังคมนิยมกรรมการ กรรมการผูกขาดคำตัดสินและรางวัล บางรายการใช้คนโหวตเท่าที่มีในห้องส่ง บางส่วนอาจจะง่ายต่อการผลิต (บันทึกเทปไว้ได้) แต่อาจจะต้องตั้งคำถามว่าเราใช้เงื่อนไขอะไรในการเลือกตัวแทนมานั่งตัดสินแทนเรา บางรายการใช้การผสมคะแนนทั้งจากกรรมการจากตัวแทนและจากผู้ชมทางบ้าน แต่สุดท้ายก็ไม่ค่อยให้หลักประกันว่าคนที่เราเชื่อว่าชนะและเป็นตัวแทนของประชาชนนั้นจะเป็นที่นิยมของคนบางกลุ่มบางพวก
ดูอย่างความสำเร็จของรายการเดอะวอยซ์ สุดท้ายก็ไม่ได้ให้หลักประกันอะไรว่าแชมป์ที่ชนะทั้งประเทศจะร้องเพลงจริงๆได้ดังกว่าคนที่เข้ารอบลึกๆหรือพลาดแชมป์ บางเพลงก็เป็นเรื่องที่ถ่ายทอดออกมาได้ต่างกัน
คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ ท่ามกลางความนิยมในความจริงที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อความบันเทิง อย่างรายการหน้ากากนักร้อง แต่เรายังรอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมในการประกอบสร้างความจริงแบบใหม่ และในวันนี้เราก็มีลักษณะผู้ชมแบบที่มีแต่กรรมการที่เราไม่ได้ตั้งและมีตัวแทนที่เราไม่รู้ว่าใครเลือกเข้ามา
เรายังไม่รู้ว่าเมื่อไรเราจะได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในฐานะคนไทยทั้งประเทศโดยสมบูรณ์ หรือสุดท้ายคนไทยทั้งประเทศก็จะเป็นเพียงแค่ผู้ชมมากกว่าผู้เล่นในชุมชนจินตกรรมที่เรียกว่าชาติเท่านั้นเอง
และคนที่ใส่หน้ากากบนเวทียังไงก็ยังมีหน้ากากอีกหลายชั้นที่ไม่มีใครกำหนดให้ถอดได้”
หน้ากากประชาธิปไตย
สถานการณ์ต่างๆที่กดดันรัฐบาลทหารหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอาจทำให้ คสช. ไม่มีทางเลือกมากนัก หากต้องการคงบทบาทและอำนาจทางการเมืองต่อไปก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบและตัวละครใหม่ หรือหา “หน้ากากอะไรใหม่ๆ” มาใส่เพื่อรักษาเรทติ้งไว้ให้นานที่สุด แม้จะถูกมองว่าเป็นละครน้ำเน่าหรือเหล้าเก่าในขวดเดิม
ดังนั้น ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเร็วหรือช้าจึงไม่มีความหมายใดๆกับการเมืองไทย เพราะอำนาจที่แท้จริงยังอยู่ที่กองทัพและชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม หรือการได้นายกรัฐมนตรีคนนอกที่ชอบเล่นบท “หน้ากากคืนความสุข” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และเชื่อว่ากองทัพและชนชั้นนำยังคงมีอำนาจต่อไปอีก 5 ปี หรือ 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ที่ผูกขาดอำนาจไว้อย่างเบ็ดเสร็จ
รัฐธรรมนูญที่พร้อมจะถูกฉีกทิ้งแล้วถูกฉีกทิ้งเล่า พิธีกรรมเลือกตั้งเพื่อให้ได้ตัวแทนเสียงส่วนน้อยที่จะมาจากการเลือกตั้งที่ไม่มีอำนาจ หรือการได้รัฐบาลที่มาจากกติกาที่เขียนให้นอนมา จึงเป็นแค่การเปลี่ยนผ่านชื่อจาก “ระบอบเผด็จการ (ประชาธิปไตย 99.99%)” มาเป็นระบอบพิสดารภายใต้ “หน้ากากประชาธิปไตย” เท่านั้น!!??
You must be logged in to post a comment Login