วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ไม่รู้หรือล็อกสเปก

On May 12, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านมาไม่นานเริ่มส่อว่าจะมีปัญหาให้เห็น ปัญหาที่พบตอนนี้คือการสรรหาบุคคลเข้าเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ อย่างกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการสรรหาประกาศเลื่อนการประชุมเพื่อสรรหา คตง.ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

เหตุที่ต้องเลื่อน เนื่องจากไม่มีกรรมการมาทำหน้าที่สรรหา

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี 5 องค์กรที่ต้องส่งตัวแทนมาร่วมเป็นกรรมการสรรหา แต่ปรากฏว่ามีเพียงผู้ตรวจการแผ่นดินองค์กรเดียวเท่านั้นที่ส่งรายชื่อตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสรรหาร อีก 4 องค์กรยังไม่ส่งตัวแทน การประชุมกรรมการสรรหาที่แต่เดิมกำหนดไว้นัดแรกเมื่อวาน (11พ.ค.) ที่ผ่านมาจึงถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

การเลื่อนครั้งนี้ น่าจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอนเพราะตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2560 กำหนดให้คัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่พ้นตำแหน่งก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ หรือพ้นตำแหน่งตามวาระภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ โดยให้คัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนให้เสร็จภายใน 60

หากไม่สามารถสรรหาได้ทันตามเวลาที่กำหนดจะเกิดอะไรตามมา ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าทำไม 4 องค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสรรหาจึงไม่ยอมส่งชื่อตัวแทนมาเข้าร่วม

กรณีนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาระบุว่า เคยพูดไปก่อนหน้านี้แล้วว่าการสรรหารกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่จะมีปัญหา เพราะกำหนดคุณสมบัติเอาไว้สูงเกิน

“ผมเคยแสดงความเห็นแล้วว่า คนมาเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ2560 ต้องสเปกเทพ และไม่น่าเชื่อว่า รัฐธรรมนูญนี้กำหนดกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ เหนือกว่าเทพอีก จนเมื่อจำเป็นต้องเสนอชื่อคนมาเป็นกรรมการสรรหา คตง.ถึงรู้ว่าเขียนให้ยากเย็นจริง เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า กรรมการสรรหาองค์กรอิสระ จะต้องมีคุณสมบัติระดับมหาเทพ คือ 1.คุณสมบัติเหมือนคนมาเป็นองค์กรอิสระทุกอย่าง (ใช้คุณสมบัติตาม มาตรา 201 และ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ตาม มาตรา202) 2.ไม่เป็นข้าราชการประจำ 3.ไม่เป็นลูกจ้าง 4.ไม่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ 5.ไม่ดำรงตำแหน่งในบริษัท 6.ไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใดๆในองค์กรอิสระ 7.อายุ 45-68 ปี

ผู้สมัครเป็นกรรมการองค์กรอิสระ ยังเป็นข้าราชการ ลูกจ้าง ทำงานเอกชนได้ เมื่อได้รับการสรรหาก็ค่อยลาออกใน 15 วัน แต่คนเป็นกรรมการสรรหาต้องไม่เป็นตำแหน่งต่างๆเลย การจะเลือกอดีตผู้บริหารขององค์กรอิสระที่เกษียณไปแล้วมาเป็นกรรมการสรรหาก็ไม่ได้ เพราะเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระมาก่อน และจะตั้งคณบดี หรือ อดีตคณบดีมาเป็นกรรมการสรรหาก็ไม่ได้ เพราะเป็นข้าราชการประจำ อยากจะเอาอนุกรรมการ ที่เคยทำงานกับองค์กรอิสระก็ไม่ได้ เพราะเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระมาก่อน อยากจะเอาข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว ก็ต้องตรวจเช็กอีกว่า ไปประกอบธุรกิจอะไรเลี้ยงชีพหรือไม่ หากเกษียณแล้วไปปลูกมะนาวสักไร่สองไร่เพื่อเลี้ยงชีพก็ไม่ได้ เพราะประกอบอาชีพอิสระ สรุปจะเหลือใครที่มาเป็นกรรมการสรรหาได้”

หากพิจารณาจากข้อจำกัดตามที่นายสมชัยพูดจะเหลือคนกลุ่มเดียวที่สามารถมาเป็นกรรมการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระได้คือกลุ่มข้าราชการระดับสูงที่เกษียณแล้ว รับแต่เบี้ยหวัดบำนาญ ไม่ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ ตลอดชีวิตไม่เคยมาช่วยเหลือการงานใดๆขององค์กรอิสระเลย ไม่เคยถูกแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ หรือ คณะทำงานใดๆในองค์กรอิสระ

ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เช่นนี้ก็เข้าใจได้ว่าต้องการกีดกันไม่ให้ใช้ระบบอุปถัมน์ในการคัดเลือกคนมาเป็นกรรมการองค์กรอิสระ แต่การกำหนดคุณสมบัติเอาไว้สูงจนยากที่จะหาคนมาเป็นกรรมการสรรหาร หาคนมาเป็นกรรมการองค์กรอิสระได้ ก็ต้องตามดูว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายจะแก้ปมนี้อย่างไร

ที่แน่ๆ ต้องไปแก้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2560 ใหม่ เพราะการสรรหา คตง.คงทำไม่ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดแน่นอน

ประเด็นชวนคิดคือเขียนกฎหมายออกมาแบบนี้ รู้หรือไม่ว่าจะเกิดปัญหา ถ้าคิดไม่ถึงเมื่อเห็นปัญหาแล้วก็ต้องแก้ไข เว้นแต่ว่ารู้เต็มอกว่าสเปกระดับมหาเทพมีน้อยจึงเขียนกฎหมายล็อกไว้ให้คนเฉพาะกลุ่มได้เป็นกรรมการสรรหา และเป็นกรรมการองค์กรอิสระ หากไม่ต้องการล็อกสเปก เมื่อเห็นปัญหาแล้วต้องหาทางแก้ไข


You must be logged in to post a comment Login