วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กองทัพเซงลี้ฮ้อ

On May 10, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ พัฒนาการของฝ่ายตรวจสอบเริ่มจากการตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า ความเหมาะสม ความจำเป็น มาสู่การร้องขอให้ตรวจสอบว่าการลงนามจัดซื้อที่ทำแบบรัฐต่อนั้นละเมิดขั้นตอนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ และขัดต่อพ.ร.บ.วิธีงบประมาณหรือไม่

แต่ไม่ว่าฝ่ายตรวจสอบจะยกประเด็นใดมาตรวจสอบก็ดูเหมือนไม่ต่างอะไรจากขว้างก้อนหินใส่กำแพง ทุกก้อนกระเด้งกลับออกมาหมด

หลังท่านผู้นำอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกอาการหงุดหงิดพูดกับสื่อว่าอยากมาคุยเรื่องเรือดำน้ำอีก พร้อมบ่นในทำนองไม่เข้าใจอะไรกันเลย ใครว่าผิดว่าขัดมาตราอะไรก็ไปว่ากันมาตามขั้นตอน

ล่าสุด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่าการจัดซื้อไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 178 คนที่บอกว่าเป็นการคิดไปเองเพราะกองทัพเรือได้ตรวจสอบทุกขั้นตอนแล้วไม่มีอะไรขัดรัฐธรรมนูญ

“ผมว่าผู้สื่อข่าวยุ่งยากมากกว่า ถามซ้ำซ้อน เมื่อมีคนไปยื่นเรื่องก็ยื่นไป สื่อจะไปสนใจทำไมคนคนเดียว เพราะยื่นไปกองทัพเรือสามารถตอบได้หมดในทุกเรื่อง เขานั่งเรียงให้คนถาม 20-30 คน ก็ไม่เห็นใครถาม”

ไม่ใช่แค่รัฐมนตรีในรัฐบาลแต่หน่วยงานตรวจสอบอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ยังออกมาช่วยการันตีความถูกต้องนี้ด้วย

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่าการเข้าไปตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือยังไม่พบความผิดปรกติที่เป็นนัยสำคัญ ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบที่สำนักงบประมาณชี้แจง พร้อมยืนยันว่า เป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ และยังไม่พบบริษัทคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้งผู้ตั้งโครงการ คนอนุมัติและตรวจสอบงานตรวจสอบต่างออกมาช่วยกันยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เมื่อเป็นอย่างนี้ประเด็นของการจัดซื้อเรือดำน้ำน่าจะค่อยๆเงียบไป

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้ออาวุธในยุครัฐบาลทหารคสช. แม้จะดำเนินการจัดซื้อมาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่เรือดำน้ำก็ยังไม่ใช่อาวุธลอตสุดท้ายที่จะมีการลงนามจัดซื้อกันภายใต้อำนาจรัฐบาลทหารคสช.ชุดนี้

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมกำลังทำโครงการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง วีเอ็น-1 จากประเทศจีน จำนวน 34 คัน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

ตามว่าเรื่องจะถูกส่งให้ที่ประชมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมเมื่อวาน (9 พ.ค.) ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ายังไม่มีวาระการพิจารณาซึ่งเข้าใจว่าการดำเนินการยังไม่เรียบร้อย เรื่องน่าจะยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการของกองทัพบกก่อนที่จะส่งผ่านมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และส่งต่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบการจัดหาอาวุธของกองทัพ นับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจปกครองประเทศพบว่ามีการอนุมัติแล้วหลายครั้ง เช่น รถถัง VT-4 จากจีน วงเงิน 4,985 ล้านบาท จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi7VS จากรัสเซีย 2 ลำ วงเงิน 1,698 ล้านบาท จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย 4 ลำ วงเงิน 3,385 ล้านบาท จัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง วงเงิน 2,850 ล้านบาท จัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง วงเงิน 490 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เบื้องต้นจากเกาหลีใต้ วงเงิน 8,997 ล้านบาท

แน่นอนว่าการจัดหาอาวุธสนับสนุนภารกิจของกองทัพมีความสำคัญจำเป็น แต่ที่ทำให้เกิดคำถามมากมายเพราะในอดีตที่ผ่านมามีบทเรียนจากความไม่โปร่งใสในการดำเนินการ เช่น ซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ ประสิทธิภาพไม่คุ้มค่าคุ้มราคา เมื่อมีโครงการจัดซื้อใหม่ก็ต้องถูกตั้งคำถามและถูกจับจ้องเป็นธรรมดา

ถ้าอยากให้ประชาชนเข้าใจตรงกัน ก็ไม่ต้องเบื่อที่จะพูด ต้องไม่เบื่อที่จะชี้แจง


You must be logged in to post a comment Login