วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

Paradigm ความจำเป็นของประวัติศาสตร์ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On April 24, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

มีแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ ความแตกต่างของนักประวัติศาสตร์กระแสหลักและกระแสรองที่มองประวัติศาสตร์แตกต่างกัน

ผมได้สนทนากับ ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก ซึ่งสำเร็จปริญญาเอกทางประวัติศาสตร์ ที่เห็นว่าการจะมองประวัติศาสตร์ให้เข้าใจต้องมองเบื้องต้นให้เห็นป่าทั้งหมดก่อน แล้วจึงเจาะไปที่ต้นไม้แต่ละต้น แต่นักประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยเห็นต่างกัน จึงไม่สนใจป่าไม้ทั้งป่า มุ่งหาเพียงต้นไม้ต้นเดียวแล้วเอาความเข้าใจของต้นไม้ต้นเดียวไปอธิบายป่าไม้ทั้งป่า ด้วยเหตุผลนี้วิธีคิด หรือกระบวนทัศน์ หรือแม่บทของความคิด จึงเกิดความขัดแย้งขึ้นมาระหว่างนักประวัติศาสตร์สายอนุรักษ์นิยมกับนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่เป็นนักประวัติศาสตร์กระแสรอง

เช่นเดียวกันที่ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เคยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์สายหลักมักเป็นแต่เพียงเรื่องของ “สงครามและราชสำนัก” ดังนั้น ในการทำงานของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์กระแสรองหรือประวัติศาสตร์ทางเลือก (counter history) จะต้องทำงานในลักษณะสวนกระแสหรือตรงกันข้ามไปเลย

นี่เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่าแม่บทของการคิดหรือกระบวนทัศน์ของความคิดคือปัญหาหลักของความขัดแย้งในแนวทางประวัติศาสตร์ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ผมจึงเห็นด้วยว่าการมองประวัติศาสตร์นั้นเราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ของการคิดคือการมองภาพรวม ซึ่งมีคำถามว่าอะไรคือภาพรวมของประวัติศาสตร์ ก็ต้องตอบว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมองเรื่องของอำนาจและการเมือง หรือการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ส่วนหลักฐานอื่นๆ เช่น โบราณคดีและศิลปะ ถือเป็นส่วนย่อยที่เอามาประกอบสนับสนุนส่วนใหญ่หรือยุทธศาสตร์หลักของการคิดเท่านั้น

แต่นักประวัติศาสตร์กระแสหลักตามแนวคิดของกรมพระยาดำรงราชานุภาพและยอร์ช เซเดส์ กลับเอาส่วนย่อยมาเป็นส่วนใหญ่คือ เอาหลักฐานโบราณคดีมาเป็นหมุดหมายหรือเป้าหมายในการนำเสนอประวัติศาสตร์ แล้วพยายามอ้างเหตุผลสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง

ตัวอย่างการค้นพบเหรียญ 2 เหรียญที่นครปฐม สามารถอธิบายเป็นตุเป็นตะได้ โดยยกเอาจดหมายเหตุจีนของหลวงจีนอี้จิงแล้วพากันสรุปร่วมกับนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสว่า นครปฐมคือศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจนว่าทวารวดีเป็นเรื่องของวัฒนธรรมหรือชื่อของอาณาจักรกันแน่ มีบางคนอธิบายว่าทวารวดีคืออาณาจักรแรกในสุวรรณภูมิ แต่บางคนบอกว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมคือ โบราณสถานแห่งไหนที่ไม่ใช่เป็นแบบไทยหรือขอมก็เป็นแบบทวารวดี เป็นการเอาทฤษฎีศิลปะทางวัฒนธรรมมาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการอธิบายประวัติศาสตร์ และยังมีบางความคิดบอกว่า ผู้คนที่อยู่ในทวารวดีล้วนเป็นคนมอญ และขยายความให้ปกคลุมจนถึงแหล่งต่างๆทั่วประเทศไทยถึง 63 แห่งว่าเป็นโบราณสถานซึ่งเป็นวัฒนธรรมทวารวดี

โดยข้อเท็จจริงแล้วเรื่องเหรียญ 2 เหรียญดังกล่าว เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการบิดเบือนประวัติศาสตร์ สร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานพระยากงและพระยาพานขึ้นมา เพราะตำนานพระยากงและพระยาพานคือสิ่งที่เรียกว่าวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถเอาไปบิดเบือนและปิดบังประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศรีวิชัยอย่างได้ผล นี่เป็นเหตุผลสำคัญทำให้เกิดทฤษฎีว่าขอมคือบรรพบุรุษของเขมร ซึ่งนำไปสู่เงื่อนไขและข้ออ้างที่ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส

ถ้าเรามีกระบวนทัศน์ที่มองภาพรวมเป็นหลักก็จะมีข้อสรุปของประวัติศาสตร์ว่า ความจริงแล้วขอมมีที่มาจากราชวงศ์ไศเลนทร์จากนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ต่อมาพระเจ้าเกตุมาลาเสด็จจากนครศรีธรรมราชมาปกครองละโว้หรือลพบุรี ก่อนจะเดินทางไปยังกัมโพชประเทศเพื่อสร้างเมืองมเหนทรบรรพต ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบเป็นเมืองร้างใต้ภูเขาพนมกุเลนก่อนจะย้ายเมืองหลวงไปอีก 4 แห่ง และพระเจ้าเกตุมาลานี้เองคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งสรุปอย่างรวบรัดว่าคือผู้สร้างจักรวรรดิขอมขึ้นมา แต่โดยความจริงแล้วจักรวรรดิขอมก็คือส่วนขยายตัวของอาณาจักรศรีวิชัยนั่นเอง เมื่อจักรวรรดิขอมเสื่อมอำนาจลง พวกขอมเหล่านั้นก็ถอยร่นกลับมาสู่ดินแดนไทย

นี่คือตัวอย่างกระบวนทัศน์ที่ทำให้ได้คำตอบเป็นหนังคนละม้วนกับทฤษฎีที่ว่าขอมคือบรรพบุรุษของเขมร!

ในขณะนี้มีผู้ไปถอน “หมุดคณะราษฎร” ที่ฝังไว้บนพื้นครั้งปฏิวัติ พ.ศ. 2475 โดยคิดเอาเองว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของประเทศไทยได้ หรืออาจคิดทับซ้อนถึงเรื่องอาถรรพณ์สาปหรือไสยศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงกระบวนทัศน์ของความคิดที่ไม่มองภาพใหญ่หรือภาพรวมเป็นยุทธศาสตร์ความคิดหลัก จึงเป็นเพียงความผิดเพี้ยนทางความคิด เพราะต่อให้ถอนถึงร้อยหมุดก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยได้ เนื่องจากประชาชนทั้งประเทศกลายเป็นภาพรวมที่มี “หมุดหมายประชาธิปไตย” อยู่ในใจแล้ว

ข้อสรุปในที่นี้จึงชี้ชัดว่า ยุทธศาสตร์ความคิดในภาพรวมนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าภาพย่อย มีแต่จะต้องเอาส่วนย่อยๆเข้าไปสนับสนุนส่วนใหญ่ การจะให้ส่วนใหญ่ไปเป็นเหตุผลอธิบายสนับสนุนส่วนย่อย หรือเอาส่วนย่อยมาเป็นส่วนใหญ่ เหมือนการเอายุทธวิธีมาเป็นยุทธศาสตร์ จึงเท่ากับเป็นกระบวนทัศน์ที่ผิดพลาดนั่นเอง โดยความหมายของประวัติศาสตร์คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อเอายุทธวิธีเป็นยุทธศาสตร์จึงเป็นกระบวนทัศน์ที่ผิดพลาดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย!


You must be logged in to post a comment Login