- อย่าไปอินPosted 22 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
อนาคตแผน‘เชื่อมโลก’ของจีน
จีนดำเนินโครงการเส้นทาง “เชื่อมโลก” เข้าสู่ปีที่ 5 สามารถผลักดันแผนงานขนาดใหญ่สำเร็จแล้วอย่างน้อย 2 โครงการ ขณะเดียวกันก็เผชิญปัญหาหนักนานัปการ อีกทั้งทุ่มทุนไปแล้วมหาศาล
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เริ่มโครงการใหญ่ยักษ์ระดับ “อภิมหาโครงการ” ดังกล่าว เมื่อปี 2013 ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “One Belt, One Road” (หนึ่งแนวเขตหนึ่งเส้นทาง) หรือ “Belt and Road Initiative” นัยว่า เป็นการฟื้นเส้นทางสายไหมสู่ยุคใหม่
จุดประสงค์เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าและคมนาคมระหว่างจีนกับ 4 ภูมิภาคของโลก ประกอบด้วยเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา โดยมีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พ่วงด้วย
โครงข่ายที่จะก่อสร้างสำหรับใช้เชื่อมต่อ ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และท่อส่งน้ำมันรวมทั้งก๊าซธรรมชาติ
ผ่านมา 4 ปี มีประเทศทำสัญญาเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 40 ประเทศ ขณะการขับเคลื่อนโครงการ มีทั้งรุดหน้าและชะงักงัน เหตุจากเผชิญปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก
สำหรับโครงการสำคัญที่แล้วเสร็จส่วนหนึ่ง ประกอบด้วยเส้นทางรถไฟจีน-อิหร่าน เชื่อมระหว่างเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง ในภาคตะวันออกของจีน กับกรุงเตหะรานของอิหร่าน ระยะทาง 10,400 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากต้นทางถึงปลายทาง 14 วัน เปิดใช้ปีที่แล้ว
เส้นทางรถไฟจีน-อังกฤษ เชื่อมระหว่างเมืองอี้อู-กรุงลอนดอน ระยะทาง 12,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากต้นทางถึงปลายทาง 20 วัน เร็วกว่าขนส่งทางเรือ 30 วัน เปิดใช้ขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ เดือนมกราคม ที่ผ่านมา
ส่วนแผนงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และศึกษารายละเอียดเตรียมก่อสร้าง มีด้วยกันหลายโครงการ โดยมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย รวมอยู่ด้วย
โครงการเส้นทางสายไหมยุคใหม่ แม้จะดูดี แต่ประเทศสำคัญส่วนใหญ่ในยุโรปไม่เอาด้วย เนื่องจากมองว่าจีนมีวาระซ่อนเร้น โดยแอบ “สอดไส้” การขยายฐานทัพ แทรกไปกับแผนการก่อสร้าง
นอกจากนั้น จีนยังประสบปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น ชาวท้องถิ่นต่อต้านการก่อสร้าง รัฐบาลท้องถิ่นทุจริตงบของโครงการ และบางโครงการเสี่ยงอันตราย เนื่องจากเส้นทางผ่านบริเวณที่มีปัญหาความขัดแย้ง
ด้านการลงทุน จีนควักไปแล้ว 926,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (31.95 ล้านล้านบาท) ขณะเจ้าหน้าที่จีนคาดว่า จะขาดทุนจากการลงทุนในเอเชียกลาง 30% และในปากีสถาน 80%
แน่นอนว่า โครงการใหญ่ขนาดนี้ ย่อมมีอุปสรรคนานัปการ และความท้าทายขนาดมหึมาน่าจะรออยู่ข้างหน้าอีกจำนวนมาก
ดังนั้น อนาคตของโครงการจึงขึ้นอยู่กับจีนว่า จะถอดใจยอมแพ้ หรือจะฮึดสู้ต่อไป
You must be logged in to post a comment Login