- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เงียบแต่คืบหน้า
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
เรื่องการสร้างความปรองดองที่ดูเงียบไปพักใหญ่ๆ กลับมามีความเคลื่อนไหวให้ได้ติดตามกันอีกครั้ง และดูเหมือนว่าเป็นความเคลื่อนไหวในเชิงความคืบหน้าที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
สัปดาห์ที่แล้วขณะที่เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นข่าวใหญ่ในทุกพื้นที่สื่อ แต่มีเรื่องการสร้างความปรองดองถูกนำเสนอในพื้นที่เล็กๆอย่างสนใจ
ที่น่าสนใจเพราะเป็นความคืบหน้าในระดับที่ใกล้จะได้ข้อสรุปกันแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เชิญตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่เคยเข้าให้ความเห็นมาประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ตรวจสอบความเห็นที่เคยเสนอมาแล้วว่าสรุปถูกต้องตรงกันหรือไม่ และเปิดโอกาสให้เสนอความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นที่คิดว่าตกหล่นไม่ครบถ้วน
น่าสนใจว่าพรรคการเมืองน้อยใหญ่และกลุ่มการเมืองต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยตัวแทนที่มาร่วมประชุมนั้นไม่ใช่ระดับที่ไม่มีบทบาทในพรรค แต่เป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจอยู่พอสมควร
พรรคเพื่อไทยนำมา โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรค พรรคประชาธิปัตย์ นำมาโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค พรรคภูมิใจไทย นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคมาเอง พรรคชาติไทยพัฒนาส่ง นายนิกร จำนง คนสนิทของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้ล่วงลับมาเป็นตัวแทน
ฟากกลุ่มการเมืองแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มากันครบทั้ง นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส่วนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ไม่ส่งใครมาร่วมประชุมแต่ให้ตัวแทนมายื่นเอกสารความเห็นเพิ่มเติม ขณะที่กลุ่มภาคประชาสังคมมี 36 กลุ่ม รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจำนวน 124 คน
เป็นความพร้อมใจร่วมมือกันชนิดที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นมาก่อน
ขั้นตอนหลังจากนี้เอกสารจะถูกรวบรวมตามหลักวิชาการและการวิจัยไปสู่ความเห็นร่วมที่สมบูรณ์ และส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน เพื่อจัดทำร่างสัญญาประชาคมต่อไป
ทำให้เห็นภาพว่ากระบวนการสร้างความปรองดองเดินหน้าไปในทิศทางที่น่าพอใจ
ส่วนผลจะออกมาเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ให้อดใจรออีกประมาณ 1 เดือน เพราะคาดการณ์กันว่าร่างสัญญาประชาคมซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความปรองดองจะเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน
ต้องรอดว่าเมื่อแบเงื่อนไขปรองดองออกสู่สายตาประชาชนแล้วจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางไหนอย่างไร
ที่สำคัญต้องรอดูปฏิกิริยาของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมในกระบวนการปรองดองครั้งนี้ว่าจะให้การยอมรับและยอมลงนามผูกมัดตัวเองหรือไม่
หากทุกฝ่ายยอมลงนามในสัญญาประชาคมก็จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลทหารคสช.ที่สามารถสร้างหลักประกันความปรองดองขึ้นมาได้
แต่ถ้าไม่ก็เข้าอีหรอบเดิมเสียเวลา เสียงบประมาณเปล่า
แต่หากมองจากความแข็งขันในความร่วมมือกันของทุกฝ่ายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนแล้วโอกาสที่การสร้างความปรองดองครั้งนี้จะสำเร็จตามเป้าหมายน่าจะมากกว่า 50% หรืออย่างน้อยหากไม่มีการลงนามในสัญญาประชาคมก็คงไม่มีใครกล้าตีรวนสร้างเงื่อนไขให้ใช้อ้างเลื่อนโรดแม็พ เพราะชั่วโมงนี้ฝ่ายการเมืองมีลมหายใจเพื่อรอวันเลือกตั้งอย่างเดียว
You must be logged in to post a comment Login