วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บทบาท สตง.?

On May 4, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำที่เป็นประเด็นร้อนมาพักใหญ่ หลังกองทัพเรือตั้งโต๊ะแถลงอย่างเป็นทางการแล้วดูเหมือนว่าเรื่องจะลดความร้อนแรงลงไป

สถานการณ์ตอนนี้ถึงจุดที่เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ อย่างไรเสียมีการลงนามจัดซื้อจากจีนแน่นอน และการลงนามก็คงมีขึ้นในไม่ช้าไม่นานหลังจากนี้

ส่วนข้อสงสัยต่างๆที่สังคมยังเคลือบแคลงอยู่นั้น แม้จะมีคำถามอยู่ แต่เชื่อว่าไม่เป็นอุปสรรคในการจัดซื้อ

การเดินทางไปกองบัญชาการกองทัพเรือของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการระดับผู้ใหญ่ใน สตง. อีก 5 คน ในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้อาจทำให้ทุกอย่างดูดีขึ้นไปอีกระดับ

ตามข่าวแจ้งว่าคณะของผู้ว่าการ สตง.จะไปเข้าพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อขอรายละเอียดสัญญาการจัดซื้อโครงการเรือดำน้ำ กระบวนการใช้งบประมาณตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำ TOR ขึ้นไปเพื่อนำกลับมาตรวจสอบ

การตรวจสอบครั้งนี้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการทดสอบการใช้งบประมาณ บัญชีการจัดซื้อ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อจากนี้ในการดูแล

อย่างไรก็ตาม หน้าที่การชี้แจงจะเป็นของ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำทั้งหมด โดยจะนำเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการชี้แจงกับ สตง.

พล.ร.อ.ลือชัย ยืนยันก่อนการชี้แจงกับ สตง.ว่าเรือดำน้ำมีความจำเป็นเพราะจากการฝึกร่วมกับชาติพันธมิตรที่มีเรือดำน้ำมาหลาย 10 ปีนั้น แสดงให้เห็นว่าเรือดำน้ำสามารถตรวจจับได้ยาก จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้นำสิ่งเหล่านี้ไปเล่าต่อให้ประชาชนได้รับทราบ และที่โดนใจคือ 36,000 ล้านบาทในการจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำนั้น คิดยังไงก็คุ้ม

“ฝากไปยังประชาชนให้คิดทบทวนว่าผลงานที่ผ่านมาของกองทัพเรือเคยทำให้ประชาชนผิดหวังหรือไม่ ยืนยันว่าไม่เคย และเรือดำน้ำจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวังเช่นกัน”

แม้ผู้รับผิดชอบจัดหาเรือดำน้ำจะยืนยัน แต่ต้องดูท่าทีของ สตง. ว่าหลังจากเข้าฟังการชี้แจง นำเอกสารต่างๆมาตรวจสอบแล้วจะเทกแอ็คชั่นเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

ประเด็นที่ต้องการความชัดเจนคือก่อนการลงนามในสัญญาจัดซื้อกับจีน กองทัพเรือต้องรอผลตรวจสอบความคุ้มค่าด้านการใช้จ่ายงบประมาณจาก สตง. ก่อนหรือไม่ หรือว่าสามารถเซ็นได้เลยในระหว่างที่มีการตรวจสอบ

สำคัญไปกว่านั้นคือหลังจัดซื้อมาแล้ว สตง. จะไปตรวจสอบซ้ำเพื่อดูว่าเรือดำน้ำที่ได้มานั้นตรงตามสเปก คุ้มราคาที่จัดซื้อหรือไม่

ที่ผ่านมาเห็น สตง. จริงจังกับการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่นและของหลายหน่วยงาน โดยมีการตรวจสอบแบบรีเช็กว่าโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้วนั้นใช้วัสดุอุปกรณ์ถูกต้องตรงตามสเปกหรือไม่ สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างที่ให้เหตุผลในการจัดซื้อหรือไม่

อย่าตรวจแค่ตามหลักการทำหน้าที่ดูแค่ลักษณะของการทดสอบการใช้งบประมาณ บัญชีการจัดซื้อ ค่าใช้จ่ายต่อจากนี้ในการดูแล เพราะหากตรวจสอบแค่นี้ก็เท่ากับไปประทับตราถูกต้องช่วยกองทัพเรือรับรองการจัดซื้อ


You must be logged in to post a comment Login