- เรื่องยังไม่จบPosted 24 hours ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
เรือดำน้ำไทย / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ความจริงเรือดำน้ำเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของมนุษยชาติตั้งแต่ครั้งโบราณที่สร้างยานที่ดำลงไปใต้พื้นน้ำ แต่ความก้าวหน้ามาพัฒนาสมัยที่อังกฤษขยายอำนาจเป็นจักรวรรดินิยมทางทะเล มีการค้นคว้าหาวิธีสร้างสำเร็จครั้งแรกใน ค.ศ. 1775 เรียกว่า “เตอร์เติล” เป็นยานขนาดเล็กใช้แรงมนุษย์ดำในน้ำ มีผู้โดยสาร 2 คน
ตั้งแต่ ค.ศ. 1863 อังกฤษเริ่มประดิษฐ์เรือดำน้ำที่ใช้เครื่องยนต์ นำมาสู่การสร้างเรือดำน้ำด้วยเป้าหมายทางการทหาร จนกระทั่งกลายเป็นอาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) โดยฝ่ายเยอรมนีสร้างเรือดำน้ำเรียกว่าเรืออู ประมาณว่าตลอดสงครามเรือดำน้ำเยอรมนีจมเรือฝ่ายสัมพันธมิตรได้มากกว่า 5,000 ลำ หลังจากนั้นเรือดำน้ำถือเป็นอุปกรณ์สงครามที่สำคัญในสงครามขนาดใหญ่ ซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการสู้รบด้วยเรือดำน้ำอย่างมาก แต่ข้อสังเกตคือสงครามที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ไม่มีสงครามเรือดำน้ำอีก และไม่น่ามีสงครามเรือดำน้ำระหว่างมหาประเทศได้ เพราะมหาประเทศนำเรือดำน้ำไปติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์
สำหรับสังคมไทยเมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ กลุ่มเจ้านายที่ไปศึกษาวิชาทหารจากต่างประเทศสนใจเรื่องเรือดำน้ำ โดยมีรายงานว่า กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร และพระยาราชวังสัน เสนอแผนให้กองทัพสยามมีเรือ ส. (สับมะรีนหรือเรือดำน้ำ) ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 6 แต่มีปัญหาหลายประการ จนกระทั่งหลังปฏิวัติ พ.ศ. 2475 กองทัพเรือจึงตกลงสร้างเรือดำน้ำ 4 ลำ จากอู่ต่อเรือมิตซูบิชิโกเบ ประเทศญี่ปุ่น และรับมอบ 2 ลำแรกวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2480 คือ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ ส่วนอีก 2 ลำคือ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงครามและถูกยุบกองทัพ ทำให้ไม่มีอะไหล่เรือดำน้ำไทย ยิ่งกว่านั้นไม่มีภาวะสงครามทางทะเล แต่เกิดปัญหาสำคัญคือ กรณีแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 รัฐบาลฝ่ายคณะรัฐประหารถือโอกาสปราบปรามกองทัพเรือแล้วให้ฝ่ายทหารบกเข้าควบคุม หมวดเรือดำน้ำถูกยุบวันที่ 16 กรกฎาคม เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำถูกปลดระวางขายซากให้บริษัทปูนซีเมนต์ หลังจากนั้นกองทัพเรือไทยก็ไม่มีเรือดำน้ำอีกเลย
จนกระทั่งการรัฐประหาร คสช. ซึ่งสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกค่อนข้างสงบ ไทยกับเพื่อนบ้านอาเซียนก็เป็นมิตรประเทศในรูปแบบประชาคมแห่งความร่วมมือระดับภูมิภาค มีการค้าขายแลกเปลี่ยนในระดับสูง ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกนอกจากบริเวณตะวันออกกลางแล้วแทบจะไม่มีสงครามเกิดขึ้นเลย แต่กองทัพเรือไทยกลับทำเรื่องขอจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยอธิบายว่ามีแผนจะซื้อเรือดำน้ำมาแล้วถึง 20 ปี หรือตั้งแต่ พ.ศ. 2540 แต่ล้มเหลวมาตลอดด้วยปัญหางบประมาณและการเมือง ครั้งนี้เมื่อเป็นรัฐบาลทหารปกครองและไม่มีรัฐสภาจากการเลือกตั้งมาซักถาม จึงเป็นโอกาสดีที่จะขออนุมัติซื้อ โดยเปิดให้บริษัทอาวุธต่างประเทศเสนอข้อมูล 5 ประเทศคือ รัสเซีย จีน สวีเดน เกาหลีใต้ และเยอรมนี ในที่สุดก็เลือกจีนเพราะเงื่อนไขดีที่สุด และเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อนุมัติการจัดซื้อของกองทัพเรือ
เรือดำน้ำรุ่นที่จะซื้อคือ เอสที-26 พลังดีเซล มีระบบเอไอพีที่จะช่วยให้เครื่องยนต์ไม่พึ่งพาออกซิเจน ทำให้ดำน้ำได้นานมากขึ้น ไม่ต้องเติมออกซิเจนที่ผิวน้ำ มีระบบตอร์ปิโดที่หลากหลายและรุนแรง จีนซื้อเทคโนโลยีนี้มาจากสวีเดนแล้วนำมาพัฒนา กองทัพเรืออธิบายว่า ราคาที่ซื้อจากจีน 36,000 ล้านบาท 3 ลำ หากซื้อจากประเทศอื่นได้เพียง 2 ลำ ทั้งยังเป็นเรือขนาดใหญ่กว่า จีนยังเสนอแพ็กเกจคือถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนให้ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทหารเรือไทย พร้อมแถมอาวุธไว้ใช้งานอีก จีนรับประกันการดูแลรักษาหลังส่งมอบเป็นระยะเวลา 2 ปี และรับเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุดในวงรอบ 8 ปี
แต่กระนั้นโครงการซื้อเรือดำน้ำก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกระแสสังคม ตั้งแต่เรื่องการอนุมัติที่ไม่มีการแถลงข่าวให้ทราบ โดยอ้างเอกสารกำหนดชั้น “ลับมาก” ประเด็นสำคัญที่ถูกโจมตีมาตลอดคือราคาสูงมาก ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและรัฐบาลมีปัญหาการคลัง และยังมีข้อระแวงเรื่องค่าหัวคิวการจัดซื้อและการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสงสัยเรื่องคุณภาพสินค้าจีน เพราะที่ผ่านมาอาวุธที่ซื้อจากจีนมักมีปัญหาจำนวนมาก เช่น ร.ล.นเรศวร พบว่าระบบการประกอบเรือไม่ดี ผุเร็วมาก สายไฟที่ใช้เสื่อมเร็ว ความเข้ากันกับระบบอาวุธกับเรือลำอื่นก็มีปัญหาจนวิตกเรื่องคุณภาพ อีกข้อท้วงสำคัญคือเรื่องเชิงเทคนิคที่คลุมเครือ เช่น อ่าวไทยมีระดับน้ำเฉลี่ยเพียง 58 เมตร เรือดำน้ำไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพในภาวะสงคราม การซื้อเรือผิวน้ำน่าจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองอ่าวไทยมากกว่า และราคาถูกกว่า
วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ได้แถลงข่าวยืนยันว่า การซื้อเรือดำน้ำเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศเพื่อพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล กองทัพเรือไทยต้องซื้อเรือดำน้ำ เพราะเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มีเรือดำน้ำกันแล้ว และพม่าก็กำลังอยู่ระหว่างการจัดซื้อ “สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอน การใช้กำลังทหารจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ไทยจำเป็นต้องมีหลักประกัน”
พล.ร.อ.ลือชัยยังอธิบายว่า การที่ไม่มีเรือดำน้ำมา 60 ปี ทำให้กองทัพเรือสูญเสียขีดความสามารถอย่างสิ้นเชิงทั้งองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของกำลังพล การซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้จึงจำเป็น
สำหรับงบประมาณมหาศาลในภาวะเศรษฐกิจประเทศกำลังฝืดเคืองนั้น เสนาธิการทหารเรืออธิบายว่า ไม่ได้เบียดบังงบกระทรวงและกรมอื่น เป็นงบข้ามหลายปี และไม่ได้จ่ายทั้งหมดครั้งเดียว กำหนดชำระเป็นงวด ทั้งย้ำว่าอาวุธที่ได้มาไม่จำเป็นว่าต้องเอาไปรบ แต่เป็นอาวุธเชิงป้องปราม “ให้เขาเกรงใจ” การจัดซื้อก็ไม่มีผลประโยชน์ค่าน้ำร้อนน้ำชามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการจัดซื้อในรูปแบบรัฐต่อรัฐ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
ในความเห็นของผู้เขียน ปัญหาที่จะต้องทบทวนอย่างเป็นจริงคือ เรื่องยุทธศาสตร์กระทรวงกลาโหมทั้งหมดที่วางรากฐานอยู่บนแนวคิดเรื่องความมั่นคงแบบเก่าที่มีสมมุติฐานให้เพื่อนบ้านเป็นศัตรูไว้ก่อน จึงทำให้ต้องมีกองทัพขนาดใหญ่และมีอาวุธจำนวนมากเพื่อการป้องปราม คำถามคือ แนวคิดแบบนี้ล้าสมัยหรือไม่ในโลกยุคดิจิตอลปัจจุบัน อย่างน้อยการซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ก็เป็นการสะท้อนการสิ้นเปลืองงบประมาณในยุทธศาสตร์โบราณเช่นนี้
You must be logged in to post a comment Login