วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คำสั่งศาลโล่กำบังเหยื่อความรุนแรง / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์

On April 24, 2017

คอลัมน์ : China Today
ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์

ฝันร้ายของนายฝู เหลียน กำลังจะยุติลงหลังจากที่ทางศาลท้องถิ่นได้ออกคำสั่งจับกุมตัวลูกสะใภ้ของเขาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งป้องกันที่ออกโดยศาล

คำสั่งป้องกันที่นายฝูร้องข้อต่อศาลหลังจากที่เขาถูกลูกสะใภ้ทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่องจนบาดเจ็บ

คำสั่งป้องกันส่วนบุคคลกำลังกลายเป็นอาวุธสำคัญของบรรดาเหยื่อจากคดีความรุนแรงในครอบครัวและเป็นสิ่งสำคัญของทางศาลและทางการใจการต่อกรกับปัญหาอาชญากรรมของความรุนแรงในครอบครัว

ซึ่งคำสั่งป้องกันส่วนบุคคลนี้เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมานี้เอง

กฎหมายใหม่นี้กำลังกลายเป็นสิ่งท้าทายต่อความเชื่อที่หยั่งรากลึกของวัฒนธรรมจีนที่มองว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรนำไปเปิดเผยต่อสาธารณชน แจ้งความต่อตำรวจหรือแม้กระทั่งฟ้องร้องต่อศาล

นายฝู อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบทอันห่างไกลแห่งหนึ่งของเมืองหัวฉื่อ มณฑลกันซู ภรรยาของลูกชายคนเล็กของนายฝูมักจะทำร้ายทุบตีเขาอยู่เสมอ เนื่องมาจากการทะเลาะกันในครอบครัวและปัญหาเรื่องที่ดินของเขา

ตลอดเวลาที่นายฝูโดนทำร้าย เขาไม่เคยปริปากบอกใคร นอกจากญาติสนิทเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ชายชราเปลี่ยนใจและหันมาร้องขอคำสั่งป้องกันส่วนบุคคลต่อศาลนั้นเกิดจาก เขาถูกลูกสะใภ้ทำร้ายจนเข้าโรงพยาบาล

ตง เฟิงหลิง หัวหน้าสมาคมสตรีแห่งหัวฉื่อเปิดเผยว่า หลังจากที่ทางการประกาศใช้กฎหมายใหม่ตัวนี้ออกมาใหม่ๆ พวกลูกสะใภ้คนนี้ก็ดูจะระวังพฤติกรรมมากขึ้น จนต่อมาเธอรู้สึกว่า กฎหมายใหม่นี้ก็เป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น เธอจึงหันกลับมาทำร้ายพ่อสามีอีกครั้ง และทำรุนแรงจนพ่อสามีกระดูกหักต้องเข้าโรงพยาบาลเลยทีเดียว

หลังจากที่หญิงรายนี้ขัดคำสั่งศาลถึง 7 ครั้ง ศาลจึงมีคำสั่งควบคุมตัวหญิงรายนี้ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

กฎหมายป้องกันความรุนแรงในครอบครัวฉบับนี้ อนุญาตให้เหยื่อที่ถูกสมาชิกในครอบครัวทำร้ายร่างกาย สามารถร้องขอคำสั่งศาลป้องกันตนเองได้ที่ศาลท้องถิ่น ซึ่งตามปกติศาลจะวินิจฉัยว่าจะอนุญาตหรือไม่ภายใน 72 ชั่วโมง หรือหากเป็นกรณีเร่งด่วนหรืออันตรายต่อชีวิต ศาลจะสามารถออกคำสั่งป้องกันได้ภายใน 24 ชั่วโมง

คำสั่งป้องกันตนเองนี้ ผู้ทารุณหรือผู้ก่อความรุนแรงจำเป็นต้องหยุดการกระทำนั้นทันที ศาลอาจจะมีคำสั่งให้ยุติการติดต่อกับเหยื่อรวมไปถึงญาติสนิทของเหยื่อ หรือบางครั้งอาจจะมีคำสั่งให้ผู้ก่อความรุนแรงออกจากบ้านได้ทันที

หากผู้ก่อเหตุขัดคำสั่งศาล จะต้องถูกปรับตั้งแต่ 1,000 หยวนขึ้นไป (ประมาณ 5,000 บาท) รวมทั้งถูกกักขังเป็นเวลา 15 วัน แต่หากผู้ก่อเหตุกระทำการอันรุนแรง ทางศาลสามารถใช้กฎหมายอาญาเข้ามาลงโทษผู้ก่อเหตุได้ทันที

เหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัวของจีนนั้นมีจำนวนมาก หากแต่ไม่เคยปรากฏจำนวนที่แท้จริงออกสู่สาธารณะ จากการสำรวจของสมาพันธ์สตรีแห่งชาติจีนพบว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของหญิงที่แต่งงานจะประสบกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวแตกต่างกันไป หากแต่มีเพียง 40,000 รายเท่านั้นที่เข้าขอความช่วยเหลือจากสมาพันธ์

ดังนั้น การประกาศกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ก็น่าจะช่วยเหลือเหยื่อจากการถูกทำร้ายได้มากขึ้นนั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login