วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วาทกรรมแหกตา? / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On May 11, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

“ประเทศไทย 4.0” เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายนและลงข่าวต่อเนื่อง 4.0 ไม่ใช่รหัสลับอะไร เป็นเพียงวาทกรรมส่งเดชที่ไร้ราก ไร้ที่มา นำไปใช้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ เชื่อว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ที่สรรหาคำพูดนี้ขึ้นมา ท้ายสุดก็ไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ฝันได้

กล่าวว่าโมเดล “ประเทศไทย 1.0” เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “ประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา ก้าวสู่โมเดลปัจจุบัน “ประเทศไทย 3.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก และในอนาคตจะทำให้เป็น “ประเทศไทย 4.0” ให้ได้ภายใน 3-5 ปี ซึ่งเป็นการแบ่งยุคแบบส่งเดชที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาแน่ชัด และตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย

ความจริงคือคำว่า “1.0” ภาคเกษตรที่พูดถึง เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาก่อน ส่วนยุค “2.0” อุตสาหกรรมเบาก็แบ่งผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เพราะนับแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2503 เราก็เข้าสู่ยุคการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเน้นการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างๆ หลักฐานสำคัญคือการเกิดขึ้นของบริษัทไทยเกรียง อเมริกันเท็กซ์ไทล์ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างๆจากสหรัฐ แม้แต่โรงกลั่นน้ำมันก็เริ่มต้นปีกึ่งพุทธกาลที่ผ่านมา ตามมาด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งช่วงปี 2510 เฟื่องฟูมาก แสดงว่าคณะทำงานของนายสมคิดไม่เข้าใจหรือลืมประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไทยไปแล้ว

ส่วนยุค “3.0” ในปัจจุบันที่ว่าเน้นอุตสาหกรรมหนักยิ่งลงเหวไปใหญ่ เพราะอุตสาหกรรมต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมนั้นเน้นอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อุตสาหกรรมหนักที่ใช้แรงงานมากย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาช้านาน ช่วงก่อนปี 2500 ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติราว 15% ขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนถึง 30-35% สินค้าหลักคือ ข้าว ยางพารา และไม้สัก แต่ปัจจุบันเป็นรถยนต์ อัญมณี เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักร และอื่นๆ ระหว่างปี 2519-2520 สัดส่วนภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมพอๆกัน แต่เริ่มแตกต่างกันชัดเจนปี 2529 เป็นต้นมา ปัจจุบันไตรมาส 3/2559 สัดส่วนภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑฺ์มวลรวมประชาชาติคือ 8.7% และ 37.3% แสดงว่าประเทศไทยพัฒนาไปมากแล้ว ต่างจากการนิยาม “ประเทศไทย 4.0” ที่แบ่งยุคส่งเดชไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

“ประเทศไทย 4.0” ยังระบุถึง “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” 2 ด้านคือ “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ก็ถือว่าหลับหูหลับตานิยาม เพราะแทบทุกประเทศในภูมิภาคนี้มีทั้ง 2 สิ่งที่อ้างถึง ไม่ได้มีอะไรที่วิเศษกว่าตรงไหน ที่อ้างว่าจะดำเนินการนั้น ภาคเอกชนก็ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น กลุ่มอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว หรือกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง

ที่ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนภาคเอกชนนั้น ความเป็นจริงหากให้ภาคเอกชนดำเนินการโดยรัฐสนับสนุนก็เพียงพอแล้ว เช่น ธุรกิจที่อยู่อาศัย ภาคเอกชนดำเนินการดีอยู่แล้ว ภาครัฐแทบไม่มีบทบาทอะไร รัฐบาลไม่ต้องออกเงินอุดหนุนใดๆ แถมยังได้ภาษีมหาศาล ประชาชนมีงานทำเป็นจำนวนมาก ยิ่งภาครัฐไม่มีการโกง เอกชนไม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ ก็จะช่วยพัฒนาประเทศได้มหาศาล

ที่ว่าไทยติดอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางต้องผ่าตัดใหญ่นั้นก็ต้องเริ่มที่ 1.สร้างบรรยากาศประชาธิปไตยมากขึ้น ภาพพจน์ประเทศจะได้ดีขึ้น 2.ข้าราชการต้องทำงานรับใช้ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่เอาเวลาไปออกกำลังกาย วันหยุดหรือเวลากลางวันสามารถสลับสับเปลี่ยนกันทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศ 3.ปฏิรูปราชการส่วนกลางให้เล็กลงและเอาข้าราชการที่ขาดประสิทธิภาพออก ไม่ใช่เลี้ยงดูไปชั่วชีวิต แถมมีบำนาญ ลาภยศสักการะมากมาย ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากมาย 4.จัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินที่อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรมกว่านี้ และ 5.ให้ท้องถิ่นมีงบประมาณและมีส่วนในการตัดสินใจอนาคตของตนเอง ไม่ใช่ถูกส่วนกลางควบคุม

โดยสรุปแล้วรูปธรรมยุค 4.0 มีมาก่อนหน้ารัฐบาลนี้จะประกาศแล้วทั้งสิ้น ประเด็นที่ต้องกล้าพูดให้ชัดๆคือ การที่ประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยเช่นนานาอารยประเทศต่างหากที่ทำให้ประเทศต้องติดกับดักและขัดขาตัวเอง การสร้างวาทกรรม “ประเทศไทย 4.0” เป็นเพียงวาทกรรมทางการตลาด เหมือน “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ปัญหาของประเทศต้องแก้ที่รากเหง้า ไม่ใช่มีแต่พนักงานเทกระโถนมากมายซึ่งใช้จ่ายจากภาษีอากรของประชาชน แบบนี้ประเทศไทยจะเจริญได้อย่างไร?


You must be logged in to post a comment Login