วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เครือข่ายประชาชนภาคเหนือรุมค้านแก้พ.ร.บ.สสส.

On April 24, 2017

เครือข่ายขบวนการประชาชนสร้างเสริมสุขภาพภาคเหนือ (ขสช.ภาคเหนือ)จัดเวทีเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นและเชื่อมโยงศักยภาพภาคีระดับภาค(ภาคเหนือ)ในเวทีได้แสดงความเห็นต่อประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ. สสส. ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม และวันที่ 2 เมษายน ที่โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความกังขาต่อภาคประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากการจัดประชาพิจารณ์ดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนตั้งแต่เริ่มกระบวนการ เป็นไปอย่างรวบรัดและไม่มีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ทำให้มีผู้เข้าร่วมรับฟังประชาพิจารณ์จำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการร่างกฎหมายนี้ด้วยการออกจากการประชุมกลางคัน (walk out)

พันธ์ศักดิ์ คำแก้ว ตัวแทนจากศูนย์ครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปาง สะท้อนถึงประสบการณ์ทำงานกับคนในพื้นที่ว่า ทั้งชาวบ้านและองค์กรเครือข่ายในต่างจังหวัดต่างทำงานอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ ส่วนกลางกำลังแก้กฎหมาย พ.ร.บ. สสส. ที่เป็นเหมือนแกนหลักในการทำงานกับพี่น้องในต่างจังหวัด โดยไม่ได้ฟังเสียงชาวบ้านแต่อย่างใด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 77ระบุใจความสำคัญเอาไว้ว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน ทว่า เวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. สสส. ที่เพิ่งผ่านไป กลับมีลักษณะเร่งรัด เร่งรีบ ไม่ฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และไม่มีการเปิดเผยผลการรับฟังต่อประชาชน จึงมิได้เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญไทย รัฐบาลจึงไม่ควรดึงดันต่อไป

นางสาวศรินยา สิงห์ทองวรรณ องค์กรกลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เราเป็นอีกองค์กรที่ขับเคลื่อนงานด้วยงบประมาณของ สสส.ดังนั้นการแก้ พ.ร.บ. สสส. ที่ผ่านมา มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่สะท้อนความพยายามในการจำกัดการทำงานขององค์กรภาคประชาชน ทั้งในเชิงการทำงานและงบประมาณ ด้วยโครงสร้างที่ไม่เอื้อและแทบจะใกล้เคียงระบบราชการ ในขณะที่กระบวนการแก้ไขก็ไม่ได้มีการฟังเสียงสะท้อนของภาคประสังคมที่ทำงานในหลายภูมิภาคจึงอยากให้เริ่มต้นกระบวนการใหม่และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ช่วงท้ายเวที ทางเครือข่ายฯได้แสดงจุดยืนและมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้1.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เนื่องจากยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ และยังไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายในการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของใคร2.หากมีความจำเป็นในการแก้ไข พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560มาตรา77และต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการ การมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้เครือข่ายขอเรียกร้องให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับภูมิภาค ทุกภาค3.ขอให้รัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรคำนึงถึง การสร้างเสริมสุขภาพ คือ ปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสุขภาพของประชาชน และสุขภาพของสังคม และยังมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงต้องช่วยกันรักษา และสนับสนุนเจตนารมณ์ ของการกำเนิด พระพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดยเครือข่ายฯ จะติดตามความพยายามในการแก้ไขพระราชบัญญัติ ฉบับนี้อย่างใกล้ชิด


You must be logged in to post a comment Login