วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

‘ตุรกี’ปฏิวัติการเมืองครั้งใหญ่

On April 18, 2017

ตุรกีสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่สถาปนาประเทศเป็นชาติยุคใหม่ ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐมา 93 ปี เริ่มจากปี ค.ศ.1923

การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองระดับปฏิวัติครั้งนี้ ได้แก่ การจัดลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนหลักการปกครองประเทศ จากระบบรัฐสภาเป็นระบบประธานาธิบดี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา

ผลการลงคะแนนของประชาชน ซึ่งมีผู้ไปใช้สิทธิ 85.32% ปรากฏว่า ขั้วรัฐบาลนำโดยประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ที่เป็นฝ่ายเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ ชนะแบบฉิวเฉียด

โดยคะแนนเห็นด้วยมีประมาณ 25,156,900 เสียง คิดเป็น 51.41% และคัดค้าน 23,777,100 เสียง คิดเป็น 48.59% หลังนับคะแนนผ่านไป 99.97%

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ หลังแก้ไขตามผลการลงประชามติ ประกอบด้วยการให้สิทธิประชาชนเลือกประธานาธิบดีโดยตรง

ประธานาธิบดีเป็นผู้นำบริหารประเทศ มีวาระ 5 ปี โดยบุคคลเดียวกันสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ 2 วาระ ขณะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ ไม่มีอำนาจด้านการบริหาร

ให้ยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งรองประธานาธิบดีไม่เกิน 3 คน ทำหน้าที่แทน

ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งรัฐมนตรี ยุบสภา แต่งตั้งคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา 5 คน จากทั้งหมด 13 คน อนุมัติงบประมาณ ออกกฤษฎีกา และอนุมัติประกาศภาวะฉุกเฉิน

แอร์โดอันและพรรคพวก ให้เหตุผลที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญว่า เพื่อความสะดวกคล่องตัวในการขับเคลื่อนประเทศ แก้ปัญหาความแตกแยกภายในประเทศ ปัญหาขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยที่ยืดเยื้อมากว่า 30 ปี และปัญหากลุ่มก่อการร้าย

ขั้วของแอร์โดอันมองว่า การให้อำนาจรัฐสภาพิจารณาเรื่องสำคัญอย่างในปัจจุบัน เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากติดขัด ทำให้การพัฒนาประเทศสะดุดจมอยู่กับความล้าหลัง

สำหรับผลลงประชามติ คณะกรรมการเลือกตั้งจะรับรองภายใน 11-12 วัน และในเบื้องต้น กำหนดเลือกตั้งประธานาธิบดี รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ วันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 แต่คาดกันว่า น่าจะมีการเลือกตั้งเร็วกว่าที่กำหนดไว้

ด้านฝ่ายค้านไม่ยอมรับผลลงประชามติ และได้ยื่นคำร้องให้นับคะแนนใหม่ ในส่วนที่ต้องสงสัยว่ามีการโกง ประมาณ 60% ของคะแนนทั้งหมด

นอกจากนั้น ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญยังวิตกว่า การรวบอำนาจไว้กับประธานาธิบดีเพียงคนเดียว

ถือเป็นอาญาสิทธิ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะเสี่ยงเกิดเผด็จการตามรัฐธรรมนูญ   


You must be logged in to post a comment Login