วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คลุมเครือแต่ชัดเจน

On April 20, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การทวงถามกรณี “หมุดคณะราษฎร” หรือชื่ออย่างเป็นทางการเรียกว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ที่หายไปแล้วมีหมุดใหม่มาฝังเอาไว้แทนในที่เดิม แม้ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ

แต่จริงๆแล้วในทุกคำตอบที่ไม่ชัดเจนคลุมเครือ ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ตอบแบบปัดสวะให้พ้นตัว ตอบแบบขอไปที ล้วนแล้วแต่เป็นคำตอบที่ทำให้สังคมมองเห็นข้อเท็จจริง

ข้อเท็จจริงจากคำตอบของนายตำรวจใหญ่บางคนที่ว่าไม่สามารถแจ้งความได้ เพราะไม่รู้ว่า “หมุดคณะราษฎร” หรือ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” นั้นเป็นของใคร เท่ากับว่าไม่มีเจ้าทุกข์ คนที่ไม่ใช่เจ้าของไม่มีสิทธิ์แจ้งความของหาย แต่ภายหลังตั้งหลักได้เปิดให้แจ้งความในฐานะพลเมืองดีได้

ข้อเท็จจริงจากคำตอบที่ว่า“หมุดคณะราษฎร” หรือ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” แม้จะมีมานานหลายสิบปี และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทยมากมาย แต่ไม่ถือว่าเป็นวัตถุโบราณ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์เป็นวัตถุโบราณตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

แม้พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ. 2479 แต่ไม่ถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น

เมื่อไม่ใช่วัตถุโบราณ จึงไม่ใช่หน้าที่ของกรมศิลปากรที่ต้องไปเดือดร้อนติดตามทวงคืน

ข้อเท็จจริงจากคำตอบของผู้มีอำนาจบางคนที่ว่าไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้ความสนใจเพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องปากท้องของประชาชน

ข้อเท็จจริงจากคำตอบที่ว่ากล้องวงจรปิด 11 ตัวโดยรอบบริเวณที่ติดตั้งเอาไว้เกิดถูกถอดออกไปกะทันหันในช่วงที่มีการเปลี่ยนเอาหมุดอันใหม่มาใส่ไว้แทน โดยให้เหตุผลว่าที่ต้องถอดกล้องวงจรปิดออกเพราะมีการปรับปรุงสัญญาณไฟจราจรในบริเวณดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกล้องวงจรปิดผูกติดสัญญาณไฟกับระบบไฟจราจร เมื่อปรับปรุงสัญญาณไฟจราจรกล้องจึงไม่สามารถใช้งานได้

ข้อเท็จจริงจากกรณีตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู้ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า หมุดคณะราษฎรที่ติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นโบราณวัตถุ ให้คนไทยเรียกร้องทวงคืน ซึ่งเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจผิด ออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งอาจเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นด้วย โดยจะออกหมายเรียกให้นายวัฒนามารับทราบข้อกล่าวหาในเร็วๆนี้

ข้อเท็จจริงจากท่าทีที่เปลี่ยนไปของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวเข้าค่ายทหารขณะไปยื่นเรื่องร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีให้นำหมุดคณะราษฎรกลับมาไว้ที่เดิม เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา

หลังถูกปล่อยตัวออกจากค่ายทหารนายศรีสุวรรณจะหยุดเคลื่อนไหวทวงถามเรื่องหมุดคณะราษฎร โดยให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้ได้ส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตามหาแล้ว และยังได้ถูกเจ้าหน้าที่ขอร้องให้หยุดเนื่องจากเห็นว่ามีบางกลุ่มนำเรื่องนี้ไปขยายผลเคลื่นไหวทางการเมือง

หรือจะเป็นข้อเท็จจริงจากถ้อยแถลงของ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เรียกร้องให้สร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเป็นหลักมากว่าจะมาจุดประเด็นเรื่องทวงคืนหมุดคณะราษฎร

แม้ทุกคำตอบ ทุกท่าที ทุกความเคลื่อนไหว จะเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ปัดสวะ ตอบแบบขอไปที ไม่ให้ความชัดเจนว่าหมุดคณะราษฎรหายไปไหน หายไปได้อย่างไร ใครเป็นคนเอาไป ใครเป็นคนเอาของใหม่มาติดไว้แทน

แต่ในทุกความคลุมเครือ ทุกท่าทีที่ฝ่ายรัฐแสดงออก กลับมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่ในตัวที่ประชาชนพอจะเข้าใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร


You must be logged in to post a comment Login