วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ส่องสืบทอดอำนาจ

On April 13, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

สุขสันต์วันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย

น้ำที่สาดใส่กันคงทำให้ฉ่ำเย็นลงได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่หลังเทศกาลสงกรานต์ทุกอย่างจะกลับมาร้อนดังเดิม ส่วนจะอยู่ในระดับไหนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการควบคุมของรัฐบาลทหารคสช. ที่แม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่มนต์ขลังแห่งอำนาจก็เริ่มเสื่อมทรุดลงทุกขณะ

การเมืองหลังสงกรานต์นอกจากต้องจับตาประเด็นมหาชนอย่างเรื่องการบังคับห้ามนั่งท้ายรถกระบะและในแคปหลังคนขับที่จะกลับมาเป็นประเด็นร้อนแล้ว การเมืองภาพใหญ่ยังมีเรื่องต้องจับตาไม่แพ้กัน

หลังหมดเทศกาลแห่งความสุขกลับมาทำงานกันอีกครั้งตามกำหนด 18 เมษายน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งร่างกฎหมายลูกให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา โดยจะประเดิมส่งให้พิจารณา 2 ร่าง คือ ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง และร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ส่วนร่างกฎหมายลูกสำคัญที่ต้องใช้เพื่อจัดเลือกตั้งอีก 2 ฉบับคือร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ว. ยังไม่มีคิวว่าจะส่งให้ สนช.พิจารณาได้เมื่อไหร่

เข้าใจว่าน่าจะทอดเวลาเอาไว้พอสมควรเพราะเป็นที่ทราบกันว่าหลังรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้กระแสเรียกร้องให้คืนอำนาจประชาชนโดยการจัดเลือกตั้งมาแรงมาก และเป็นที่ทราบกันอีกเช่นกันว่าหากกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จทั้ง 4 ฉบับ กระแสเรียกร้องให้จัดเลือกตั้งจะยิ่งทวีความแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมจนกระทบต่ออำนาจมากเกินไปจึงมีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาตามกรอบที่มีให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ถ้าฟังจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สนช.) น่าจะยื้อไปจนถึงสิ้นปี 2560 และไปเริ่มผ่อนคลายกฎข้อห้ามต่างๆเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังปีใหม่ 2561 เท่ากับว่าใช้เวลาในการร่างกฎหมายลูกเต็มกรอบเวลาที่กำหนดไว้คือ 8 เดือน ไม่มีเร่งให้เร็วกว่านี้

หากเป็นไปตามกรอบเวลาที่ว่านี้หมายความว่าพรรคการเมืองต่างๆจะมีเวลาทำกิจกรรมประมาณ 5 เดือนก่อนการเลือกตั้ง

ตามกรอบเวลานี้พรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้วโดยเฉพาะพรรคใหญ่จึงได้เปรียบ และแทบจะปิดโอกาสสำหรับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาเป็นตัวแปร เป็นพรรคทางการเลือกที่สาม หรือว่าพรรครองรับการสืบทอดอำนาจ
แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้

พรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดภายในเงื่อนไขการกวาดต้อนเอาอดีตส.ส.มารวมตัวกันหากอยากประสบความสำเร็จในการเป็นพรรคทางเลือกที่สาม หรือพรรครองรับการสืบทอดอำนาจ

หากเป็นพรรคเกิดใหม่ไม่ใช้วิธีกวาดต้อนอดีตส.ส.มารวมตัวกันเฉพาะกิจ โอกาสแจ้งเกิดในสนามเลือกตั้งเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของกองทัพ เพราะประชาชนเข็ดขยาดกับการบริหารงานของรัฐบาลคสช.และการจะเข้าถึงหัวใจประชาชนในห้วงระยะเวลาสั้นๆก่อนหย่อนบัตรเป็นไปได้ยาก

ถ้าคิดจะสืบทอดอำนาจก็มีแค่ 2 ทางเลือกคือ

ตั้งพรรคใหม่แล้วกวาดต้อนอดีตส.ส.เข้าพรรคซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่ทำกันมาหลายครั้งหลังรัฐประหาร หรือไม่ก็เข้าไปเทคโอเวอร์กิจการพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่โดยใช้อำนาจสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเพื่อป้องกันการต่อต้าน จากนั้นก็นั่งรอเทียบเชิญให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญใหม่เขียนเปิดทางเอาไว้ให้แล้ว


You must be logged in to post a comment Login