วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สังคมแห่งความหวาดกลัว / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On April 17, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

อาจารย์ณฐพงศ์มองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันว่า ยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเข้มงวดและเข้มข้นภายใต้ข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง นำกฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 44 ถือเป็นการรุกคืบเชิงนโยบายทางการเมืองและการพัฒนาประเทศ เช่น เราพูดเรื่องประเทศไทย 4.0 อย่างติดปาก โดยไม่รู้ว่าในเชิงสาระเนื้อหาจริงๆคืออะไร ผมมองว่าวาทกรรมไทยแลนด์ 4.0 ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมขนาดใหญ่ โดยปัญหารากเหง้าเดิมของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม สิ่งแวดล้อม ไม่ได้รับการตอบสนองหรือแก้ไขมากนัก

การประชุมงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชนขององค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชนกว่า 10 องค์กรที่ผ่านมา เราเห็นตรงกันว่าวันนี้สังคมไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “สังคมแห่งความหวาดกลัว” จากการใช้อำนาจที่ไม่ปรกติ มาตรการและเครื่องมือทางกฎหมายควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงมากขึ้น การเสื่อมทรุดของระบบนิติธรรมและการหยุดยั้งความเป็นประชาธิปไตยที่อาจนำสังคมไทยไปสู่ความขัดแย้งที่จะรุนแรงและร้าวลึกมากขึ้น

ในภาพรวมเราอาจเห็นว่าวันนี้ดูสงบและเงียบ แต่ผมมองว่าเกิดจากการขึงและตรึงด้วยอำนาจและความกลัว ไม่ได้เกิดจากการจัดสรรดุลยภาพในเชิงอำนาจหรือการจัดสรรปันส่วนอย่างลงตัวทางสังคม อันนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่าน่าห่วงพอสมควร ขณะเดียวกันทำให้กลายเป็นสังคมแห่งความหวาดกลัว ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา วิกฤตความชอบธรรมต่อรัฐและกลไกรัฐในสายตาประชาชนอีกด้วย

ขณะที่การใช้กฎหมายพิเศษที่พร่ำเพรื่อและเลื่อนลอยคือสัญญาณความเสื่อมถอยของระบบอำนาจนิยม แต่ด้านหนึ่งก็เท่ากับว่าขอบฟ้าประชาธิปไตยอยู่ไกลสุดสายตา คือความเป็นประชาธิปไตยที่เราพยายามเรียกร้องหรือสังคมปรารถนานั้นวันนี้มันไกลออกไป การใช้มาตรา 44 เยอะมากในเกือบทุกเรื่อง ทุกประเด็นของสังคม ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆที่สามารถแก้ได้ด้วยกฎหมายปรกติทั่วไปที่มีประสิทธิภาพ จนเรื่องใหญ่ๆที่เกี่ยวพันกับสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย

อิสรภาพของคนที่เห็นต่างวันนี้แทบไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือมีการสร้างหลักประกันให้เชื่อมั่นว่าจะมีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็นที่ต่างได้ หรือจะได้รับการคุ้มครองปกป้องในฐานะประชาชนพลเมืองของสังคม

ถ้า คสช. เลื่อนการเลือกตั้งออกไป

สิ่งที่ผมห่วงคือ สถานการณ์ที่ดำรงและดำเนินอยู่ในปัจจุบันไม่มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลเลย คือระบบการตรวจสอบถ่วงดุลล้มเหลวเกือบสิ้นเชิง เดิมเรามีฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เป็นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล แต่วันนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เลย นิติรัฐเสื่อมทรุด ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิดจากอำนาจรัฐ กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน รูปธรรมหลายประการที่สะท้อนชัด เช่น สิทธิการให้ประกันตัว การปล่อยตัว การควบคุมผู้เห็นต่าง เป็นต้น ตรงนี้น่าห่วงมาก

เมื่อระบบตรวจสอบและถ่วงดุลล้มเหลว สิ่งเราเห็นและมีความหวังอยู่บ้างคือการตรวจสอบของพลังประชาชนและภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่ก็ถูกเบียดถูกผลักให้อยู่อีกฝั่ง หรือมองว่าเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคมค้านทุกเรื่อง เป็นพวกล้าหลัง ขัดขวางการพัฒนา แต่ผมมองว่าคนกลุ่มนี้คือความหวังของการลุกขึ้นมาตรวจสอบและถ่วงดุล

วันนี้เรามีโครงการพัฒนาจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ปัญหาเรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ถ้าเราพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าโครงการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เกี่ยวพันกับการปกป้องพื้นที่ทางอาหาร ความมั่นคงของชุมชน และการปกป้องฐานทรัพยากรทั้งสิ้น

แน่นอนว่าการดำเนินโครงการจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในระยะยาว จึงควรมีเวที มีพื้นที่ให้เกิดการพูดคุย แสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ของประชาชนในพื้นที่และสังคมโดยรวมด้วย หรือมีส่วนร่วมไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานของความเหมาะสมและยั่งยืนจริงๆ แต่วันนี้ไม่เกิด เราอาจมีส่วนร่วมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นแบบเทียมๆ วันนี้สิ่งที่ประชาชนหรือภาคประชาชนลุกขึ้นมาท่ามกลางการปิดล้อมด้วยความกลัวถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นมากๆ รัฐบาล คสช. ใช้กฎหมายพิเศษที่เลื่อนลอยมากขึ้น ยื้อเวลาออกไปไม่น่าจะเป็นผลดีทั้งต่อรัฐบาล คสช. รวมถึงสังคมไทย

แรงกดดันจากปัจจัยภายใน-ภายนอก

การผนึกประสานกำลังของภาคประชาชนที่จะร่วมกันผลักดันเคลื่อนไหว เรียกร้องให้สังคมไทยกลับเข้าร่องเข้ารอยความเป็นประชาธิปไตย หรือทำให้เป็นสังคมที่เห็นคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จุดที่ต้องจับตาให้มากนับจากนี้คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูป และการคืนประชาธิปไตย ซึ่งปัจจัยภายนอกอาจมีผลอยู่บ้าง แต่ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ชี้ขาดอะไร

สำหรับภาคประชาชนและภาคประชาสังคมคือความหวังที่หนักแน่นของสังคมที่จะประคับประคองและทำให้เปลี่ยนผ่านสังคมไทยสู่สังคมประชาธิปไตย เวลาเราพูดถึงเรื่องการปรองดองหรือสมานฉันท์ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้คนในสังคมสงบเงียบ นิ่งเฉย ยอมรับ หรือทำให้ผู้คนสูญสิ้นอิสรภาพ จำกัดสิทธิเสรีภาพ ควบคุมประชาชนทุกฝีก้าว แต่ต้องทำให้คนที่คิดต่างหรือเห็นต่างมีพื้นที่ มีเวทีที่จะพูด บอกถึงความปรารถนาและเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน หรือมีแรงจินตนาการบนศักดิ์ศรีและความยุติธรรม

การสร้างปรองดองของ คสช.

เราไม่สามารถทำให้คนเห็นเหมือนกันได้ สังคมที่ผู้คนเห็นเหมือนกัน คิดเหมือนกันหมด ผมว่าเป็นสังคมที่แปลกประหลาด การปรองดองฝ่ายเดียวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงเลื่อนลอย ความรักไม่ใช่อำนาจ ที่สำคัญคือต้องเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการประชาธิปไตย แต่วันนี้ประตูประชาธิปไตยถูกปิดและหดแคบลงไปเรื่อยๆ นั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่รัฐต้องทำคือ ต้องสร้างสังคมที่ทำให้ผู้คนตื่นตัวและตื่นรู้ ขจัดความหวาดกลัวออกไปให้ได้

ถามว่าทำอย่างไรที่จะสร้างให้เป็นสังคมแห่งการตื่นตัวและตื่นรู้ อย่างแรกคือต้องเร่งสร้างบรรยากาศทางสังคมและการเมืองให้เข้าสู่สภาวะปรกติ ด้วยการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคชุมชนและภาคประชาสังคม เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกในการชุมนุม การมีส่วนร่วม เป็นเสรีภาพที่ตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือหลักประชาธิปไตยที่อารยะสังคมปฏิบัติกัน ที่สำคัญจะต้องมีการยกเลิกการใช้มาตรา 44 ที่พร่ำเพรื่อ

โอกาสจะเห็นความสมานฉันท์

สถานการณ์บ้านเมืองในสภาวะปัจจุบัน การสร้างความปรองดองยังอยู่ไกล ปัญหาความขัดแย้งจะยังอยู่ในสังคมไทยต่อไป ยังคงถูกปิดทับไว้และรอวันปะทุ วันนี้เราเห็นประชาชนกลุ่มต่างๆลุกขึ้นมาเรียกร้องการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆของประเทศ แต่ไม่มีประเด็นไหนที่เกี่ยวกับการเมืองหรือเสื้อสี ตลอดจนการเมืองที่พูดถึงมายาคติแบบเดิม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องฐานทรัพยากร สิทธิชุมชน วิถีชีวิต และการมีชีวิตสาธารณะที่เป็นปรกติสุขทั้งนั้น เช่น ชาวบ้านรวมตัวกันในนามกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมลุกขึ้นมาเสนอการออก พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เรื่องโฉนดชุมชน ชาวบ้านที่ภาคใต้พูดเรื่องการจัดสรรทรัพยากร เรื่องสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่ารัฐบาลแบบไหนก็ต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานของประชาชน

ที่สำคัญคือปัญหาในระดับข้างล่างนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่รัฐต้องเข้าไปโอบอุ้ม ปกป้อง และคุ้มครอง หรือตอบสนองข้อเรียกร้อง อย่าพยายามผลักไสไล่ส่งประชาชนออกไป มันไม่ใช่บทบาท หน้าที่ของรัฐและกลไกรัฐ

อีกนานแค่ไหนจะเห็นประชาธิปไตย

วันนี้ถ้าเรายังเชื่อหรือคาดหวังการเปลี่ยนผ่านเชิงคุณภาพของสังคมไทยไปสู่การมีสันติ ความมั่นคง หรือความยั่งยืนในระยะยาว เราต้องให้คุณค่าความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม ไม่มีประตูบานอื่นที่เดินไปสู่ความสมานฉันท์และปรองดองเท่าประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นการที่ผู้คนในสังคมวันนี้ออกมาพูด ส่งเสียง ไม่ได้บอกว่าขัดขวาง แต่คือความพยายามทำหน้าที่ในฐานะประชาชนพลเมืองที่จะประคับประคองสังคมไทยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมที่เราปรารถนาร่วมกัน ซึ่งต้องผนึกผสานกำลัง ร่วมมือผลักดันและค้ำจุนไว้ให้มั่นคง

บทบาทคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

ในแง่ตัวบุคคลก็มีความหวังบ้าง หลายท่านพยายามพูด พยายามส่งเสียง เช่น คุณอังคณา นีละไพจิตร ออกมาพูดให้หยุดคุกคาม หรือคุ้มครองนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนที่ถูกลิดรอนสิทธิลงไปเรื่อยๆ หรือคุณเตือนใจ ดีเทศน์ พยายามดูเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยในสังคม ทว่าในเชิงองค์กรหรือสถาบันนั้นยังไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นหรือมั่นใจให้กับสังคมมากพอว่าจะเป็นองค์กรที่นำไปสู่การปกป้องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยได้

เรายังไม่พูดถึงบทบาทที่หากมีในเชิงสถาบันแล้วจะมีพลังทำให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญมากน้อยขนาดไหน วันนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในเชิงสถาบันและองค์กรมากกว่าความคิดเห็นหรือทรรศนะเชิงปัจเจกหรือตัวบุคคล ผมถึงบอกในตอนต้นว่า ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลวันนี้สำคัญมาก ถามว่า กสม. เหมือนเสือกระดาษหรือเป็นยักษ์ไม่มีกระบอง ผมว่าประมาณนี้ จะทำอย่างไรให้รายงานของ กสม. มีผลในทางปฏิบัติ เป็นโจทย์ใหญ่มากๆ

วันนี้ปัญหารากหญ้า ปัญหาประชาชน ปัญหาปากท้องสำคัญมาก ดูเหมือนว่าปัญหาชาวบ้าน ปัญหารากหญ้าไม่ได้รับการแก้ไข แทบจะถูกกลืนหายไป ในขณะที่การเรียกร้อง พ.ร.บ.ที่ดิน ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน ไม่ได้รับการตอบสนอง แต่พอ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ดูเหมือนว่า สนช. พยายามเร่งผลักดัน ปัญหาพื้นฐานถูกละเลยหรือให้ความสำคัญน้อยจนเกินไป จึงมีแนวโน้มว่าการละเมิดสิทธิ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจมีมากขึ้น ยิ่งวันนี้มีกลไกการควบคุมมากมาย ทั้งที่เป็นกลไกแบบภายใต้กฎหมาย เช่น มาตรา 44 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่จำกัดการตรวจสอบของสังคม ผมยังไม่พูดถึงมาตรการที่เรามองไม่เห็นที่ทำให้ผู้คนในสังคมนี้เกิดความหวาดวิตก กังวล หรือหวาดกลัว เช่น การข่มขู่ คุกคาม

อย่างกรณีนายชัยภูมิ ป่าแส หรือ “จะอุ๊” ที่ถูกวิสามัญ ผมคิดว่ากระบวนการตามกฎหมายวันนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่านายชัยภูมิถูกหรือผิด แต่เราต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าคือผู้บริสุทธิ์ กฎหมายมีหลักอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องสิทธิการมีชีวิตต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ต้องทำให้ความจริงปรากฏให้สังคมมั่นใจและไม่เคลือบแคลงสงสัย เพราะเราไม่รู้ว่าผู้คน หรือนักสิทธิมนุษยชน หรือผู้คนในสังคมที่เห็นต่างไปจากรัฐ จะโดนหรือเผชิญกับอะไรบ้าง

นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมและกระบวนการยุติธรรมที่ดูเหมือนว่าวันนี้จะฝากผีฝากไข้ได้ยากอยู่เหมือนกัน สิ่งที่รัฐบาลและ คสช. ควรทำมากที่สุดคือ เร่งคืนบรรยากาศสังคมการเมืองให้เข้าสู่สภาวะปรกติและความเป็นประชาธิปไตยให้กับสังคม รวมทั้งทำให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เปิดพื้นที่ให้เขาได้ผนึกประสานกำลังกันเพื่อเรียกร้องหรือผลักดันหรือทำให้เข้าสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย ถ้าทำอย่างนี้ได้เราก็ยังพอจะมีความหวังในการประคับประคองให้สังคมไทยเดินไปได้


You must be logged in to post a comment Login