- ปีดับคนดังPosted 10 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
สุขสันต์หน้าใส / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
“วันนี้ถือว่าขอร้องแล้วกัน วันนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย ทุกคนก็ต้องการประชาธิปไตย ต้องการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ผมขอยืนยันให้ประชาชนทั้งประเทศว่า ผมพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้แผ่นดินนี้มีความสุข จึงอยากขอความร่วมมือว่า อะไรที่ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายจนเกินไปมากนัก อย่าเอามาให้เป็นเรื่องที่ต้องแก้มากนักเลย ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่ก็ต้องมาดูข้อเท็จจริงว่าวันนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ดังนั้น เราควรมองอนาคตดีกว่าหรือไม่ เรื่องเก่าๆก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ก็ว่ากันไป ถ้าจะมาโต้แย้งกันไปมา ผมขอไม่พูดดีกว่า เพราะทุกคนก็มีความเชื่อที่แตกต่างกัน อันนี้คือหลักการของประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่อะไรทั้งสิ้น อยู่ที่ใจคนว่าอยากเห็นประเทศชาติเดินต่อไปอย่างไร ผมก็ได้แต่ขอร้อง”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (18 เมษายน) กรณี “หมุดคณะราษฎร” ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ว่าได้หายไป โดยมีร่องรอยว่ามีผู้ไปขุดพื้นถนนนำหมุดใหม่ที่สังคมออนไลน์เรียกว่า “หมุดหน้าใส” มาใส่แทน มีการเทพื้นซีเมนต์ตกแต่งใหม่เรียบร้อยอย่างช่างมืออาชีพ โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ขอร้องว่าไม่อยากให้เป็นประเด็นจนกลายเป็นการชุมนุมวุ่นวาย และมอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตามสืบสวนและสอบสวนตามขั้นตอน
“เราเองก็เป็นประชาธิปไตยมากว่า 80 ปีแล้ว ผมเองก็ยืนยันว่าผมก็เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น อยู่ที่ใจของพวกเราทุกคนว่าเราจะเดินหน้าประเทศกันอย่างไรมากกว่า ที่เหลือก็เป็นเรื่องของกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ต้องว่ากันไป ถ้าพูดกันไปมาก็ไม่มีวันจบ”
คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์น่าสนใจและทำให้เห็นชัดเจนถึงความอึดอัดใจบางอย่าง แต่ไม่ได้แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวอย่างที่ผ่านมา ตรงข้ามกับท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ตอบแบบไม่พอใจว่าไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญและไม่เกี่ยวกับความอดอยากปากแห้งของประชาชน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ไม่เห็นและไม่ได้อยู่ตรงนั้นจะให้ทำอย่างไร ทั้งยังย้อนผู้สื่อข่าวที่ถามว่า รู้หรือว่าอยู่ที่ไหน เมื่อไม่รู้ ตนก็ไม่รู้
ทั้งนี้ “หมุดคณะราษฎร” ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นหมุดกลมสีทองเหลืองฝังลงบนพื้นกลางถนนระหว่างฐานของพระบรมรูปทรงม้าและประตูทางเข้าสนามเสือป่า ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุดในอดีต เพื่อเป็นที่ระลึกถึงจุดที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน “ประกาศคณะราษฎร” ฉบับแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยหมุดที่หายไปได้เขียนข้อความไว้ว่า “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ส่วนหมุดใหม่ที่มาแทนที่เป็นแผ่นเหล็กกลมสลักข้อความด้วยเลเซอร์สมัยใหม่ขนาดใกล้เคียงหมุดเดิม มีข้อความบนแผ่นหมุดว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” และ “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”
ไม่มีใครกล้าตอบเรื่องหมุดหาย
คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ทำให้เห็นนัยสำคัญบางอย่าง คำตอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องยิ่งสะท้อนว่าหมุดที่หายไปไม่ใช่ “กลุ่มขโมยกระจอก” อย่างแน่นอน เพราะขนาด พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลที่ถูกมองว่ารู้ทุกเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ครั้งนี้กลับบอกว่าไม่รู้และไม่ขอออกความเห็น ส่วน พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาล ก็ย้อนถามว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบสิ่งของที่หายไปทุกชิ้นในประเทศนี้หรือ ขณะที่นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ก็บอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับกรมศิลปากร กรมศิลปากรดูแลเฉพาะองค์อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเท่านั้น
ส่วน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. นอกจากยืนยันว่าไม่รู้จริงๆและไม่ได้เป็นผู้สั่งให้เปลี่ยนแล้วยังบอกว่า “เกิดไม่ทันปี 2475” เช่นเดียวกับนายบรรลือ สุกใส ผู้อำนวยการเขตดุสิตที่รับผิดชอบพื้นที่ ก็ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยน และ กทม. มีหน้าที่ดูเรื่องหาบเร่แผงลอยเท่านั้น ส่วนการขอดูกล้องวงจรปิดก็ยินดีจะเปิดเผย แต่ต้องสอบถามไปยังสำนักการจราจรและขนส่งก่อน ซึ่งทุกคำตอบล้วนโบ้ยและตะแบงแบบน้ำขุ่นๆ
โดยเฉพาะ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ระบุว่า กรณีนี้จะถือเป็นคดีลักทรัพย์ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งความจากผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ซึ่งต้องมีหลักฐานกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มาแสดง ถ้าเป็นทายาทของใคร ถ้าได้รับตกทอดมาก็ต้องมีหลักฐานว่าได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก หากไม่มีหลักฐานจะอ้างว่าเป็นมรดกหรือเป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ได้ กรณีหมุดนี้ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ สอบถามไปยังหน่วยงานราชการทั้งสำนักงานเขตดุสิตและกรมศิลปากรก็ได้รับการยืนยันว่าไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ จึงไม่ใช่ของแผ่นดิน ไม่ใช่โบราณวัตถุ หรือดูแลครอบครอง เมื่อยังไม่ชัดว่าทรัพย์นี้เป็นของใครจะดำเนินคดีลักทรัพย์ได้อย่างไร จะทำคดีได้อย่างไร ความผิดเกิดหรือยังก็ไม่รู้ เจ้าหน้าที่จะเอาอำนาจอะไรไปทำ จะออกหมายเรียกหรือหมายจับใครได้อย่างไร ต้องว่ากันไปตามกบิลบ้านกบิลเมือง ใครที่ยุยงปลุกปั่นให้เป็นเรื่องการเมืองก็ว่ากันไปตามหลักฐาน
กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
คำตอบแบบ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ของเจ้าหน้าที่รัฐและกองทัพที่ดูแลความมั่นคงทุกตารางนิ้ว ยิ่งทำให้ประชาชนที่ไม่เคยรู้เรื่องและไม่สนใจ “หมุดคณะราษฎร” เลยยิ่งอยากรู้ว่าใครคือ “หน้ากากสุขสันต์หน้าใส” ที่อยู่เบื้องหลัง แล้วยังปลุกกระแสประชาธิปไตยให้ตื่นตัวอย่างมากว่าทำไมกว่า 80 ปี ประชาธิปไตยไทยจึงล้มลุกคลุกคลานวนเวียนอยู่กับรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า
ขณะที่แง่มุมทางกฎหมายที่รอง ผบ.ตร. พยายามโบ้ยว่า “หมุดคณะราษฎร” ไม่ใช่ของแผ่นดิน และไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ของใครนั้น ยิ่งมีคำถามว่า การทำพิธีวางหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 ตามเจตจำนงของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีซึ่งบริหารขณะนั้น ก็ต้องถือว่าหมุดนี้เป็นทรัพย์ของราชการและของแผ่นดิน จะบอกว่า “ไม่มีเจ้าของ” ได้อย่างไร ทั้งการขุดผิวถนนเพื่อเอาหมุดออกแล้วเอาหมุดใหม่ฝังแทนก็ถือเป็นการทำลายถนนหลวง ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องดูแลรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้ใครก็ได้มาขุดเจาะโดยไม่ได้รับอนุญาต หาก กทม. ไม่รับรู้และไม่รับผิดชอบ ตำรวจก็บอกว่าไม่สามารถดำเนินคดีลักทรัพย์และทำลายทรัพย์สินทางราชการได้ ก็มีคำถามว่า หากใครทำเช่นนี้กับผิวถนนหลวง ณ จุดที่ฝังหมุดก็ไม่มีความผิดและทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใช่หรือไม่ ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ก็พูดเตือนกลุ่มต่างๆที่จะเคลื่อนไหวบริเวณพื้นที่ฝังหมุดว่าเป็นเขตพระราชฐาน ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมเข้มในพื้นที่ ซึ่งประชาชนจำนวนมากได้เดินทางมาดูหมุดใหม่ โดยห้ามถ่ายรูปหมุดใหม่หรือรูปคู่เห็นหมุดดังกล่าว หากถ่ายก็จะถูกสั่งให้ลบทิ้งทันทีโดยอ้างว่าเป็นคำสั่ง หากฝ่าฝืนก็อาจถูกควบคุมตัวทันที
การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้มีคำถามว่า เมื่อหมุดนี้ไม่ใช่สมบัติของแผ่นดินและไม่มีเจ้าของแล้ว หมุดนี้ตำรวจเป็นเจ้าของหรือ หากไม่ใช่และไม่มีคุณค่าใดๆ ทำไมจึงต้องห้ามถ่ายรูปและจับกุม
ขณะที่นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า ความผิดฐานลักทรัพย์และหรือทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และมาตรา 360 ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน บุคคลที่พบเห็นว่ามีการกระทำความผิด จะรู้ตัวคนทำหรือไม่ก็ได้ สามารถแจ้งความกล่าวโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (8) หากเจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความ เจ้าหน้าที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คยืนยันว่า หมุดคณะราษฎรที่สูญหายไป ผู้ที่เก็บหรือเบียดบังเอาไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นถือเป็นความผิดตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่คนไทยทุกคนย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะแจ้งความดำเนินคดีได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะขอบคุณนิสิตนักศึกษาที่ใส่ใจติดตามเอาสมบัติของชาติกลับคืนมา รัฐบาลที่กินเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชนต่างหากที่สมควรถูกประณาม ทั้งนี้ เพราะสมบัติของชาติฝังอยู่กับพื้นบริเวณเขตพระราชฐาน แวดล้อมด้วยสถานที่ราชการด้านความมั่นคงทั้งสิ้น แต่กลับไม่มีปัญญารักษาไว้ได้
นอกจากนี้กลุ่มบุคคลในนามคณะอธิปไตยปวงชนชาวไทยเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (ปชก.) ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนหมุดโดยใช้ข้อความที่มีความหมายสื่อถึงสถาบันเบื้องสูง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วยังนำไปติดตั้งบนพื้นถนนซึ่งเป็นที่ต่ำ มีรถและคนสัญจรเหยียบย่ำตลอดเวลา เป็นการกระทำอันไม่สมควรและลบหลู่ต่อสถาบันหลักของชาติ เป็นการกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทยที่มีความเคารพเป็นพื้นฐาน และมีวัฒนธรรมไม่นำของสูงมาไว้ที่ต่ำ มีการเคารพกราบไหว้เป็นวัฒนธรรมอันดีงามมาช้านาน
ขณะที่ทายาทของคณะราษฎรคือ นายพริษฐ์ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ ทายาทหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร และกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เดินทางมาลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิตให้ติดตาม “หมุดคณะราษฎร” ที่หายไป เพราะถือเป็นสมบัติของราชการและเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
นายพริษฐ์ยังเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรุ่นพี่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่ก่อตั้งโดยนายควง อภัยวงศ์ สมาชิกคณะราษฎร ออกมาทวงถาม “หมุดคณะราษฎร” ที่หายไปด้วย
นายพริษฐ์ยอมรับว่ารู้สึกกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ต้องการให้สังคมไทยเรียกหาความกล้าหาญทางจริยธรรม เพราะไม่เห็นผู้ใหญ่คนใดทำอะไร จึงตัดสินใจออกมาทำเพื่อชาติ ซึ่งความกล้าของตนเทียบไม่ได้แม้เพียงเสี้ยวเดียวของสิ่งที่ทวดคือหลวงเสรีเริงฤทธิ์ได้กระทำไว้
ท่าทีคนประชาธิปัตย์
แม้นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ยังนิ่งเงียบเรื่องนี้ แต่นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกแถลงการณ์กรณีหมุดคณะราษฎรหายไปจากที่เดิมว่า “หมุดนั้นสำคัญไฉน?” แม้นายพิชัยจะทำให้หลายฝ่ายประหลาดใจสไตล์ประชาธิปัตย์ที่บอกว่า “ไม่ทราบมาก่อนเลยว่าคณะราษฎรได้ทำหมุดเกี่ยวกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองและนำไปฝังไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว”
นายพิชัยเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องมีแผนการไว้ล่วงหน้า เพราะหมุดนี้ไม่ใช่หมุดหัวจ่ายน้ำประปา หมุดเดิมที่คณะราษฎรได้ฝังไว้ 85 ปีมาแล้วอาจไม่มีค่างวดอะไรนัก แต่หมุดนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทางจิตใจอย่างยิ่ง ซึ่งไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นตัวเงินได้ ผู้ที่กระทำการเอาหมุดเดิมออกไม่ได้คิดสักนิดว่าการกระทำของเขากระทบกระเทือนจิตใจและเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้กระทำอย่างมาก และเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความปรองดอง ความรักใคร่สามัคคีของชนในชาติเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แสนดี โดยแจ้งให้ผู้ไปแจ้งความว่า “ใครเป็นเจ้าของหมุด ต้องให้เจ้าของมาแจ้งความเอง”
“ผมก็อายุมากแล้ว อยากเห็นบ้านเมืองเรียบร้อย ประชาชนมีความรักใคร่ปรองดองกัน แต่เหตุการณ์เรื่อง “หมุด” นี้ไม่นำไปสู่สิ่งที่ผมอยากเห็นเลย อย่ามาพูดว่าให้รักกันด้วยปาก อย่ามาพูดให้ปรองดองกันด้วยปาก ตราบใดที่ขาดความจริงใจ ตราบนั้นบ้านเมืองของเราก็ย่ำอยู่กับที่!”
คนตามหาหมุดที่หายกลับถูกจับ
ปรากฏการณ์ “หมุดคณะราษฎร” ไม่ใช่แค่ยิ่งแถยิ่งมั่วเท่านั้น ล่าสุด คสช. ยังทำให้เรื่องยิ่งบานปลายเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก่อนจะเข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล (17 เมษายน) เพื่อขอให้มีการติดตามทวงคืน “หมุดคณะราษฎร” โดยเจ้าหน้าที่นำตัวไปยังสถานที่ควบคุม ทำให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายศรีสุวรรณทันที เพราะถือว่าเป็นการควบคุมตัวโดยผิดกฎหมาย และตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยขาดซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แม้กระทั่งการใช้ช่องทางตรวจสอบที่รัฐจัดให้ก็ไม่สามารถกระทำได้
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ระบุว่า การสอบถามหรือขอรับทราบข้อมูลจากรัฐในเรื่องสาธารณะถือเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถกระทำได้ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงเหตุผลในการควบคุมตัว เพราะบริเวณศูนย์บริการประชาชนเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปติดต่อได้ ไม่ใช่สถานที่ต้องห้ามแต่อย่างใด
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า แทนที่จะหาตัวผู้ที่ทำให้หมุดหายไปมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายกลับคุมตัวและสอบผู้ที่ร้องเรียนทวงถามหาหมุดที่หายไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อคืนวันที่ 18 เมษายน นายศรีสุวรรณได้รับการปล่อยตัว โดยเปิดเผยว่าถูกควบคุมตัวไปพูดคุยในค่าย มทบ.11 เพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวและขอความร่วมมือให้ร่วมกันสร้างความปรองดอง แต่นายศรีสุวรรณยืนยันว่าจะเดินหน้าเรียกร้องต่อไป และขณะนี้รัฐธรรมนูญก็บังคับใช้แล้วคงไม่สามารถเอาผิดตนเองได้
กรมศิลป์ชี้เป็นเพียงเครื่องหมาย-ไม่มีคุณค่า
ดูเหมือนการตอบคำถามของหน่วยงานราชการที่ทำให้คนฟัง “ต้องอึ้งหนักมาก” เมื่อวันที่ 18 เมษายนก็คือ กรมศิลปากรได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คประเด็น “หมุดคณะราษฎร” เป็นโบราณวัตถุตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือไม่นั้น มีข้อความว่า
กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติให้ “โบราณวัตถุ” หมายความถึงสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์ หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี จากนิยามดังกล่าวจึงเห็นว่าหมุดคณะราษฎรมิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุที่ พ.อ.พระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้นำมาติดตั้งไว้เมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปีภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้น หมุดคณะราษฎรจึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น
หลังจากโพสต์ข้อความดังกล่าว ได้เกิดคำถามและการแสดงความเห็นตามมามากมาย เช่น ทำไมหมุดคณะราษฎรหลักฐานที่ระบุตำแหน่งการประกาศ บอกวันเวลาอย่างชัดเจน และมีอายุยาวนานขนาดนี้ ถึงไม่มีประโยชน์ทางประวัติศาสตร์?
นักวิชาการตั้งคำถามเรื่องหมุด
ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊คตั้งคำถามที่ยังไม่มีใครมาตอบไว้อย่างน่าสนใจว่า
คำถามเรื่องหมุดคณะราษฎรคำถามที่หนึ่ง
ในกรณีที่ทางกรมศิลปากรไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ คำถามต่อมาคือใครรับผิดชอบ? เรื่องนี้ถามกันมานานแล้ว แต่คำถามที่ยอกย้อนกว่านั้นก็คือ ถ้ามีการขุดหมุดอันใหม่นี้ออกไปใครเดือดร้อน จะใช้กฎหมายอะไรในการห้ามเอาออก? ถ้ามีการใช้กฎหมายห้ามเอาออก แปลว่าคนที่ห้ามเอาออกแสดงความรับผิดชอบว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องรักษาหมุดอันเก่าเอาไว้ใช่ไหม คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับความถูกต้องทางประวัติศาสตร์และจุดยืนทางการเมืองครับ เป็นเรื่องของความรับผิดชอบของสิ่งที่เรียกว่าเป็นสาธารณะครับ
คำถามเรื่องหมุดคณะราษฎรคำถามที่สอง “อย่าหลงทาง”
เรื่องหมุดคณะราษฎรไม่ใช่เรื่องของจุดยืนทางการเมืองและความถูกต้องทางประวัติศาสตร์เท่านั้น เรื่องหมุดคณะราษฎรไม่ใช่เรื่องของทรัพย์สินสูญหายและมาเถียงเรื่องเทคนิคว่าใครเป็นเจ้าของ เรื่องของหมุดคณะราษฎรหายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในเมือง (Urban Security) หมายความง่ายๆว่า ถ้ามีการวางระเบิดตรงนั้น เราคงไม่ต้องถามว่าใครเดือดร้อน ประเด็นที่ต้องถามคือ ใครต้องรับผิดชอบกับความปลอดภัยของเมืองที่มีการทำอะไรบางอย่างแบบนั้นไปได้ กล้องวงจรปิดตัวไหนไม่ทำงาน อย่าบอกว่าพื้นที่ที่ใกล้สถานที่สำคัญจำนวนมากขนาดนั้นไม่มีกล้องและการดูแล (หมุดสำคัญหรือไม่ต่อใครเป็นพิเศษไม่ใช่ประเด็นสำหรับคำถามนี้) ใครมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความมั่นคงปลอดภัยในเมืองครับ?
จากหมุดสามัญอันไม่เป็นที่รู้จัก..
การพยายามเอา “หมุดคณะราษฎร” ออกจากความทรงจำนั้นไม่ใช่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการที่เขียนหนังสือ 2475 ระบุว่า หมุดคณะราษฎรได้ปลิวหายไปจากจุดที่ตั้งครั้งแรกปี 2503 ช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นรัฐทหารแบบเบ็ดเสร็จที่สุด เพราะมีมาตรา 17 ที่เป็นเสมือนบิดาของมาตรา 44 ในปัจจุบัน โดยจอมพลสฤษดิ์ได้ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายนซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นโดยคณะราษฎรเมื่อปี 2482 เหตุผลที่จอมพลสฤษดิ์สั่งให้เอาหมุดคณะราษฎรออกไป เพราะหมุด 2475 เป็นการยืนยันว่าการสร้างประชาธิปไตยจะต้องมีรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการเลือกตั้ง แต่จอมพลสฤษดิ์ต้องการปกครองแบบรัฐบาลทหารที่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพียง 20 มาตรา และมีมาตรา 17 ที่ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นกฎหมาย
มาตรา 17 ก็คือบิดาของมาตรา 44 ในปัจจุบัน ดังนั้น การมีหมุด 2475 ของคณะราษฎรอยู่ตรงนี้ จึงเหมือนเสี้ยนตำฝ่าเท้าของรัฐบาลทหาร ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญยุคจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม กิตติขจร ลากยาวกินเวลาเกือบ 10 ปี เพราะไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง
“หมุดคณะราษฎร” แม้เป็นหมุดสามัญ แต่ไม่ใช่หมุดธรรมดาในสายตาผู้มีอำนาจ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีการพยายามจะเอาออกไปจากความทรงจำของคนไทย โดยเฉพาะในยุคที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงความเห็นต่างและสับสนว่าจะอยู่ภายใต้สังคมที่เงียบสงบแบบเผด็จการหรือสังคมที่มีสิทธิเสรีภาพที่จะสามารถแสดงวามเห็นและตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐได้ตามระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์คืออดีตที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ถือเป็นการปฏิวัติอย่างแท้จริงของประเทศไทย เป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของและมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคภายใต้รัฐธรรมนูญ การทำลายและเปลี่ยน “หมุดคณะราษฎร” กี่ครั้งกี่หนก็ไม่สามารถทำให้อดีตที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ “อภิวัฒน์สยามประเทศ” การสถาปนาประชาธิปไตยของคณะราษฎรถูกลบเลือนหรือเปลี่ยนแปลงความจริงได้
ตรงกันข้ามกลับทำให้คนไทยที่ไม่ค่อยจะตื่นรู้ใดๆได้ลืมตาตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า ทำไม “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” จึงเคยปรากฏเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์? ทำไมพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงประกาศ ณ จุดที่ทำพิธีวาง “หมุดคณะราษฎร” ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศนี้เป็นของราษฎร”?
เมื่อ “หมุดคณะราษฎร” ที่เหมือนถูกเสกให้หายไปยิ่งกว่ามายากลพร้อมกับการมาแทนที่ด้วยหมุดใหม่อย่างพิสดารโดยที่ไม่มีหน่วยงานราชการใดกล้าออกมาให้คำตอบได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับหมุดเดิมที่หายและหมุดใหม่อันน่าพิศวง
นอกจากความจริงในอดีตที่มิอาจลืมหาย กลับทำให้ความทรงจำและเรื่องราวที่มีต่อหมุดคณะราษฎร สามัญอันไม่เป็นที่รู้จัก.. กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องจดจำกันทั้งแผ่นดินอย่างไม่รู้ลืม!!??
You must be logged in to post a comment Login