- อย่าไปอินPosted 4 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 23 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เส้นทางเทวดา / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
ชาวเมืองตำหนิติเตียนการสร้างทางรถไฟที่มีความยาว 96 เมตร ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 50 วินาที แต่ภายหลังกลับกลายเป็นเส้นทางรถไฟที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุดในโลก
สมัยปลายศตวรรษที่ 19 เขตบังเกอร์ฮิลเป็นย่านธุรกิจของเมืองลอสแอนเจลิส และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของบรรดาผู้มีอันจะกิน แต่สภาพภูมิประเทศบริเวณนี้เป็นเนินเขาสูง การเดินทางสู่อาคารที่พักบนเนินเขาต้องเดินเท้าบนทางลาดชันเท่านั้น
พันเอกเจมส์ เอ็ดดี้ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ในย่านนี้เช่นเดียวกัน วันหนึ่งหลานชายวัยรุ่นเปรยกับเขาว่า สำนักงานเทศบาลน่าจะสร้างทางรถไฟจากเชิงเขาขึ้นสู่ยอดเนินเขา การเดินทางจะสะดวกมากยิ่งขึ้น
เจมส์เห็นด้วยกับความคิดของหลานชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนร่ำรวย พวกเขาคงยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อความสะดวกสบายแลกกับการเดินขึ้นลงเนินเขาที่ลาดชัน
เจมส์ยื่นเรื่องขอสัมปทานสร้างทางรถไฟจากตีนเขาบริเวณหัวมุมถนนสายที่ 3 ตัดกับถนนฮิล ขึ้นสู่ยอดเนินเขาบังเกอร์ฮิล เป็นระยะทาง 96 เมตร ซึ่งเขาได้รับอนุญาตสัมปทาน 30 ปี โดยมีข้อแม้ว่าต้องสร้างบันไดทางขึ้นเนินเขาสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้บริการรถไฟ
รถไฟสายลาดเอียง
การก่อสร้างเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1901 ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ทางรถไฟลาดเอียงลอสแอนเจลิส” ซึ่งเป็นทางรถไฟรางคู่สำหรับรถไฟขบวนขึ้นเขา 1 ขบวน และลงเขา 1 ขบวน
รถไฟขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าติดสายเคเบิลผูกเชื่อมโยงรถไฟทั้งขบวนไว้ด้วยกัน มอเตอร์ไฟฟ้าจะหมุนสายเคเบิลดึงรถไฟขาขึ้นเคลื่อนสู่ยอดเนินเขา ขณะเดียวกันก็ผ่อนสายเคเบิลอีกข้างให้แรงโน้มถ่วงลากรถไฟขบวนขาลงมายังตีนเขา น้ำหนักของขบวนรถไฟขาขึ้นประกอบกับสายเคเบิลที่ผูกกับมอเตอร์ไฟฟ้าจะรั้งให้รถไฟขาลงมีความเร็วสัมพันธ์กับขบวนขาขึ้น
รถไฟทั้ง 2 ขบวนไม่มีระบบเบรก แต่จะมีสายเคเบิลสำรองกรณีที่สายเคเบิลหลักเกิดความเสียหาย เจมส์สร้างบันไดคอนกรีต 123 ขั้นขนานกับทางรถไฟ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจ่ายเงิน 1 เซ็นต์ต่อการโดยสารรถไฟ 1 เที่ยว
รถไฟบรรทุกผู้โดยสารได้ 32 คนต่อขบวน เดินทางจากตีนเขาสู่ยอดเขาใช้เวลา 50 วินาที การเป็นทางรถไฟสายสั้นที่สุดในโลกด้วยระยะทางเพียง 96 เมตร ทำให้ทุกระยะทางเดินรถมีผู้โดยสารเต็มขบวนตลอดเวลา จึงได้รับการบันทึกว่าเป็นรถไฟสายที่มีจำนวนผู้โดยสารต่อระยะทางมากที่สุดในโลก 50 ปีแรกของการให้บริการ รับส่งผู้โดยสารมากกว่า 100 ล้านคน
สร้างมูลค่าเพิ่ม
เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการรถไฟลาดเอียง เจมส์สร้างหอคอยชมวิวความสูง 100 ฟุต บริเวณสถานีปลายทางบนบังเกอร์ฮิล ตั้งชื่อว่า Angels Rest เพื่อให้นักท่องเที่ยวชมทิวทัศน์รอบๆเมืองจากที่สูง และทำห้องมืดเจาะรูที่ผนังด้านหนึ่งให้แสงลอดเข้ามาปรากฏเป็นภาพเมืองหัวกลับบนกำแพงอีกด้านหนึ่ง
รถไฟลาดเอียงเปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด เดินรถวันละ 400 เที่ยวต่อขบวน สถานีตีนเขามีซุ้มต้อนรับผู้โดยสารเขียนข้อความว่า “Angels Flight” หรือเรียกว่า “เส้นทางเทวดา” ก็คงจะพอได้
ที่นั่งในตู้โดยสารออกแบบให้เป็นขั้นบันไดเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งได้โดยไม่ตกเก้าอี้เพราะความลาดเอียง อุบัติเหตุรถไฟตกรางเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1913 สาเหตุเกิดจากกว้านดึงสายเคเบิลกระตุก ทำให้ล้อรถไฟบางล้อหลุดออกจากราง แต่ขบวนรถไฟยังคงทรงตัวอยู่บนรางได้ ผู้โดยสารทุกคนปลอดภัย นอกจากผู้หญิงคนหนึ่งที่ตกใจกระโดดออกจากรถไฟตกลงมาที่พื้นได้รับบาดเจ็บกระดูกไหปลาร้าหัก
เจมส์ขายกิจการรถไฟลาดเอียงให้กับบริษัทเงินกู้แห่งหนึ่งในปี 1912 หลังจากนั้นได้ถูกเปลี่ยนมือไปอีกหลายครั้ง ปี 1938 สำนักงานเทศบาลสั่งให้รื้อหอคอยชมวิวเนื่องจากเกรงว่าจะพังครืนลงมา ปี 1962 รถไฟลาดเอียงถูกประกาศให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
มีเกิดมีดับ
หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 คนร่ำรวยในย่านบังเกอร์ฮิลเริ่มย้ายออกจากบังเกอร์ฮิลไปสร้างคฤหาสน์แถวชานเมือง อาคารหลังเก่าที่ทรุดโทรมกลายเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นล่าง บังเกอร์ฮิลที่เคยรุ่งเรืองในอดีตกลายสภาพเป็นสลัม
ปี 1969 สำนักงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีมติให้รื้อถอนอาคารหลังเก่าบนบังเกอร์ฮิลเพื่อสร้างตึกสูง ส่งผลให้ทางรถไฟสายลาดเอียงต้องถูกรื้อไปด้วย แต่หลังจากถูกชาวเมืองกดดันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดปี 1996 สำนักงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็อนุมัติให้สร้างทางรถไฟสายลาดเอียงบนที่เดิมอีกครั้ง
ระยะทางใหม่ถูกหดสั้นลงเหลือ 91 เมตร แต่ความลาดชันยังคงเท่าเดิม ทำมุมประมาณ 33 องศา ตู้รถไฟทั้ง 2 ขบวนยังคงใช้ของเดิม แต่นำมาพ่นสีใหม่ ระบบขับเคลื่อนถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ติดตั้งระบบเกียร์และเบรกให้กับรถไฟทั้ง 2 ขบวน ค่าโดยสารถูกปรับขึ้นเป็นเที่ยวละ 5 เซ็นต์
ปี 2001 เกิดโศกนาฏกรรม สายเคเบิลเส้นหนึ่งขาดและระบบเบรกไม่ทำงาน ทำให้รถไฟขาขึ้นลื่นถอยหลังลงมากระแทกกับรถไฟขาลงที่ตีนเขา ผู้โดยสารวัย 83 ปี เสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 8 คน
จากการสืบสวนพบว่าบริษัทติดตั้งระบบขับเคลื่อนรถไฟเจ้าเดียวกันนี้เคยติดตั้งกระเช้าไฟฟ้าและเกิดอุบัติเหตุแบบเดียวกันนี้ ทำให้นักเล่นสกีคนหนึ่งเสียชีวิต อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้สำนักงานเทศบาลสั่งปิดให้บริการรถไฟลาดเอียงอีกครั้ง
ปี 2010 รถไฟลาดเอียงถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ค่าโดยสารถูกปรับขึ้นเป็นเที่ยวละ 50 เซ็นต์ ต่อมาในปี 2013 เกิดอุบัติเหตุรถไฟตกราง แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ สำนักงานเทศบาลจึงสั่งระงับการให้บริการเพื่อปรับปรุงระบบทั้งหมดจนกว่าจะมั่นใจว่ามีความปลอดภัย และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอีกครั้งได้ในวันที่ 4 กันยายน 2017
You must be logged in to post a comment Login