- ปีดับคนดังPosted 4 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
พรรคของประชาชน / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็เข้าสู่ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง คือการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้มีร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้ว ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้ง 2 ฉบับดูเหมือนว่าจะมีแรงต้านพอสมควร ฉบับที่เสียงต้านดังที่สุดคือ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะบรรดาพรรคการเมือง นักการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ. นี้ต่างออกมาแสดงความเห็นในเชิงคัดค้านค่อนข้างมาก
ประเด็นที่ถูกยกมาคัดค้านมากที่สุดในตอนนี้คือ การกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายเงินค่าเป็นสมาชิกปีละ 100 บาท หากไม่คิดเปลี่ยนใจย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นให้เลือกจ่ายค่าสมาชิกตลอดชีพได้ในราคา 2,000 บาท
ในมุมมองของผู้ร่างกฎหมายเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคมีความรู้สึกเป็นเจ้าของพรรคมากขึ้น และจะไม่ปล่อยให้แกนนำพรรคไม่กี่คนตัดสินใจทำอะไรไปโดยพลการ
ในทางกลับกันเมื่อต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคจะทำให้บรรดานักการเมืองโดยเฉพาะคนที่เป็นแกนนำพรรคเห็นหัวสมาชิกพรรคทั่วไปมากขึ้น ไม่ทำอะไรที่สมาชิกพรรคไม่เห็นด้วย
จุดมุ่งหมายของการเขียนกฎหมายแบบนี้ก็เพื่อให้พรรคการเมืองปลอดจากการครอบงำของนายทุนพรรค ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
ในขณะที่มุมมองของนักการเมือง พรรคการเมือง ต่างเห็นตรงกันว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน เพราะสมาชิกพรรคส่วนมากเป็นผู้มีรายได้น้อย
นอกจากนี้ยังเห็นว่าเป็นการดองพรรคการเมืองไม่ให้เติบโต เพราะเมื่อกำหนดให้ต้องจ่ายค่าสมาชิกพรรคจะทำให้ประชาชนสนใจเป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยลง ปิดโอกาสการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
ที่สำคัญจะทำให้พรรคการเมืองเกิดใหม่อยู่ยาก เพราะยังมีข้อกำหนดเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองว่าต้องมีเท่าไรจึงจะคงสภาพความเป็นพรรคการเมืองต่อไปได้ เช่น การก่อตั้งพรรคต้องมีสมาชิก 500 คน และหาสมาชิกเพิ่มใน 1 ปีให้ได้ 5,000 คน และภายใน 4 ปีต้องหาสมาชิกให้ได้ 10,000 คน
ความจริงเรื่องที่จะทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองเป็นของกลุ่มทุนไม่กี่คนที่จะคิดหรือตัดสินใจทำอะไรก็ได้ สมาชิกเป็นเพียงแค่ไม้ประดับไม่มีปากเสียง เป็นเรื่องที่คิดและพูดกันมานานแล้ว
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัญหาใหญ่ของพรรคการเมืองบ้านเราคือ เป็นพรรคของคนไม่กี่คน แม้จะกำหนดให้มีกรรมการบริหารพรรค ต้องมีการประชุมลงมติ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ในความเป็นจริงทุกอย่างล้วนตัดสินใจโดยเจ้าของพรรค นายทุนพรรค
ก่อนหน้านี้มีแนวคิดหลายอย่างถูกเสนอมาเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของส่วนรวม ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างเช่น การให้สมาชิกในพื้นที่มีโอกาสเลือกว่าจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ใช่ให้ผู้มีอำนาจในพรรคเป็นผู้ตัดสินใจ
แนวคิดนี้พูดกันมานานแต่ไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้ การส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งยังเป็นเพียงการตัดสินใจของคนไม่กี่คนภายในพรรค ใครอยากลงเลือกตั้งก็วิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจในพรรค ไม่ต้องวิ่งหาประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกพรรคในพื้นที่
แนวคิดการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมือง หากมองอย่างตรงไปตรงมาก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจที่จะช่วยทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน
การจ่ายค่าสมาชิกจะทำให้ประชาชนมีปากมีเสียงกับนักการเมืองและพรรคการเมืองมากขึ้น เหมือนกรณีจ่ายค่าสมาชิกฟิตเนส หากบริการไม่ดีก็ไม่ต่ออายุสมาชิกและสามารถย้ายไปใช้บริการที่อื่นที่ตัวเองพึงพอใจได้
การจ่ายเงินค่าสมาชิกจะทำให้สมาชิกสนใจความเป็นไปของพรรคที่ตัวเองสังกัดว่ายังเดินตามแนวทางหรืออุดมการณ์ หรือออกนอกแนวทางที่ประกาศไว้ตอนก่อตั้งพรรคหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ที่เคยคิดเหมือนกัน หรืออุดมการณ์ของพรรค ของสมาชิกแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ก็สามารถแยกทางกันได้ง่ายๆโดยไม่ต่อสัญญาการเป็นสมาชิก
นอกจากนี้การจ่ายค่าสมาชิกยังทำให้สามารถเช็กยอดสมาชิกที่แท้จริงของแต่ละพรรคได้ด้วย ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับการจ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องจ่ายให้พรรคการเมือง
ที่ผ่านมาเรามีปัญหาทั้งการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซ้ำซ้อน จำนวนที่ไม่แน่นอนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน เมื่อนำระบบค่าสมาชิกมาใช้ก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้
อย่างไรก็ตาม การเก็บค่าสมาชิกต้องกำหนดให้เหมาะสม
ทราบมาว่าก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งทำหน้าที่ร่างกฎหมายลูกกำหนดอัตราค่าสมาชิกพรรคการเมืองปีละ 200 บาท แต่เมื่อมีเสียงสะท้อนในเชิงคัดค้านจำนวนมากจึงยอมลดอัตราค่าสมาชิกเหลือปีละ 100บาท แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้านอีกพอสมควร
ในชั้นการพิจารณาของ สนช. เห็นว่าอาจจะมีข้อเสนอให้ปรับลดอัตราค่าสมาชิกพรรคเหลือปีละ 20 บาท
ไม่ว่าอัตราค่าสมาชิกที่เรียกเก็บจะเป็นเท่าไร สิ่งหนึ่งที่อยากให้หาทางป้องกันด้วยคือ การออกเงินให้ประชาชนมาเป็นสมาชิกพรรค
เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะจ่ายเงินให้ประชาชนมาลงคะแนนให้หรือที่เรียกว่าซื้อเสียงที่ใช้เงินจำนวนมากกว่านักการเมืองยังสามารถจ่ายได้ การจ่ายเงินให้ประชาชนมาเป็นสมาชิกพรรคแค่ปีละ 100 บาท หรือ 20 บาท ทำไมนักการเมืองบ้านเราจะทำไม่ได้
กรณีนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะเหมือนเป็นการตกเขียวซื้อเสียงโดยอ้อม เชื่อว่าหากมีข้อกำหนดเรื่องสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายเงินค่าสมาชิก ประกอบกับมีข้อกำหนดเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง แต่ละพรรคคงให้โควตา ส.ส. หรือผู้จะลงสมัคร ส.ส. แต่ละคนไปหาสมาชิกพรรค เช่น ส.ส. 1 คน ต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน
แนวคิดเรื่องเก็บค่าสมาชิกพรรคการเมือง หรือไม่ก็ใช้หลักอุดมการณ์ความเห็นตรงกันรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ล้วนเป็นแนวคิดที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่การเมืองไทยไม่ตรงไปตรงมา
ไม่ว่าจะออกกำหนดอย่างไรก็เชื่อว่าพรรคการเมืองไทยไม่มีวันพ้นจากร่มเงาอำนาจของนายทุนพรรค เจ้าของพรรค ไม่มีทางที่พรรคการเมืองจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
You must be logged in to post a comment Login