- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
รัฐซ้อนรัฐ? / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
ตามหลักเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ต้องหมดสถานะการบังคับใช้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับมีบทบัญญัติในมาตรา 265 วรรคสอง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถใช้มาตรา 44 ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนเดิมว่า “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปัจจุบันและชอบด้วยกฎหมาย เเละมีผลบังคับใช้ต่อไป”
รัฐซ้อนรัฐ-อำนาจซ้อนอำนาจ
หมายความว่ามาตรา 44 ยังมีอำนาจมากล้นจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้อำนาจต่างๆทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต แม้จะขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ก็ถือว่าถูกต้องชอบธรรม และผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำนั้นก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องทั้งในทางเเพ่ง ทางอาญา หรือแม้แต่ทางปกครอง
ดังนั้น การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย 100% แต่จะยังมีสภาพ “รัฐซ้อนรัฐ” หรือ “อำนาจซ้อนอำนาจ” จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน เพราะแม้แต่การเลือกตั้งก็ยังกำหนดชัดเจนไม่ได้ว่าจะเป็นปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะมีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบการเลือกตั้งที่ไม่ได้ให้เป็นไปตามหลักสากล แต่สลับซับซ้อนตามระบบที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” คือให้ประชาชนใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่จะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ทำให้มีการตั้งฉายาการเลือกตั้งนี้ว่า “ระบอบไฮบริด (ลูกผสม)” หรือ “เผด็จการแฝงรูป” เป้าหมายก็เพื่อไม่ให้ 2 พรรคใหญ่คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมากและมีอำนาจอย่างในอดีต แต่จะทำให้พรรคขนาดกลางได้ ส.ส. มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้รัฐบาลผสมและนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งในบทเฉพาะกาล 5 ปี ยังกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คนมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และกำหนดให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมดเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง (อ่านเพิ่มเติม ถนนประชาธิปไตย หน้า 9) หมายความว่า ฝ่ายอำนาจนิยมจะมีเสียงจาก ส.ว. ที่ประดุจพรรคการเมืองใหญ่ที่มีถึง 250 เสียงตุนเอาไว้เรียบร้อยโรงเรียน คสช.
สรุปจำนวนเสียงรัฐสภาในอนาคต นอกจาก ส.ส. ที่จะมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน รวมเป็น 500 คนแล้ว จะมี ส.ว.ลากตั้งอีก 250 คน รวมเบ็ดเสร็จ 750 คน นั่นหมายความว่าเสียงกึ่งหนึ่งคือจำนวน 375 เสียง ซึ่งก็คือเป้าหมายหืดขึ้นคอที่พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง “ฝันกลางวัน” เอาไว้
รัฐธรรมนูญในห้องปิดตาย
นายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ให้สัมภาษณ์จอม เพชรประดับ (Thai Voice) เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่า เปลี่ยนไปจากร่างรัฐธรรมนูญที่นำไปออกเสียงประชามติคือ ไม่ได้มี 279 มาตรา แต่บวกมาตรา 44 เข้าไปด้วย ทำให้เรามีระบบรัฐธรรมนูญไปพร้อมกันอีก 1 ระบบคือ ระบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และระบบมาตรา 44 ซึ่งอันหลังใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญในห้องปิดตาย สร้างกลไกปิดล้อมองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งไว้ ตั้งแต่ที่มาขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งถูกบอนไซด้วยระบบเลือกตั้งและที่มาของ ส.ว. การดำเนินการขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งถูกบังคับให้เดินตาม “พินัยกรรม” ของ คสช. การสร้างองค์กรตรวจสอบ ปลด ถอดถอน ลบล้างสิ่งที่องค์กรจากการเลือกตั้งทำ และเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถแก้ได้จริงในทางปฏิบัติ
ข้อเสนอที่ฝ่ายประชาชนควรจะเริ่มทดลองทำได้แก่ ทดลองใช้กลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และร่วมกันรณรงค์เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ตอนนี้ทันทีโดยใช้กลไกในรัฐธรรมนูญนี้ แน่นอนว่าข้อเสนอเหล่านี้ประสบความสำเร็จยาก เพราะระบบที่รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบไว้ได้ปิดล้อมเอาไว้หมด แต่นี่คือการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นสนามในการต่อสู้ทางความคิด ต่อสู้ทางการเมือง เพื่อขยับเรื่องประชาธิปไตย
ใช้ 50,000 ชื่อแก้รัฐธรรมนูญ
นายธีระ สุธีวรางกูร นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า คนจำนวนไม่น้อยรู้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เอาอย่างนี้ไหมครับ…เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วเราจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนแล้วเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
“เนื้อหาที่จะแก้ไขอย่างน้อยก็ขอยกเลิกมาตรา 44 ที่แปลงรูปไปอยู่ในมาตรา 279 เสียก่อน ถ้าท่านโอเค พวกผมจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้…ท่านจะเอาไหมครับ”
นอกจากนี้นายธีระยังกล่าวถึงนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่บอกว่าไม่มีใครติดใจกับการคงมาตรา 44 เอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรู้ว่าหัวหน้า คสช. นำไปใช้ในทางที่สร้างสรรค์ ผมขอยกเพียงตัวอย่างเดียวเผื่อว่าท่านอาจจะยังไม่รู้
เมื่อไม่นานนี้เองสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ปรากฏว่าการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ถูกตำหนิอย่างมากว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ข้าราชการตำรวจหลายนายก็ฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งและขอให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วย ศาลก็รับฟ้องและพิจารณาคดีไปตามปรกติ
ปรากฏว่าไม่รู้มีนักเลงดีที่ไหนไปบอกหัวหน้า คสช. ให้ช่วยใช้มาตรา 44 รับรองให้การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหน่อย ไม่งั้นเดี๋ยวจะซวยกันหมด หัวหน้า คสช. เลยออกคำสั่งรับรองให้การแต่งตั้งโยกย้ายคราวนี้ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองเมื่อเห็นว่าหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งบอกว่าเรื่องนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งศาลต้นและศาลสูงจึงสั่งจำหน่ายคดีพวกนี้ออกจากสารบบความ ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป ข้าราชการตำรวจที่ฟ้องคดีขอความเป็นธรรมจากศาลจึงหมดโอกาสที่จะได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งค่าเสียหาย คนที่แต่งตั้งโยกย้ายก็พ้นจากความรับผิดโดยปริยาย เพราะการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. แบบนี้หรือครับที่ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศเรียกว่าการใช้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวในงานเสวนาวิชาการ “ทิศทางประเทศไทยภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยเชื่อว่าภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 1 ปีนับจากนี้ ประชาชนจะยังไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ การกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ กระบวนการปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด การมีส่วนร่วมต่อการกำหนดการเลือกตั้ง แม้ประชาชนจะมีสิทธิช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เท่ากับเป็นการ “เซ็นเช็คเปล่า” ให้กับคนที่ออกกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับแล้ว แต่ประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่มีเกือบ 200 ฉบับ อาทิ การให้คดีการเมืองของพลเรือนขึ้นศาลทหาร ให้อำนาจทหารควบคุมตัวได้ 7 วัน ให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ยังคงใช้บังคับต่อไป จึงถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีความหวังต่อประชาชนเลย ยกเว้นใน 2 ประเด็นคือ สิทธิเสนอร่างกฎหมาย และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ยกเลิกอำนาจพิเศษเลือกตั้งเร็วที่สุด
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการประกาศใช้แล้ว แต่อำนาจของ คสช. ยังคงอยู่ต่อไป และยังมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกด้วย เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุว่า แม้ประกาศและคำสั่งของหัวหน้า คสช. จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ถือว่าประกาศและคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย
เหตุดังกล่าวจึงทำให้นักวิชาการ ภาคประชาชน และพรรคการเมือง ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 44 หรือไม่ใช้พร่ำเพรื่อตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” ควรใช้เท่าที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศและแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปรกติได้ทันที หากเนิ่นช้าออกไปจะเกิดความเสียหาย
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ให้รัฐบาลทหารและ คสช. เร่งจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดตามกรอบระยะเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศย้ำมาตลอดทั้งในประเทศและเวทีโลกว่าจะมีการเลือกตั้งต้นปี 2561 และช่วง 5 เดือนเศษที่ผ่านมาก็มีการเตรียมการร่างกฎหมายลูกมาแล้วระดับหนึ่ง
2.ไม่สมควรใช้ “อำนาจพิเศษ” ใดๆที่อ้างว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” โดยไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะเป็นการไม่เคารพในพระราชอำนาจ และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ รวมทั้งควรพิจารณายกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆของ คสช. และหัวหน้า คสช. ที่ไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ
3.รัฐบาลและ คสช. ควรสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยเพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้ง และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ด้วยการยึดมั่นและผลักดันให้องค์กรของรัฐทุกองค์กรยึดหลักนิติธรรมในการดำเนินงานโดยปราศจากอคติอย่างเคร่งครัด ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทั้งต้องเปิดกว้างให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลและองค์กรต่างๆของรัฐอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและแบบอย่างที่ดี อันจะเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่ถือเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
แม้แต่นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรมได้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คาดว่า คสช. จะพิจารณาเร็วๆนี้ เพราะต้องรอกฎหมายลูก ส่วนจะปลดล็อกหรือไม่นั้นเป็นอำนาจ คสช. เชื่อว่าจะไม่กระทบพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองมีการเตรียมตัวเช่นเดียวกับ กกต. ที่ต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน เนื่องจากยังมีเวลาหลังกฎหมายลูกเสร็จ สนช. ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
ประชาธิปไตยเสี้ยวใบ
สำนักข่าวบีบีซีไทยได้วิเคราะห์การเมืองไทยหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งอ่อนแอ โดยมีคำถามว่า คณะรัฐประหารต้องการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ปัญหาอะไร ซึ่งมี 2 ประเด็นที่รัฐบาลและผู้สนับสนุนหยิบมาอ้างบ่อยคือ แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ 279 มาตราในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดูเหมือนเป้าหมายหลักคือบอนไซนักการเมืองและพรรคการเมือง โดยระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนนั้น ประชาชนกาบัตรเลือกผู้สมัคร ส.ส. 1 คน จากทั้งหมด 350 เขต จากนั้นจะนำคะแนนที่นับได้ไปคำนวณหาสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อีก 150 ที่นั่ง ทำให้มีแนวโน้มว่าพรรคการเมืองขนาดกลางจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น แต่พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้ ส.ส. ลดลง อย่างพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งนับตั้งแต่ปี 2544 เท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรทางการเมืองโดยปริยาย ระบบการเลือกตั้งใหม่จึงมีแนวโน้มจะได้รัฐบาลผสมที่มาจากหลายกลุ่มการเมืองเช่นในช่วงปี 2533
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังกำหนดว่า ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งซึ่งจะมีอำนาจอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อย 5 ปีตามบทเฉพาะกาลนั้น ทำให้ทหารจะยังมีอำนาจครอบงำรัฐบาลในอนาคต เพราะต้องได้ 3 ใน 4 หรือได้ ส.ส. มากถึง 375 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรจึงจะมีเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภา
นอกจากนี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องยึดแนวทางบริหารประเทศตามโรดแม็พ 20 ปีที่ถูกวางไว้แล้ว และง่ายต่อองค์กรที่เป็นอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีอำนาจมากขึ้นในการควบคุมการทำงานของรัฐบาลในขอบเขตที่กว้างกว่าเดิม รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเปรียบเหมือนเครื่องพันธนาการรัฐบาลใดก็ตามที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดระบอบการเมืองแบบลูกผสมซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยเสี้ยวใบ จึงเชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ไขความแตกแยกทางการเมืองที่ร้าวลึกในสังคมไทยได้
นายไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีผลงานเกี่ยวกับประเทศไทยในหลายประเด็น วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ทำให้ทหารมีที่ยืนอย่างถาวรในรัฐบาล และทำให้การแทรกแซงกลายเป็นเรื่องปรกติ ซึ่งตั้งแต่ต้นจนจบรัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นโดยบุคคลในวงจำกัด การถกเถียงที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดและการปรับแก้ในนาทีสุดท้าย จึงน่าวิตกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะทำให้เกิดการสถาปนา “ลัทธิอำนาจนิยม” แทนที่จะปูทางไปสู่ประชาธิปไตย
ความกังวลดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิจารณ์ซ้ำโดยนักวิชาการหลายคน รวมถึงนักการเมืองไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ก็มีน้ำหนักไม่มากนักสำหรับรัฐบาลทหาร ซึ่งได้พูดมาแล้วหลายครั้งว่าให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบากมากกว่าหลักการของระบอบประชาธิปไตย และที่สำคัญแม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ กองทัพก็ยังจะมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตอย่างน้อยอีก 1 ทศวรรษ
สิ่งที่พรรคการเมืองต้องกล้าทำ
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทบไม่มีความหมายเลยหากรัฐบาลทหารและ คสช. ยังใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์อย่างที่ผ่านมา แม้จะอ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง แต่ยิ่งจะทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และตีความการใช้อำนาจว่าเหมาะสมหรือไม่
และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หมายถึงแค่การรอคอย “พิธีกรรมเลือกตั้ง” จากคณะรัฐประหาร ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ประชาชนยังจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจมาตรา 44 ที่รัฐบาลทหารและ คสช. สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงเชื่อได้ว่าแม้จะมีการเลือกตั้งก็จะได้รัฐบาลที่อัปลักษณ์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งยังต้องทนอยู่กันแบบสงบแต่เงียบสงัดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติอีก 20 ปี
ดังนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยของประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงจึงต้องเริ่มต้นด้วยการหาวิธีที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยให้ได้คือ เมื่อมีการเลือกตั้งก็ให้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน แล้วเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยคือยกเลิกมาตรา 44 ที่แปลงรูปไปอยู่ในมาตรา 279 เป็นอันดับแรก และแก้ไขกติกาต่างๆทางการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยแบบสากล
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เคยชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลที่ถูกกระทำรัฐประหารต้องกล้าประกาศจุดยืนเป็นนโยบายของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าว่า หากได้เสียงข้างมากเกินกว่า 375 เสียง จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยทันที แม้จะเป็นเรื่องที่ยากมากเพียงใดก็ตามก็ต้องประกาศว่าจะทำเป็นสิ่งแรกๆ ไม่ใช่รอๆรีๆเหมือนเช่นในอดีต กล่าวคือ “ให้ตีเหล็กเมื่อยังร้อนๆ” ทำกันอย่างเปิดเผยสง่างามในสภาตอนกลางวันแสกๆ (อย่าไปใช้วิธีสอดไส้ ลักหลับกลางสภาค่ำมืดดึกดื่น จนเป็นข้ออ้างให้กองทัพฉวยโอกาสทำรัฐประหารได้อีก) เมื่อแก้ไขเสร็จสิ้นก็ยุบสภาทันทีเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนกลับไปเลือกตั้งในกติกามารยาทตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยกันใหม่
หรืออีกทางเลือกที่ยากเย็นแสนเข็ญไม่แพ้กัน แต่เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองที่มีหัวใจประชาธิปไตยได้ก็คือ การที่ 2 พรรคใหญ่คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์กล้าที่จะจับมือกันทำสัญญาประชาคม ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกันหากได้เสียงรวมกันเกิน 375 เสียง (ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าที่พรรคหนึ่งพรรคใดจะได้คะแนนเกิน 375 เสียง) เพื่อแสดงให้เห็นว่าพร้อมจะปลดล็อก “อำนาจเผด็จการ” และเร่งคืนประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุด
ความหวัง “ลมๆแล้งๆ” ที่จะเห็น “นักการเมือง” ที่มาจากการเลือกตั้งจะสร้างประชาธิปไตยด้วยการประกาศเจตนารมณ์เพื่อล้ม “อำนาจพิสดาร” ที่กลายเป็นการรัฐประหารถาวรแฝงตัวในรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นความหวังที่น้อยนิด แต่ก็ยังดีกว่าการตั้งความหวังที่จะได้ประชาธิปไตยจาก “นักการเมือง” ที่มาจาก “การทำรัฐประหาร” เพราะไม่มีทางเป็นไปได้เลย
เรามิอาจเห็น “งาช้าง” งอกจากปาก “สุนัข” ได้ฉันใด ก็อย่าได้หวังว่าจะได้เห็น “ประชาธิปไตย” งอกงามได้จาก “เผด็จการ”!!
You must be logged in to post a comment Login