- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
‘ลับ’ไม่ใช่โปร่งใส
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน 3 ลำ มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาท แม้จะถูกต้านแรงในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่องก็ค่อยๆ เบาลงไป
แม้จะมีเสียงคัดค้านดังอยู่ค่อนข้างมาก แต่หากฟังจากผู้เกี่ยวข้องที่ชี้แจงแล้วจะเห็นชัดเจนว่า “ต่อต้านแล้วอย่างไร ใครแคร์” เพราะคำชี้แจงเป็นไปในทำนองเรื่องความความลับ ไม่จำเป็นต้องรู้ ถึงเวลาก็รู้เอง เรื่องแบบนี้ใครเขาบอกกัน
ล่าสุดคือคำชี้แจงในทำนองหากไม่พอใจ ไม่อยากซื้อก็ให้รัฐบาลหน้ายกเลิกมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนี้ที่ให้จัดซื้อได้ (ทั้งที่รู้ว่าคงยกเลิกไม่ทันเพราะกว่ารัฐบาลนี้จะลงจากอำนาจ กว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศ คงมีการลงนามจัดซื้อกันไปแล้ว)
แม้คำชี้แจงดูเหมือนจะเป็นไปตามหลักการเรื่องการใช้งบลับ เรื่องความมั่นคง
แต่ก็แฝงไปด้วยคำท้าทาย
ท้าทายเพราะยังมั่นใจในอำนาจ
เมื่อมั่นใจในอำนาจจึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียงคนเห็นต่าง “ต่อต้านแล้วอย่างไร ใครแคร์” น่าจะเป็นประโยคที่ใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลทหารคสช.เข้ามาด้วยความคาดหวังจากประชาชนว่ารัฐบาลนี้จะใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะเป็นผู้ประกาศตนเข้ามาล้างคอร์รัปชัน
แต่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา การใช้งบประมาณมากมายหลายโครงการโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ หรือคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี กลับมีหลายเรื่องที่เต็มไปด้วยความอึมครึมไม่โปร่งใส มีเรื่องหลายเรื่องที่สังคมกังขา มีข้อสงสัย แต่ไม่มีคำตอบใดให้ความกระจ่างได้
ทั้งนี้ ในการจัดซื้ออาวุธหลายโครงการก่อนหน้านี้ก็ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดกับสังคม ซึ่งเพจสำนักข่าวบีบีซี (ภาษาไทย) ได้รวบรวมโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้งบประมาณสูงและน่าสนใจของทั้ง 3 เหล่าทัพหลังรัฐประหารอย่างน้อย 9 โครงการ ประกอบด้วย
กองทัพบก
ปี 2558 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน ไม่ระบุจำนวน รวมมูลค่า 4,985 ล้านบาท
ปี 2559 โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi7VS จากรัสเซีย จำนวน 2 ลำ รวมมูลค่า 1,698 ล้านบาท
ปี 2559 โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย ไม่ระบุรุ่น จำนวน 4 ลำ รวมมูลค่า 3,385 ล้านบาท
ปี 2560 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน ไม่ระบุจำนวน รวมมูลค่า 2,017 ล้านบาท
กองทัพเรือ
ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ไม่ระบุรุ่นและจำนวน มูลค่า 2,850 ล้านบาท
ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น จำนวน 4 ลำ รวมมูลค่า 490 ล้านบาท
ปี 2559 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น จำนวน 5 ลำ รวมมูลค่า 627 ล้านบาท
ปี 2560 โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน จำนวน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท
กองทัพอากาศ
ปี 2560 โครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เบื้องต้นจากเกาหลีใต้ จำนวน 8 ลำ รวมมูลค่า 8,997 ล้านบาท
เหล่านี้คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งบางโครงการจำเป็นจะต้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติ แต่ก็ยากที่จะตรวจสอบได้ว่ามีการอนุมัติไปแล้วหรือไม่ เนื่องจากใช้ “เอกสารลับ”
“ลับ-ความมั่นคง” สองประโยคที่ผู้มีอำนาจอาจคิดว่าใช้อธิบายแล้ว “จบ” ไม่ต้องพูดอะไรให้มากความ
แค่คำว่า “ลับ-ความมั่นคง” อาจใช้ไม่ได้กับทุกเรื่องเสมอไป เพราะคำว่า “ลับ-ความมั่นคง” ใช้อธิบายเรื่องความโปร่งใสไม่ได้
You must be logged in to post a comment Login