วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ประเด็นร้อน‘สหรัฐ-โสมแดง’

On April 17, 2017

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ เป็นเหตุการณ์ที่ต้อง “อัปเดต” ความคืบหน้าเป็นรายวันหรือรายชั่วโมง เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่ยากจะคาดเดา

ประเด็นที่สื่อส่วนใหญ่นำเสนอ คล้ายคู่กรณีจะเปิดฉากประลองพลังกันในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเอเชียบูรพา หรือดุเดือดถึงขั้นเพิ่มระดับเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3

เงื่อนไขชัดเจนที่สุด ที่สหรัฐชูเป็นทางเลือกให้เกาหลีเหนือ คือต้องหยุดทดลองขีปนาวุธ ที่ถือเป็นการยั่วยุ และยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

หากเมินคำเตือน สหรัฐจะโจมตี “สั่งสอน” แน่นอน ส่วนจะลงมือเมื่อไร ไม่มีการระบุ

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้มีการเฝ้าติดตามการแสดงแสนยานุภาพกองทัพ ในวันคล้ายวันเกิดนายคิม อิลซุง ผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ประธานาธิบดีคิม จองอึน ผู้นำคนปัจจุบัน เมื่อวันเสาร์ที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา

คาดกันว่า ผู้นำโสมแดงจะทดลองขีปนาวุธ อวดศักยภาพในวันดังกล่าว แต่พิธีสำคัญประจำปีผ่านไป โดยไม่มี “กิจกรรม” ที่คาดกัน

มา “แอบ” ทดลองในวันถัดมา แต่ผลปรากฏว่า “แป๊ก” ขีปนาวุธไม่พุ่งทะยานดั่งที่ตั้งใจไว้

ขณะสหรัฐนิ่ง ไม่เปิดฉากโจมตี แต่ความตึงเครียดที่เคลื่อนไหวควบคู่กับความไม่แน่นอน ยังคงคุกรุ่นเรื่อยมา

ด้านนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ประเด็นร้อนที่มีการรายงานอย่างเกาะติด เป็นเพียงการจุดประกายเรียกความสนใจของสื่อ เป็นการนำเสนอตามสูตร “ใส่สีตีไข่” ทำให้สถานการณ์ชวนหวาดหวั่นเกินความจริง

นักวิเคราะห์เชื่อว่า จีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของเกาหลีเหนือ คงพยายามทุกวิถีทางไม่ให้สหรัฐโจมตีโสมแดง โดยจีนมีจุดประสงค์ด้านการรักษาผลประโยชน์ของตน

เพราะหากปล่อยให้สหรัฐโจมตีเกาหลีเหนือ ผลที่ตามมาคือ จีนต้องรับภาระผู้อพยพหนีภัยจากเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจเป็นจำนวนนับล้านคน ทำให้เศรษฐกิจของจีนที่ซบเซาอยู่แล้ว ต้องทรุดหนักลงไปอีก

นอกจากนั้น จีนยังจะเสีย “กำแพง” ป้องกันประเทศด้วย เนื่องจากจีนอาศัยเกาหลีเหนือเป็น “เขตกันชน” กับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

อีกหนึ่งประเด็นที่แฝงมากับความตึงเครียด ซึ่งมีสื่อไม่กี่สำนักที่นำเสนอ โดยมองกันว่า สหรัฐรวมทั้งสื่อสายอนุรักษ์นิยมในเกาหลีใต้และสหรัฐ “จุดพลุ” เรื่องนี้ขึ้นมา หวังกระตุ้นคะแนนนิยมให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ดำเนินนโยบายอนุรักษ์นิยม คว้าชัยในวันเลือกตั้ง 9 พฤษภาคม นี้

สหรัฐเคยมีบทเรียน ที่เกาหลีใต้ภายใต้การบริหารของผู้นำสายเสรีนิยม ตีตัวออกห่าง ตรงกันข้ามกับผู้นำอนุรักษ์นิยม ที่เออออไม่มีขัดใจสหรัฐ

แง่มุมที่ระบุทั้งหมด มีพลังขับเคลื่อนแตกต่างกัน แต่เป็นไปได้ว่า ประเด็นการเกิดสงคราม มีพลังดึงดูดความสนใจมากที่สุด


You must be logged in to post a comment Login