- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์: พัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยผ่านรถไฟฟ้าความเร็วสูง
เว็บไซต์ประชาไทรายงาน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บรรยายวิชา TU101 พูดเรื่องการตัดสินใจแบบ System 1 VS System 2 แนะต้องคิดแบบ System 2 ใช้เหตุผลแทนอคติ ย้ำ “เวลามีค่าที่สุด” ชีวิตต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะทำอะไร เปรียบเหมือนเรียงหิน กรวด และทรายลงในโถ และสุดท้ายพูดเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไทยยังมีปัญหาเรื่องบริหารเวลาและคิดว่าประเทศอุดมสมบูรณ์จึงไม่ดิ้นรน รวมไปถึงยังมีอุปสรรคเรื่องทัศนคติ ความต่อเนื่องทางนโยบาย และการจัดงบประมาณ
พร้อมย้ำว่ารถไฟความเร็วสูงไม่ใช่ของวิเศษ หรือเครื่องมือเปลี่ยนประเทศฉับพลัน รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่เพชรนิลจินดาแต่เป็นเหมือนครกกับสากไว้ตำน้ำพริกสร้างมูลค่า หัวใจคือคนต้องพร้อม และต้องหาประโยชน์จากพวกโครงการเหล่านี้ให้ได้
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ที่ห้องบรรยาย SC1059 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม บรรยายพิเศษหัวข้อ “การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยผ่านการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ต้นทุนที่สูญเสียไประหว่างรถไฟฟ้ายังไม่ได้สร้าง” โดยการบรรยายเป็นส่วนหนึ่งของวิชา TU101 โลก อาเซียน และไทย
โดยเนื้อหาการบรรยาย หัวข้อแรกเป็นเรื่องการตัดสินใจ เนื้อหานำมาจากหนังสือ “Thinking, Fast and Slow” ผลงานของ Daniel Kahneman นักจิตวิทยาที่ได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2002 และ “The Art of Thinking Clearly” ผลงานของ Rolf Dobelli ชาวสวิส
ส่วนหนึ่งของสไลด์ประกอบคำบรรยายโดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติอธิบายการตัดสินใจ 2 ระบบ คือ System 1 คิดเร็ว และ System 2 คิดช้า ซึ่งการตัดสินใจแบบแรกจะเน้นความเร็ว ใช้จิตใต้สำนึก อัตโนมัติ ทำทุกวัน แต่มีโอกาสพลาดง่าย ส่วนการตัดสินใจแบบคิดช้า ต้องมีสติ ต้องตั้งใจ และการตัดสินใจประเภทนี้วันๆ หนึ่งจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่เป็นการติดสินใจที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ System 1 เร็ว สามารถทำได้พร้อมๆ กัน แต่การตัดสินใจประเภทนี้ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ส่วน System 2 ทำได้ช้ากว่า และเรามักรู้สึกขี้เกียจที่ต้องใช้การตัดสินใจแบบนี้ นอกจากนี้ยังทำได้ทีละอย่าง และเป็นการตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับเหตุผลด้วย ทั้งนี้ System 1 มีข้อจำกัดในการใช้ตัดสินใจ หากเรามีความลำเอียง (bias) หรือมีการรับรู้แบบผิดพลาด (illusion) มาเกี่ยวข้อง
โดยคนมักจะเลือกรับรู้เฉพาะข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อของตนเอง หรือ Confirmation Bias และเมื่อเราเจอกับประเด็นคำถามหรือปัญหาที่ซับซ้อนที่ต้องใช้ System 2 สมองของเรามักจะทดแทนคำถามหรือปัญหาที่ง่ายต่อการหาคำตอบโดยใช้ System 1 แทน หรือ Substitution Bias ทั้งนี้ชัชชาติเสนอด้วยว่า ที่สังคมไทยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจนก็เกิดจากการที่ผู้คนต่างใช้วิธีคิดอย่างมีอคติ มากกว่าจะคิดด้วยระบบเหตุผล
หัวข้อที่สอง คือเรื่องการบริหารเวลา ทั้งนี้ชัชชาติเสนอว่า เวลามีค่าที่สุด โดยแนะนำให้ดูภาพยนตร์ “Interview with the Vampire” มีแวมไพร (1994) เป็นเรื่องของผีแวมไพร์สองตัว ตัวแรกไม่กินเลือกมนุษย์ กินแต่เลือดหนู ทำให้ไม่มีแรง ส่วนอีกตัวฆ่าและกินแต่เลือดมนุษย์ ทำให้แข็งแรง และทั้งสองมาเจอกันและพูดคุยกัน มีแวมไพร์ตัวที่กินเลือกมนุษย์บอกว่า “God kills indiscriminately, and so shall we” โดยชัชชาติเปรียบว่า พระเจ้า (God) ก็คือเวลา เพราะ “เวลา ฆ่าอย่างไม่เลือกหน้า” เช่นกัน
อดีต รมว.คมนาคม ได้ยกคำสอนของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ที่ทรงมีคำสอนว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นทางแยก จะไปสูงไปต่ำ จะไปดีไปร้าย เลือได้ในชีวิตนี้เท่านั้น พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดี แล้วจงเลือกเถิด เลือกให้ดีเถิด”
ส่วนหนึ่งของสไลด์ประกอบคำบรรยายโดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นอกจากนี้ชัชชาติยังพูดการจัดความสำคัญของเวลา โดยชี้ให้เห็นว่าเวลามีความสำคัญ มีค่ามหาศาล มันไม่ใช่ของฟรี ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น โดยเปรียบชีวิตเหมือน โถแก้ว ซึ่งเป็นภาชนะรองรับของ 3 สิ่ง ได้แก่ หิน เหมือนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต กรวด เป็นสิ่งสำคัญรองลงมา และทราย คือสิ่งไม่สำคัญ หรือเรื่องไร้สาระ
ถ้าเอา 3 สิ่งเข้าไปใส่ในโถแก้ว โดยเราเอาทรายใส่เข้าไปก่อน เอากรวดใส่ สุดท้ายไม่มีเวลาให้หิน มันล้นแล้ว เหมือนเราบอกไม่มีเวลาอ่านหนังสือ เพราะใช้เวลาเล่นจดหมด แต่ถ้าเอาหินใส่ไปก่อน แล้วใส่กรวดตาม ก็สามารถเททรายแทรกเข้าไปได้เอง นี่คือการจัดลำดับความสำคัญในการใช้เวลา ก็จะได้ครบทั้ง 3 สิ่ง โดยไม่บ่นว่าไม่มีเวลาทำสิ่งสำคัญให้ชีวิตเลย ดังนั้น เราต้องกำหนดให้ได้ก่อนว่า หินของเราคืออะไร อะไรสำคัญในชีวิต กรวดคืออะไร ทรายคืออะไร
โดยชัชชาติ เปรียบว่าหินก่อนใหญ่ของเขาคือสุขภาพ ร่างกายเป็นจุดเริ่ม ถ้าร่างกายไม่ดีก็ไม่สามารถทำเพื่อครอบครัวและงานได้ แต่หินก้อนใหญ่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราแต่ละคนต้องออกแบบหินก้อนใหญ่ของเราให้ได้ก่อน ทั้งนี้ชัชชาติยังเปิดคลิปที่ได้รับจากไลน์แนะนำให้ผู้ฟังบรรยายให้ความสำคัญกับสุขภาพด้วย เพราะเวลาป่วยไม่สบาย ก็ไม่สามารถทำงานหรือหารายได้ใดๆ ได้เลย โดยชัชชาติแนะนำว่าตอนนี้เราอาจจะเห็นว่าไม่สำคัญเพราะอายุยังน้อย แต่ต้องทำให้เป็นนิสัย
นอกจากนี้ยังนำเสนอกิจวัตรประจำวันของเขา ที่ตื่นตั้งเวลา 03.50 น. เพื่อเปิดอีเมล์ ดูข่าว ดื่มกาแฟ เข้าห้องน้ำ จากนั้นในเวลา 04.30 น. จะต้องวิ่งออกกำลังกาย และเข้ายิม เวลา 06.00 น. จึงจะไปอาบน้ำ เตรียมตัวไปทำงาน ส่งลูกไปโรงเรียน ไปที่ทำงาน กลับบ้าน สอนการบ้านลูก อ่านหนังสือ โดยจะเข้านอนเวลา 22.00 น. และอาจจะมีงีบหลังกินข้าวนิดหน่อย
ทั้งนี้กิจวัตรประจำวันก็แสดงถึงหินก้อนใหญ่ กรวด และทรายของเรา ถ้าจัดเวลาให้ดี ชีวิตมีตารางเวลาก็จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
หัวข้อที่สาม ที่ชัชชาตินำเสนอเป็นเรื่องสิ่งปลูกสร้างและการพัฒนาประเทศ ชัชชาตินำเสนอว่า มูลค่าเวลานั้นมีตลอด เช่น การซื้อเครื่องบินราคา 15,000 ล้านบาท ก็มีค่าเสื่อม มีค่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป หากหักค่าเสื่อมทุกวันเป็นเวลา 20 ปี ก็จะพบว่าเครื่องบินมีค่าใช้จ่ายถึงวันละ 4.1 ล้านบาท หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงเฉพาะค่าก่อสร้างไม่รวมค่าเดินรถ มีมูลค่า 56,000 ล้านบาท หากคิดค่าเสื่อมราคา 30 ปี ก็จะมีมูลค่า 5 ล้านบาทต่อวัน
ชัชชาติ ตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมประเทศไทยมีปัญหาเรื่องบริหารเวลา? ข้อหนึ่งก็คือ เราไม่เห็นคุณค่าของเวลา เราคิดว่าประเทศอุดมสมบูรณ์ มีคำกล่าวว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แม้แต่หมาก็ไม่อดตาย รวมไปถึงเรื่องทัศนคติ ความเข้าใจ ความต่อเนื่องทางนโยบาย และงบประมาณแผ่นดิน ในขณะที่สิงคโปร์ต้องดิ้นรนอย่างมากหลังถูกมาเลเซียขับออกจากสหพันธรัฐ เพราะแม้แต่น้ำจืดก็ไม่พอ เวลา สำหรับเขาจึงสำคัญ
โดยกรณีของสิงคโปร์หลังถูกมาเลเซียขับออกมาตั้งประเทศใหม่ สิงคโปร์ซึ่งมีน้ำจืดไม่เพียงพอ จากที่ต้องพึ่งมาเลเซีย ปัจจุบันมีแหล่งน้ำ 4 แหล่ง 1. แหล่งกักเก็บน้ำ 2. โครงการ NEWater เอาน้ำใช้แล้วมาผ่านกระบวนการทำให้ใช้ได้ใหม่ ซึ่งเมื่อปีก่อนนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ก็โชว์ดื่มน้ำจากแหล่งนี้ 3. นำเข้าน้ำ และ 4. นำน้ำจากทะเลมากลั่น
“ถามว่าถ้าเขาไม่ยากลำบากแบบนี้ ชีวิตง่ายๆ เขาคงไม่ทำ ของเราก็ลุ้นกันว่าฝนจะแล้งไหม ถ้าไม่แล้งก็โชคดี ถ้าแล้งก็ประหยัดน้ำกัน แต่เรายังสบายกว่าเขาเยอะ ผมเชื่อเลยว่าเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของเวลา เพราะสบายเกินไป” ชัชชาติกล่าวตอนหนึ่ง
ชัชชาติยังเปรียบเทียบสิงคโปร์กับไทยในรอบ 10 ปี (ระหว่าง 2547-2556) ซึ่งชัชชาติเปรียบประเทศไทยว่าอยู่ใน “ทศวรรษที่สูญหาย” เพราะในรอบ 10 ปีนี้ซึ่งยังไม่ต้องนับ คสช. แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการรัฐประหาร คมช. มีรัฐบาล 7 รัฐบาล+คมช. มีพรรคการเมืองถูกยุบ 7 พรรค มีน้ำท่วมใหญ่ 1 หน จากเหตุทั้งหมดมีผู้เสียชีวิต 933 ราย บาดเจ็บ 2,200 ราย และเสียหายกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยที่ประเทศไทยไม่ได้ลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักใหม่ๆ ของประเทศเลย ขณะที่ในช่วง 10 ปีสำหรับสิงคโปร์ มีแผนก่อสร้าง Marina Bay เพื่อตั้งเป้าพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค
ส่วนหนึ่งของสไลด์ประกอบคำบรรยายโดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์
และเมื่อพิจารณาอันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประเทศไทยก็มีสภาพโครงสร้างพื้นฐานที่ได้อันดับย่ำแย่ลง จากอันดับ 49 ในปี 2555 ก็ลดลงไปอยู่อันดับ 61 ในปีถัดมา และล่าสุดในปี 2559 อยู่ที่อันดับ 72 และเมื่อพิจารณาทั้งเรื่องถนน รถไฟ ท่าเรือ และอากาศยาน จะพบว่า โครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟ มีอันดับถดถอยอย่างมาก จากอันดับ 57 ในปี 2554-2555 ไปอยู่อันดับ 77 ในปี 2559-2560
ชัชชาติยังนำเสนอระยะเวลาของโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอดีต ในอดีตของประเทศไทย นับตั้งแต่ศึกษาจนสร้างเสร็จ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ที่ปัจจุบันกลายเป็นท่าเรือหลักใช้เวลาสร้าง 30 ปี ปัจจุบันเป็นท่าเรือที่มีปริมาณสินค้าขนถ่าย 54% นับเป็นท่าเรือหลัก สนามบินสุวรรณภูมิใช้เวลา 45 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นประตูหลักที่นับท่องเที่ยว 74% เข้าสู่ประเทศไทย และสร้างรายได้กว่า 8.3 แสนล้านบาท
ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ญี่ปุ่นเริ่มคิดโครงการในปี 2493-2497 และทันใช้งานในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2507 ส่วนไทยเริ่มศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงมาตั้งแต่ปี 2537 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เกิดขึ้น ขณะที่จีนเดินรถไฟความเร็วสูงสายแรกปี 2546 เกาหลีใต้เดินรถปี 2547 และไต้หวันเดินรถปี 2550
โดยชัชชาติยังยกคำพูดของเขาในปี 2556 ที่ว่า “ปัญหาจริงๆ แล้วของเรา คือเราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเวลา เพราะเราคิดว่าเวลาคือ “ของฟรี” แต่ระยะเวลา “ไม่ฟรี” เวลาเป็นสิ่งที่แพงที่สุด”
ปัจจัยต่อมาคือเรื่อง “ทัศนคติ ความเข้าใจ” เช่นในช่วงที่เขาต้องไปชี้แจงที่ศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแนะนำว่า ต้องให้ถนนลูกรังหมดไปเสียก่อนนั้น ชัชชาติอธิบายว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น มีถนนลูกรังก่อน แล้วมีถนนลาดยาง คอนกรีต ไฮเวย์ ฯลฯ ตามลำดับของการพัฒนาประเทศ และถนนลูกรังก็ไม่ได้แปลว่าไม่ได้พัฒนา เพราะถนนลูกรังบางทีก็จำเป็นเพราะใช้ในการสัญจรของชุมชน หรือเป็นถนนที่ลงไปตามไร่นา
ชัชชาติกล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลปัจจุบันก็ยังคงดำเนินโครงการระบบรางต่อไป ไม่ได้รอให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน โดยระบบรถไฟความเร็วสูงช่วงแรกก็จะมีการก่อสร้าง 4 เส้นทาง ก็ยังทำอยู่แต่ระยะเวลาเลื่อนออกไป 4-5 ปี
อีกประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลไทยขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย โดยชัชชาติยกตัวอย่างแก้ไขจราจรในกรุงเทพฯ ว่าการใช้รถเมล์แก้ไขปัญหาจราจรก็น่าสนใจ เพราะสามารถกระจายตัวได้ทุกหย่อมหญ้า และใช้งบประมาณน้อย เมื่อเทียบกับการลงทุนระบบรางในเมือง แต่อย่างไรก็ตามนโยบายในรอบ 10 ปีของการพัฒนาระบบรถเมล์ก็ไม่มีความต่อเนื่องเชิงนโยบาย
สุดท้ายเรื่องงบประมาณ ประเทศไทยมีนโยบายในแต่ละปีจำกัด กรณีของคมนาคมในปี 2556 ใช้ประมาณแสนล้านบาทต่อปีจากงบทั้งหมด 2.4 ล้านล้านบาท เทียบกับสิงคโปร์ที่ใช้งบประมาณคมนาคมปีละ 1.4 แสนล้านบาท นอกจากนี้งบประมาณก็กระจุกอยู่กับเมืองหลวง ไม่ได้กระจายออกไปยังภูมิภาค ทั้งนี้การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ยังมีข้อจำกัด ในขณะที่ปัญหาจราจรมีความรุนแรงขึ้น ทั้งการจราจรติดขัด และปัญหาอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
ทั้งนี้ต้นทุนของการไม่ทำโครงสร้างพื้นฐานในวันนี้ก็คือ นอกจากเวลาลงทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ต้นทุนโครงการเพิ่มสูงขึ้น ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และเกิดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ
ช่วงสุดท้ายชัชชาติย้ำถึงการพัฒนาขนส่งทางราง เปรียบเทียบภาพขบวนรถไฟไทยและมาเลเซีย ที่สถานีปาดังเบซาร์ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียพัฒนาระบบรางอย่างมาก ทำความเร็วได้ 160 กม. ต่อชั่วโมง ขณะที่รถไฟไทยขาดการพัฒนาไปนาน ทั้งนี้เวลาผมไปพูดเรื่องรถไฟความเร็วสูง คนมักคิดว่าเป็นแหวนเพชรหรือของมีค่า ถ้ารถไฟความเร็วสูงมาถึงจังหวัดนั้นต้องเจริญ ต้องขอบอกว่าจริงๆ รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่เพชรนิลจินดา แต่เหมือนครกกับสาก คือเป็นเครื่องมือ ถ้าเราไม่ตำน้ำพริกก็ไม่เกิดมูลค่า หัวใจจึงไม่ใช่ครกกับสาก แต่หัวใจคือจะเอาครกกับสากไปตำน้ำพริกอย่างไรให้เกิดมูลค่า หัวใจของรถไฟความเร็วสูงคือ เราจะหาวัตถุดิบจากท้องถิ่นอย่างไร จะมีการตำน้ำพริกอย่างไร โดยอาศัยรถไฟความเร็วสูงเป็นเครื่องมือ และน้ำพริกที่ออกมาแต่ละจังหวัดต้องไม่เหมือนกัน มีน้ำพริกที่คนชอบในแต่ละบทบาทของจังหวัด รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่ของที่มีค่าในตัวมันเอง ต้องเอาไปทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม อย่าไปคิดว่าเป็นของวิเศษ มาถึงแล้วประเทศจะเปลี่ยนโฉมไม่ใช่เลย มันจะเปลี่ยนได้เราต้องหาเครื่องปรุงมา เราออกแรงตำมัน หาสูตรที่มีมูลค่าเพิ่มให้ ย้ำว่ารถไฟความเร็วสูงไม่ใช่ของวิเศษ หรือเครื่องมือเปลี่ยนประเทศ หัวใจคือคนต้องพร้อม และต้องหาประโยชน์จากพวกโครงการเหล่านี้ให้ได้
You must be logged in to post a comment Login