วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

#สมแล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา / โดย ทีมข่าวการเมือง

On May 8, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“การซื้อที่ผ่านมาต้องชี้แจง สตง. หลายเรื่อง ทำไมไม่ซื้ออันที่ดีกว่า ก็บอกว่าไม่มีเงิน คุณสมบัติเราเอาแค่นี้ เขารับแค่นี้ เขาก็โอเค ก็มองได้ว่าทุจริตหรือไม่ แต่ถ้ามองว่าซื้อของมาห่วยคงไม่ใช่ ไม่มีใครเอาชีวิตผู้ใต้บังคับบัญชาไปเสี่ยง ถ้าไม่ปลอดภัยคนอยู่บนเรือจะทำอย่างไร ทหารเรือต้องการมีศักยภาพทางทะเล สอดคล้องกับการพัฒนาภูมิภาค จะบอกว่าสั่งสมอาวุธ เขาสร้างเยอะกว่าเราไปแล้ว นอกจากนี้ไม่ได้เอาเงินดูแลผู้มีรายได้น้อยมาซื้อ ทางนู้นเราทุ่มเต็มที่แล้ว ส่วนนี้เป็นของเขา แล้วทำให้ประเทศเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุน สรุปว่าเราต้องจมกับสิ่งที่มันแก้ปัญหาไม่ได้ตลอดด้วยการทุ่มเงินทั้งหมดเหรอ ไม่ใช่ อยู่ที่การปรับโครงสร้าง ขจัดอุปสรรค เน้นแนวทางประชารัฐ นั่นด้านคน ความมั่นคงเป็นอีกเรื่อง ความมั่นคงกับเศรษฐกิจแยกกันไม่ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องเรือดำน้ำ”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจง (2 พฤษภาคม) หลังจากกองทัพเรือชี้แจงการจัดซื้อเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จากจีน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท ซึ่งไม่มีประเทศไหนนำยุทโธปกรณ์มาตีแผ่แบบนี้ ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณก็ทำตามขั้นตอนทุกประการ กว่าจะซื้อได้ต้องกลั่นกรองมากมาย ยุทธศาสตร์กองทัพเรือ 20 ปีต้องการอะไรบ้าง ทดแทนของเก่าหรือของใหม่ที่ยังไม่มี มีคณะกรรมการกำหนดลักษณะยุทโธปกรณ์ก่อนนำไปสู่คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง หลังจากนั้นจึงมีบริษัทต่างๆเข้ามาร่วมประกวดราคา ดูคุณสมบัติผ่านหรือไม่ ผู้เสนอราคาต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายสงสัยเรื่องทุจริตโดยยืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างขั้นตอนต่างๆมีข้อสังเกตจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตลอดเกือบทุกเรื่อง มีการชี้แจงตอบคำถามต่างๆ เมื่อไม่มีปัญหาจึงซื้อได้ ไม่ใช่ไม่มีการตรวจสอบ แต่เปิดเผยมากนักไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องคุณสมบัติ

ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์กองทัพเรือ

ก่อนหน้านี้คือวันที่ 1 พฤษภาคม บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ฐานทัพเรือสัตหีบ ชลบุรี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ พร้อมคณะ ชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำ yuan class S26T โดยยืนยันว่า กองทัพเรือต้องปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท และสินค้านำเข้า ส่งออกร้อยละ 95 ต้องใช้เส้นทางคมนาคมทางทะเล กองทัพเรือจึงต้องประเมินยุทธศาสตร์ของกองทัพเรืออย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ การจัดหาเรือดำน้ำไม่ใช่ความต้องการของกองทัพเรือเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นของชาติ เป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ของประเทศ อาวุธทางยุทธการของกองทัพไทย และอาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพเรือ ซึ่งวิเคราะห์เเล้วว่าเรือดำน้ำเป็นอาวุธที่ตอบโจทย์การคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาลและความมั่นคงทางทะเล

การดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำมีมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอบริษัทผู้ผลิต 6 ประเทศ บางประเทศให้เฉพาะตัวเรือ ไม่ให้ระบบอาวุธ บางประเทศให้ทั้งตัวเรือและระบบอาวุธ แต่ราคาสูงและอะไหล่การซ่อมบำรุงแพงมาก บางประเทศไม่สนับสนุนการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ กองทัพเรือพิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบ โดยยึดหลักการจัดหายุทโธปกรณ์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.ขีดความสามารถและความพร้อมตามความต้องการ 2.ความต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน และ 3.ความสามารถในการจ่าย ซึ่งข้อเสนอของจีนตอบโจทย์ตามหลักการมากที่สุด ทั้งการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐยังลดความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลกำกับดูแลและติดตามได้อย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนทั้งจากส่วนกลางและภาคส่วนต่างๆเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ยังไม่ยุติข้อครหา “ใบสั่ง”

แม้ผู้นำรัฐบาลและกองทัพเรือจะยืนยันว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้มีความโปร่งใสทุกขั้นตอน แต่ยังมีการตั้งคำถามว่าทำไม ครม. ต้องทำอย่างเร่งรัดและเป็นเรื่อง “ลับสุดยอด” ขณะที่ก่อนหน้านี้ “สำนักข่าวอิศรา” ได้อ้างแหล่งข่าวในกองทัพว่ามี “ใบสั่ง” จาก “ผู้มีอำนาจ” ให้เลือกเรือดำน้ำจากจีน เห็นได้จากเอกสารเชิญชวนที่กองทัพเรือส่งไปยังบริษัทต่างๆ หรือ Request for Offer ระบุความต้องการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้อย่างชัดเจนว่าต้องการเพียง 2 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท ซึ่งจีนก็ทราบดีว่าถ้าเทียบตัวต่อตัว เรือดำน้ำจีนไม่สามารถสู้เรือชาติอื่นได้ โดยเฉพาะยุโรป จึงต้องสู้ด้วยจำนวนที่มากกว่า

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเรื่องนี้ (1 พฤษภาคม) ว่า สั่งอย่างไร ใครสั่ง พูดกันเองทั้งนั้น ถามว่าใครจะมาสั่งได้ กองทัพเรือมีคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง 40-50 คน ถ้าจะเอาก็เอา ไม่เอาก็ไม่เอา ถ้าไม่เอาแล้วจะเอาคุณสมบัติของเรือดำน้ำแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกันได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่มีใครสั่ง ตนและนายกฯก็ไม่ได้สั่ง แต่โดยส่วนตัวอยากให้มีเรือดำน้ำ ดังนั้น การจัดซื้อเรือดำน้ำเราได้ของดีมีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อกองทัพมากที่สุด

ผูกพันงบส่อขัดกฎหมาย

อีกประเด็นที่กำลังถูกจับตามองคือ การก่อหนี้ผูกพันข้ามปี 11 ปีของการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ที่ พล.อ.ประวิตรบอกว่าซื้อลำแรกก่อน ส่วนลำที่ 2 และ 3 ขึ้นอยู่กับรัฐบาลในอนาคต หากไม่อนุมัติให้จัดซื้อ กองทัพเรือก็จะนำงบประมาณไปทำอย่างอื่นนั้น นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินการคลัง ระบุว่า มติ ครม. วันที่ 18 เมษายนที่เห็นชอบผูกพันงบประมาณข้ามปีการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่ว่าลำแรกหรือทั้ง 3 ลำ น่าจะขัดหรือแย้งกับมาตรา 23 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ที่เขียนไว้ว่า

“เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมแล้วแต่กรณีใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงบประมาณรวบรวมรายการงบประมาณรายจ่ายซึ่งจะต้องก่อหนี้ผูกพัน และวงเงินที่คาดว่าจะต้องก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อๆไป พร้อมทั้งจำนวนเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ และเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจดำเนินการตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”

นายปรีชาอธิบายว่า หลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีกำหนดให้มีเงื่อนเวลาจำกัด คือต้องก่อหนี้ผูกพันภายใน 60 วัน หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ กรณีงบปี 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ครม. ต้องอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีภายใน 60 วัน เพราะฉะนั้นการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำวันที่ 18 เมษายนจึงทำไม่ได้ เพราะล่วงเลย 60 วัน มติ ครม. จึงไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายหรือน่าจะเป็นโมฆะ

“งบผูกพันข้ามปีจะต้องตั้งวงเงินรองรับไว้เป็นปีๆ จึงต้องเร่งทำ และแต่ละปีจะมีวงเงินกำกับไว้ทั้งหมด สำหรับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ เอกสารงบประมาณระบุชัดว่าจะผูกพันงบประมาณข้ามปี 6 ปีงบประมาณ คือผูกพันถึงปี 2566 ไม่ตรงกับที่ พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ว่าจะผูกพันถึง 11 ปีงบประมาณ” นายปรีชาระบุ

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ?

สำนักข่าวอิศราเผยแพร่รายงาน (30 เมษายน) ในหัวข้อว่า “เปิดตัวเบื้องหลังความสำเร็จแห่งการ “ดำ” อย่างโปร่งใส” โดยระบุตอนหนึ่งว่า ผู้วางแผนได้กำหนดลำดับเหตุการณ์โดยใช้เงื่อนไขด้านเวลาและข้อผูกพันของสัญญาว่า อย่างไรเสียโครงการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเริ่มต้นขึ้นอย่างแน่นอน (ส่วนอนาคตค่อยว่ากันอีกที)?

นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรายังระบุว่า นายสันติ อำนวยพล และนายชินะวัฒน์ อำนวยพล ตัวแทนบริษัท ณัติพล จำกัด ที่เป็นตัวกลางของบริษัท CSOC ขายเรือดำน้ำจีนให้กองทัพเรือนั้น เป็นหนึ่งในบริษัทตัวแทนขายลูกปืนรายใหญ่ให้กับกองทัพ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2516 ทุน 3 ล้านบาท ประกอบธุรกิจให้เช่าอาคาร รับเหมาก่อสร้างอาคาร ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นายอาณัติ อำนวยพล และนางเทพินทร์ ทัฬหิกรณ์ โดยนายอาณัติเคยทำธุรกิจร่วมกับบริษัท สหศรีชัยก่อสร้าง จำกัด ของนายบรรหาร ศิลปอาชา นายสมบัติ พานิชชีวะ เจ้าของดอนเมืองโทลล์เวย์ และนายทหารระดับสูงคนหนึ่ง เคยขายกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. จำนวน 17,086,473 นัด วงเงิน 188 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 (ข้อมูลจาก : เจาะลึกกองทัพ! บริษัทค้าอาวุธและธุรกิจการทหารในประเทศไทย) ในวันที่ 15 ธันวาคม 2555 นายอาณัติได้บริจาคเงินจำนวน 2 ล้านบาท ให้กับมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดย พล.อ.ประวิตรประธานกรรมการมูลนิธิเป็นผู้รับมอบ

โปร่งใส-ตรวจสอบได้?

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้แถลงการณ์เรื่อง “ถามกองทัพเรือกรณีชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำว่า จัดหาอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรวจสอบได้อย่างไร?” โดยตั้งคำถามถึงการชี้แจงของกองทัพเรือว่า “โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรวจสอบได้” นั้นใครๆก็พูดได้ จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ซึ่งไม่ใช่คนของกองทัพ แต่เป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานยุติธรรม และองค์กรอิสระที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งในรัฐบาลชุดนี้ ดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นไปตามกฎหมาย โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม จริงหรือไม่?

ในแถลงการณ์ยกตัวอย่างการแถลงข่าวของกองทัพเรือว่านำเสนอข้อมูลด้านเดียว แต่ไม่พูดถึงข้อด้อยให้คนไทยเจ้าของภาษีทราบอย่างแท้จริง หรือกรณี พล.อ.ประวิตรพูดว่า “ซื้อสองแถมหนึ่ง” เป็นการโกหกหรือไม่ การจัดซื้อครั้งนี้มีผลต่อการนำเงินไปแก้ไขปัญหาของประชาชนที่จำเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การศึกษา การพยุงราคาผลิตผลทางการเกษตร ฯลฯ การตั้งงบประมาณผูกพันขัดมาตรา 28 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 หรือไม่ อย่างไร ทำไมไม่เปิดเผยข้อมูลการกำหนด TOR และรายละเอียดข้อเสนอของแต่ละประเทศที่ยื่นมา ซึ่งไม่ใช่ชั้นความลับทางความมั่นคง คณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ 22 คนเป็นใครบ้าง สาธารณชนจะได้ให้ สตง., ป.ป.ช., หรือ ปปง. ตรวจสอบสถานะในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อความโปร่งใส

“ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์-ประวิตร” โต้กันนัว

หลัง ครม. ยอมรับว่าอนุมัติให้ซื้อเรือดำน้ำจากจีนจริงแต่ถือเป็นเรื่องลับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาติงถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสมว่า ต้องคำนึงถึงเม็ดเงินที่มีจำกัด ฝ่ายบริหารต้องพิจารณาว่าจะใช้อะไรเป็นอย่างแรก เพราะทราบว่ารัฐบาลมีความจำเป็นถึงขนาดจะยอมยกเลิกโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค แต่กลับไปซื้อเรือดำน้ำ ตรงนี้ควรต้องพิจารณาว่าอะไรเร่งด่วนกว่ากัน และอะไรคือความคุ้มค่าในภาวะเช่นนี้ ทั้งการนำเข้าพิจารณาใน ครม. ไม่ควรเป็นลักษณะวาระลับ เพราะเรื่องนี้ประชาชนติดตามกันทั้งประเทศ

การออกมาแสดงความคิดเห็นของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตอบโต้ว่า นโยบายรับจำนำข้าวสร้างความสูญเสียให้ประเทศต้องเป็นหนี้ ต้องชดใช้จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตรก็กล่าวถึงอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ว่า โครงการรับจำนำข้าวเสียหายไปกี่แสนล้าน แต่เรือดำน้ำซื้อหมื่นกว่าล้าน ถ้าเอาเงินที่เสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวมาซื้อเรือดำน้ำจะซื้อได้ประมาณ 50 ลำ เสียเงินไปแต่ได้ดูแลทรัพยากร และกองทัพก็เข้มแข็ง อย่ามาพูดบ้าๆบอๆหรือตั้งข้อสังเกตว่าผู้มีอำนาจสั่งล็อกสเปกจากจีนนั้น ก็เป็นแค่หมาเห่า ไม่รู้ว่ามันเห่าใคร

ล่าสุดอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ข้อความตอบโต้อีกครั้งว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดซื้อเรือดำน้ำโดยใช้วาระลับ ไม่มีการเปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือสาธารณชนร่วมตรวจผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องมีภาระคำนึงถึงความจำเป็น ความเหมาะสม ความคุ้มค่า และการเปรียบเทียบราคาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทางราชการและประเทศชาติ และยังเป็นการใช้ภาระงบประมาณสูง ผูกพันหลายปีงบประมาณจนเป็นภาระหนี้ให้กับรัฐบาลถัดๆไป ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ต้องมาผ่อนชำระชดใช้หนี้ต่างๆในระบบการเงินการคลังของประเทศนั้น ถือเป็นการให้ร้ายต่อรัฐบาลดิฉัน ทั้งที่ดิฉันก็อยากจะบอกว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ประเทศเสียหาย ก็น่าจะเทียบได้กับการจัดซื้อรถถังและเรือดำน้ำ แถมยังมีแผนจะจัดซื้อเพิ่มเติมในอนาคตอีก

ดิฉันขอยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นการนำเงินทุกบาททุกสตางค์โอนผ่าน ธ.ก.ส. จ่ายถึงมือชาวนาโดยตรง ซึ่งมีผลทำให้ชาวนาได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก เศรษฐกิจดีขึ้น แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศมาถึง 3 ปีแล้ว ยังพบปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องแก้ไขถึงขั้นจะยกเลิกโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ดูแลสุขภาพประชาชนและปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ แต่กลับใช้เงินงบประมาณไปกับการซื้อรถถัง เรือดำน้ำ ซึ่งในอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องซื้ออีกกี่ลำถึงจะสามารถป้องกันประเทศได้ ทั้งๆที่อ่าวไทยนั้นตื้นเขิน และยังต้องคำนึงถึงปัญหาเทคนิคด้านประสิทธิภาพที่ยังไม่เป็นข้อยุติ และประเทศก็อยู่ในสภาวะปรกติที่ยังไม่มีภัยคุกคามจากเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ข้ออ้างของการจัดซื้อเพื่อใช้ดูแลทรัพยากรชายฝั่งก็คงไม่จำเป็นต้องใช้เรือที่มีราคาแพงขนาดนี้ อย่างนี้ไม่รู้ว่าท่านในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารเลือกที่จะให้น้ำหนักความมั่นคงหรือปากท้องของประชาชนกันแน่ โดยเฉพาะภายใต้การบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐและแผนยุทธศาสตร์ชาติซึ่งยังร่างไม่แล้วเสร็จ ก็หวังว่าปัจจุบันรัฐบาลนี้อยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ควรจะปฏิบัติตาม

ดิฉันหวังว่าหน่วยงานราชการทั้ง สตง. และ ป.ป.ช. จะไม่ละเลยอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ โดยเข้ามาตรวจสอบให้เข้มข้นเหมือนกับที่เคยทำกับรัฐบาลพลเรือนในอดีต โดยไม่เลือกปฏิบัติและมีความเท่าเทียมกัน และไม่ควรมีการอ้างเรื่องชั้นความลับของทางราชการแต่อย่างใด เพราะหลายครั้งที่ผ่านมาก็มีข้อคิดเห็นหรือทักท้วงข้อเสนอแนะมาโดยตลอด ทั้งทางเทคนิค ด้านประสิทธิภาพ ความเหมาะสมกับการใช้งานในการดูแลความมั่นคง รวมถึงภาระหนี้ที่จะเกิดในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วย”

สื่อตั้งคำถามเรือดำน้ำจีนดีจริงหรือไม่?

ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของเรือดำน้ำจีนดีจริงและคุ้มค่าหรือไม่นั้น ข้อมูลจากรายการ “ล่าความจริง” ของสถานีโทรทัศน์ NOW26 ระบุว่า ขนาดเรือดำน้ำของจีนมีความยาวถึง 77.7 เมตร และกว้าง 8.6 เมตร ระวางขับน้ำ 3,200 ตัน ถือว่ามีขนาดใหญ่มากและเหมาะกับภารกิจที่มีระดับน้ำลึก 60 เมตรขึ้นไป ซึ่งสวนทางกับยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือที่เคยระบุว่าต้องการเรือดำน้ำขนาดชั้นเดียวที่มีระวางขับน้ำ 1,000 ตันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 2,000 ตัน พร้อมตอร์ปิโดและระเบิดนำวิถี

ส่วนระบบ AIP ของเรือดำน้ำจีนที่ระบุว่าดำน้ำได้นานถึง 21 วันโดยไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่นั้น กองทัพเรือไม่ได้พูดถึงข้อด้อยที่ AIP เป็นระบบเสริมและต้องขับเคลื่อนด้วยความเร็วที่ต่ำมากหรือระบบเฉื่อยแค่ 3 นอต หรือ 5.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หมวดปรกติจะขับเคลื่อนได้ 8 นอต หรือ 33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่สำคัญการดำน้ำนานและดึงอากาศไปใช้นั้น เคยมีกำลังพลตายยกลำมาแล้วในปี 2003 ทั้งเรือยิ่งใหญ่ก็มีปัญหาการซ่อนพราง

ส่วนความคุ้มค่ากับเงิน 36,000 ล้านบาทที่ว่าจีนให้มากกว่าชาติอื่นๆนั้น ปรากฏว่าจีนให้ตอร์ปิโดยิงจริงแค่ 4 ลูก และลูกฝึก 2 ลูก ถ้าต้องการเพิ่มก็ต้องจ่ายเพิ่ม ทั้งระบบส่งกำลังบำรุง ตอร์ปิโด อาวุธนำวิถี และอะไหล่ 2 ปี ขณะที่ประเทศอื่นที่เสนอขายให้มากกว่าจีน เช่น ตอร์ปิโดยิงจริงให้ถึง 16 ลูก จึงทำให้มีคำถามว่าเรือดำน้ำจีนคุ้มค่าจริงหรือไม่?

#สมแล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา

ในขณะที่องค์กรสื่อในไทยยังต้องสาละวนกับการคัดค้านกฎหมายควบคุมสื่อที่เชื่อว่าอย่างไรคงไม่พ้นต้องถูกควบคุมแน่นอน เพราะหลังจากที่ประชุมสมาชิก สปท. อภิปรายนานกว่า 7 ชั่วโมง ได้ลงมติเห็นชอบ 141 เสียง ต่อ 13 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายคุมสื่อ และงดออกเสียง 17 คน ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีไทยได้รวบรวมข้อสงสัยจากสื่อไทยเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนครั้งนี้ก่อนที่กองทัพเรือจะชี้แจง อาทิ มีสัญญาณว่าต้องซื้อจากจีน? กระบวนการจัดซื้อโปร่งใสหรือไม่? ได้มาแค่เรือเปล่ากับตอร์ปิโดไม่กี่ลูก? คุณสมบัติแย่กว่าคู่แข่ง? การจัดซื้อผิดกฎหมายงบประมาณ? ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นข้อสงสัยที่น่าสนใจและอยากได้คำอธิบายทั้งจากกองทัพเรือและผู้เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม แม้กองทัพเรือจะยกทีมใหญ่มาชี้แจง แต่ดูเหมือนจะเป็นการแถลงเรื่องทางเทคนิคมากกว่าการตอบคำถามที่สังคมคาใจ ตราบใดที่กระแสสังคมยังเต็มไปด้วยความสงสัยและข้อครหามากมาย รัฐบาลทหารและกองทัพเรือก็ต้องพร้อมให้มีการตรวจสอบ ซึ่งหลายโครงการของรัฐบาลทหารที่ผ่านมาก็มีการตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่สุดท้ายก็ตรวจสอบไม่ได้ แถมยังถูกข่มขู่ต่างๆนานาอีกด้วย แม้แต่การยื่นหนังสือร้องเรียนร้องทุกข์ก็ยังถูกควบคุม คุมขัง

หลายปัญหาหลายโครงการที่สื่อตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ที่ได้รับเสียงสะท้อนมาจากประชาชน เมื่อรัฐบาลไม่ตอบหรือตอบไม่ได้จึงยิ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลนั่นเอง

“ความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม” เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศพัฒนาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนับถอยหลังของรัฐบาลที่ต้องทำตามโรดแม็พที่จะขยับอีกไม่ได้ ในระหว่างที่ไม่มีฝ่ายค้านทำหน้าที่ในสภา ไม่มีตัวแทนประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบในขณะนี้ ผู้ทำหน้าที่ “สื่อ” ซึ่งรวมทั้งสื่อมวลชนที่มีสำนักข่าวอย่างชัดเจนและสื่อบุคคลออนไลน์ จึงกลายเป็นผู้ตรวจสอบที่ท้าทายอำนาจรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อนาคตของประเทศไทยจึงไม่ใช่ปล่อยให้ “กัปตันเรือแป๊ะ” ที่ไม่รู้มาจากไหนขับพาไปไหนก็ได้ เรือที่ไม่มีวันจมอย่าง “ไททานิค (TITANIC)” ยังต้องจมดิ่งเมื่อไปชนกับภูเขาน้ำแข็งมาแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้ากัปตันเรือแป๊ะ “ไทยทานิค (THAITANIC)” มัวแต่เมา (อำนาจ) แล้วดันขับไปชน “เรือดำน้ำ” เข้าให้

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศต้องพัฒนาสังคมไทยให้ต้อง “ตื่นรู้” และกล้าตั้งคำถามเมื่อสงสัยเพื่อค้นหาความจริง มิเช่นนั้นประเทศไทยจะวนเวียนอยู่ในวังวนอุบาทว์ไปอย่างไม่รู้จบ

เฮ้อ..หรือว่า.. #สมแล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนาอย่างที่เขาว่ากันจริงๆ!!??


You must be logged in to post a comment Login