- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ฝนตั้งเค้าอีกแล้ว / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
การเมืองหลังสงกรานต์กลับมาร้อนแรงแน่นอน
นอกจากเรื่องการหายไปของ “หมุดคณะราษฎร” ที่ฝ่ายรัฐต้องให้ความกระจ่างกับประชาชนแล้ว เรื่องการเดินตามโรดแม็พเพื่อไปสู่การเลือกตั้งก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
เวลาจากนี้ของโรดแม็พคือการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกกันว่ากฎหมายลูก
ในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหัวเรือใหญ่ ได้ส่งร่างกฎหมายลูกให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้ว 2 ฉบับ
ทั้ง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง
ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีเสียงคัดค้านพอสมควร
ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่เห็นด้วยอยู่หลายประเด็น แต่ด้วยความเป็นองค์กรอิสระ แม้จะไม่เห็นด้วยแต่เสียงคงไม่ดังเท่าความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง
กรธ. ยืนยันว่าร่างกฎหมายที่จะส่งต่อ สนช. ในประเด็นที่พรรคการเมือง นักการเมือง ไม่เห็นด้วยสามารถปรับแก้ไขได้ แต่ต้องไม่แตะหลักการของกฎหมายที่ กรธ. เขียนเอาไว้
แน่นอนว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนอกจากพรรคการเมือง นักการเมืองแล้ว ก็มี สนช. บางส่วนที่ส่ายหน้ากับร่างกฎหมายฉบับนี้ของ กรธ.
กรธ. ยืนยันว่าหากจะมีการปรับแก้รายละเอียดต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแก้ไขนั้นจะทำให้ขัดกับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และหาก สนช. แก้ไขแล้วมีปัญหา หรือทำให้เสียเวลา หรือเวลายืดเยื้อออกไป สนช. ต้องรับผิดชอบ
อ่านมาถึงตรงนี้พอจะมองเห็นประเด็นหรือไม่
ใช่แล้ว! ประเด็นก็คือเริ่มมีเค้าลางบอกเหตุว่าจะมีความขัดแย้งในการพิจารณากฎหมายในที่ประชุม สนช.
ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งกันด้วยหลักการและเหตุผล หรือขัดแย้งกันไปตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมา แต่ความขัดแย้งในการพิจารณาร่างกฎหมายลูกในที่ประชุม สนช. จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เมื่อเกิดความขัดแย้งในการพิจารณากฎหมายลูก อะไรจะเกิดขึ้นตามมาคงเดากันได้ไม่ยาก
ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการ นักการเมืองหลายคน ออกมาพูดดักทางเอาไว้ว่า อาจเกิดอภินิหารในที่ประชุม สนช. โหวตคว่ำร่างกฎหมายลูกที่ กรธ. ส่งไปให้พิจารณาเรื่องกลับมายกร่างกันใหม่
ตีกลับไปกลับมาเพื่อยื้อเวลาเลือกตั้งออกไป
เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้แต่นายมีชัยยังไม่การันตีให้ประชาชนสบายใจได้ว่า สนช. จะไม่คว่ำร่างกฎหมายลูก
ตามหลักการแล้วนายมีชัยจะการันตีเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ เนื่องจากนายมีชัยเป็น กรธ. มีหน้าที่เขียนร่างกฎหมายลูก ส่วนการพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเป็นของ สนช.
แต่ต้องไม่ลืมว่านายมีชัยเป็นหนึ่งในคลังสมองของฝ่ายคุมอำนาจ สามารถให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทางต่อผู้มีอำนาจได้
หากคิดว่าดี ใช่ ส่งสัญญาณให้ผู้มีอำนาจตีธงเกี่ยวกับร่างกฎหมายลูกได้ไม่ยาก
“เป็นความทุกข์ของคนที่คิดมาก พอเมียตั้งท้องก็กลัวว่าจะแท้งหรือไม่แท้ง ทั้งที่ต้องคิดว่าลูกออกมาจะน่ารักอย่างไร โอกาสที่จะไม่แท้งใครก็รับรองไม่ได้ เพียงแต่ว่าปรกติก็ไปตามวิถีของมัน และเราก็พยายามที่จะพูดคุยกับ สนช. ซึ่งเขาก็ตั้งกรรมการรองรับ กรธ. ก็ค่อยรับฟังว่าเรื่องไหนที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญเราก็แก้ให้ และเรื่องไหนที่มีใจความสำคัญเราก็ไปอธิบายให้เขาฟัง ซึ่งเราก็ทำงานประสานกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่จะไปรับประกันว่าจะไม่เกิดอะไรนั้นก็คงยาก หากกฎหมายลูกไปคว่ำตอนเลย 8 เดือนไปแล้ว และหาก กรธ. ต้องทำอีกก็ยังต้องอยู่ต่อ”
เป็นตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่นายมีชัยพูดกับบรรดาผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตามกรอบเวลาแล้วเมื่อ สนช. ได้รับร่างกฎหมายลูกจาก กรธ. จะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน
หากฟังตามที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่บอกว่าร่างกฎหมายที่ กรธ. จะเสนอมาสอดคล้องกับที่ศึกษาไว้ประมาณ 70%
หมายความว่ามีเนื้อหา 30% ที่จำเป็นต้องปรับแก้
ประเด็นคือเนื้อหาที่จำเป็นต้องปรับแก้นั้นเป็นการแก้หลักการของกฎหมายที่ กรธ. เขียนมาหรือไม่ หากแก้หลักการก็จะมีปัญหาขึ้นมาได้
นอกจากนี้ในการปรับแก้ยังต้องดูอีกว่ามีอะไรไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประกาศใช้หรือไม่
หากพิจารณาตามนี้จะเห็นว่ามีระเบิดเวลาหลายลูกที่สามารถทำให้ร่างกฎหมายลูกคว่ำในชั้นการพิจารณาของ สนช. ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 60 วัน การแก้ไขหลักการของร่างกฎหมาย และหลักการของรัฐธรรมนูญ
แม้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะออกมาพูดในทำนองว่า อย่ามโนว่า สนช. จะคว่ำกฎหมายลูกเพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไป แต่ก็คงให้หลักประกัน 100% ไม่ได้ว่าร่างกฎหมายลูกจะผ่านการพิจารณาออกมาบังคับใช้
กรณีนี้สังคมเคยมีบทเรียนมาแล้วจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ตอนมีข่าวว่าที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลทหาร คสช. อยู่ต่อ ก็มีคนออกมาเถียงคอเป็นเอ็นว่าไม่มี เป็นไปไม่ได้
แต่สุดท้ายการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุม สปช. ก็เกิดขึ้นจริง
ฝนแห่งอำนาจตั้งเค้าอีกแล้ว หนังม้วนเก่าจะถูกนำกลับมาฉายอีกหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ (ตัวจริง) จะตัดสินใจ
ในการพิจารณาร่างกฎหมายลูกนั้น สนช. รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองดีอยู่แล้ว
You must be logged in to post a comment Login