- ปีดับคนดังPosted 9 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
เมื่ออิสลามเข้าสู่ธุรกิจ / โดย บรรจง บินกาซัน
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
คาบสมุทรอาหรับมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายที่ร้อนระอุทุรกันดาร พื้นที่สำหรับการเพาะปลูกมีน้อย พืชที่ปลูกได้ส่วนใหญ่คืออินทผลัม ดังนั้น ชาวอาหรับส่วนใหญ่จึงทำอาชีพเร่ร่อน เลี้ยงสัตว์และทำการค้าโดยใช้กองคาราวานอูฐ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในคัมภีร์กุรอานบอกให้เรารู้ว่า กองคาราวานสินค้าของชาวอาหรับเดินทางไปถึงปาเลสไตน์ และพบยูซุฟ (โยเซฟ) ในบ่อน้ำ จึงนำตัวยูซุฟขึ้นมาและนำไปขายถึงอียิปต์
ในเวลานั้นก่อนชาวอาหรับจะนำกองคาราวานออกเดินทางไกลไปค้าขายยังต่างแดนหรือออกทำสงคราม ชาวอาหรับเผ่าต่างๆจะไปที่ก๊ะอฺบ๊ะฮฺเพื่อแสดงความเคารพสักการะเทวรูปหรือเจว็ดที่ตัวเองนับถือ และวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ให้โชคดีมีชัยหรือได้กำไรงามกลับมา
แม้จะนับถือเทวรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงใดก็ตาม แต่พ่อค้าและนักเดินทางชาวอาหรับก็รู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าเกิดพายุทะเลทรายหรือถูกโจรดักปล้นกลางทาง เทวรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองนับถือไม่สามารถไปช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น พ่อค้าชาวอาหรับจึงคิดมาตรการช่วยกันบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายของตัวเองขึ้นมา มาตรการนี้เรียกว่า “ตะกาฟุล”
มาตรการดังกล่าวก็คือ ก่อนนำกองคาราวานออกเดินทาง พ่อค้าชาวอาหรับที่เป็นเจ้าของสินค้าจะนำเงินจำนวนหนึ่งตามสัดส่วนของกองคาราวานมามอบให้คนที่ไว้ใจได้คนหนึ่งเป็นผู้ดูแล เงินจำนวนนี้พ่อค้าชาวอาหรับได้ตกลงร่วมกันว่าหากกองคาราวานของทุกคนเดินทางกลับมาด้วยความปลอดภัย พ่อค้าผู้เป็นเจ้าของเงินจะได้รับเงินของตนคืน โดยยอมถูกหักส่วนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ให้แก่ผู้ถือเงินเป็นค่าตอบแทนในการดูแลรักษาเงิน
ข้อตกลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ หากพ่อค้าคนใดที่เข้าร่วมตะกาฟุลได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติกลางทาง เงินกองกลางนี้จะถูกนำไปช่วยบรรเทาความเสียหายตามสัดส่วน
นบีมุฮัมมัดรับรู้ข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่ท่านอายุ 12 ปี เพราะในตอนนั้นท่านได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับกองคาราวานของลุงเพื่อไปทำการซื้อขายสินค้ายังดินแดนที่เรียกว่า “อัชชาม” ที่ครอบคลุมประเทศซีเรีย จอร์แดน ปาเลสไตน์ และเลบานอน อัชชามในเวลานั้นเป็นหัวเมืองสำคัญของอาณาจักรโรมันไบแซนติน เพราะเป็นชุมทางการค้าบนเส้นทางสายไหมที่นำสินค้าจากจีนมากระจายไปยังยุโรป แอฟริกา และคาบสมุทรอาหรับ
ประสบการณ์ต่างๆที่นบีมุฮัมมัดได้รับในการเดินทางไปค้าขายกับลุงตั้งแต่ยังเด็กนี้เองที่ทำให้ท่านเห็นโลกกว้างและมีความเชี่ยวชาญในการค้า จนกระทั่งเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตของพระเจ้า ท่านจึงเลิกทำการค้าและหันมาทุ่มเทให้แก่การเผยแผ่คำสอนอิสลาม เมื่อท่านเห็นว่าวิธีการตะกาฟุลเป็นสิ่งดี ท่านจึงอนุญาตให้สาวกของท่านปฏิบัติต่อไป
ในยุคก่อนหน้าอิสลามชาวอาหรับมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าหลากหลายรูปแบบ เช่น การแลกเปลี่ยนผลไม้สดกับผลไม้แห้ง โดยการกำหนดปริมาณของผลไม้แห้งไว้เป็นมาตรฐานตายตัว แต่ปริมาณของผลไม้สดที่จะแลกเปลี่ยนนั้นต้องอาศัยการคาดเดาเอาในขณะที่ยังอยู่บนต้น หรือการขายผลไม้บนต้นไม้ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 หรือ 2 ปี ก่อนที่ผลไม้จะปรากฏ บางครั้งชาวอาหรับขายสิ่งของที่ตัวเองยังไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งที่จะขาย หรือตัวเองไม่สามารถควบคุมสิ่งของที่จะขายได้ เช่น ปลาในน้ำ หรือนกในอากาศ เป็นต้น
วิธีการซื้อขายอีกอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติกันในหมู่พ่อค้าชาวอาหรับในยุคก่อนหน้าอิสลามก็คือ ผู้ซื้อจะบอกผู้ขายว่าเมื่อใดที่ตนโยนเม็ดหินลงไปบนสินค้าก็ถือว่าเป็นการยืนยันสัญญาซื้อขาย หรือผู้ขายบอกผู้ซื้อว่าสินค้าอะไรก็ตามที่เขาโยนหินลงไป สินค้านั้นจะถูกขายให้ผู้ซื้อ
เนื่องจากการซื้อขายในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ยุติธรรมและก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ดังนั้น เมื่อชาวอาหรับเริ่มมีความศรัทธาในพระเจ้าและยอมรับความเป็นศาสนทูตของท่านแล้ว ท่านนบีมุฮัมมัดจึงได้ประกาศห้ามการซื้อขายด้วยวิธีการดังกล่าว
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการห้ามธุรกรรมเช่นนั้นก็เนื่องจากพระเจ้าเป็นผู้ทรงยุติธรรม ดังนั้น อิสลามจึงต้องการให้กิจกรรมซื้อขายของมนุษย์สะท้อนถึงความยุติธรรมของพระเจ้า
You must be logged in to post a comment Login