วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คดีชาวบ้านเก็บเห็ด / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On May 15, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

กระบวนการยุติธรรมหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ถูกวิจารณ์อย่างมากว่าสองมาตรฐาน เพราะมีคำถามถึงความยุติธรรมที่เป็นกลางกับประชาชนภายใต้คำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งเปิดทางให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจทางการเมืองและแสดงจุดยืนไปทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือสนับสนุนการรัฐประหาร แต่ก็เป็นที่สงสัยเช่นกันว่ากระบวนการตุลาการอาจมีปัญหาก่อนรัฐประหาร พ.ศ. 2549 หรือไม่ คดีชาวบ้านเก็บเห็ดน่าจะสะท้อนเรื่องนี้ได้ดี

คดีนี้เกิดขึ้นวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 นายอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าร่วมกันออกตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนฯที่ถูกบุกรุกที่ดงระแนง ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด พบว่าป่าไม้ถูกทำลายมากมาย และพบกลุ่มบุคคล 3-4 คน กำลังใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักเป็นจำนวนมาก แต่พากันหลบหนีเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ยังพบรถจักรยานยนต์เก่าคันหนึ่งจอดทิ้งไว้ จึงยึดรถแล้วมอบให้ตำรวจท้องที่ตรวจสอบทะเบียน และเรียกตัวนายอุดม ศิริสอน อายุ 47 ปี และนางแดง ศิริสอน อายุ 44 ปี สามีภรรยาซึ่งเป็นเจ้าของรถมาสอบสวน โดยทั้ง 2 คนให้การแบบทันทีไม่มีทนายความว่ามีอาชีพเป็นชาวนา วันที่เกิดเหตุออกไปเก็บเห็ดและหาของป่า แต่รถจักรยานยนต์ที่จอดไว้หายไป เมื่อทราบว่าอยู่ที่ตำรวจจึงจะมาขอคืน

ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ตำรวจเรียกนายอุดมและนางแดงมาแจ้งข้อหาว่าบุกรุกป่าและตัดไม้จำนวนมาก ซึ่งทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่เจ้าหน้าที่ก็สรุปสำนวนส่งให้อัยการและอัยการมีความเห็นส่งฟ้องศาล โดยวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554 เป็นวันนัดที่ศาล ปรากฏว่านายอุดมและนางแดงตัดสินใจรับสารภาพความผิด ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาคำฟ้องของโจทก์และคำขอท้ายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในการทำไม้ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติเนื้อที่ 72 ไร่ ใช้อุปกรณ์เครื่องมือใดไม่ปรากฏชัดตัดและโค่นไม้สัก ไม้กระยาเลย ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามจำนวน 700 ต้น และร่วมกันมีไม้สักกับไม้กระยาเลยอันยังไม่ได้แปรรูปจำนวน 1,148 ท่อน จึงมีคำพิพากษาจำคุก 30 ปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 15 ปี และริบของกลางทั้งหมด

ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ทำไม้ ยึดถือครอบครอง หรือกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงตัดสินลงโทษให้จำคุก 30 ปี แต่ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เท่ากับจำคุกคนละ 14 ปี 12 เดือน ทั้งสองถูกส่งตัวเข้าเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ และติดคุกจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ศาลฎีกาอนุมัติการปล่อยตัวชั่วคราวในวงเงินประกัน 500,000 บาท เท่ากับทั้งสองถูกจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ศาลฎีกาอธิบายว่า ที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่สารภาพต่อศาลเพราะหลงเชื่อบุคคลภายนอกว่ารับสารภาพแล้วศาลจะลงโทษแค่ปรับและจำเลยก็กลับบ้านได้ เพราะมีอาการป่วยเนื่องจากอุบัติเหตุ แต่ศาลเห็นว่าการกล่าวอ้างของจำเลยขัดแย้งกันเอง การสารภาพในศาลชั้นต้นจึงเป็นไปโดยชอบ ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่าจำเลยทำความผิดในข้อหาบุกรุกป่าและพิพากษาจำคุก 10 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือคนละ 5 ปี

กล่าวโดยรวมคดีนี้ไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองโดยตรง แต่เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุก 15 ปี ทำให้กลายเป็นเรื่องที่สนใจ สื่อมวลชนก็เสนอข่าวว่าเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยหรือไม่ เพราะทั้งสองเก็บเห็ด แต่ถูกลงโทษอย่างหนัก ขณะที่บุคคลในกลุ่มชนชั้นนำที่บุกรุกสร้างบ้านในเขตป่ากลับไม่ถูกลงโทษ

นอกจากนี้ยังมีข้อวิจารณ์หลายประการ เริ่มจากการตัดสินลงโทษที่อ้างจากการสารภาพของจำเลยตามคำฟ้องในศาลชั้นต้น แม้ต่อมาจำเลยจะอธิบายว่าการสารภาพไม่ได้เป็นไปโดยความสมัครใจ แต่เป็นการเข้าใจผิด ศาลก็ไม่รับฟัง เพราะถือคำสารภาพนั้นเป็นข้อเท็จจริง ซึ่ง “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้ามองจากสภาพชาวบ้านทั่วไป ถ้ามีคนบอกว่าสารภาพไปเถอะโทษแค่ปรับหรือรอลงอาญา ชาวบ้านก็รับสารภาพนะครับ”

ดังนั้น เรื่องนี้ตามกระบวนการพิจารณาความ ศาลจึงไม่ควรเอาคำสารภาพเพียงอย่างเดียวมาเป็นข้อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิด เพราะในทางหลักการหากเป็นผู้กระทำผิดตัวจริงจ้างใครมาสารภาพผิดแทน แล้วศาลพิจารณาตามนั้นก็จะสูญเสียความยุติธรรม ยิ่งกว่านั้นถ้าพิจารณาในเชิงข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง ก็เป็นไปไม่ได้เลยว่าชาวบ้านธรรมดาชาย 1 คน และหญิง 1 คน จะสามารถเป็นตัวการตัดไม้ได้ถึง 1,148 ต้น และทำลายป่าถึง 72 ไร่ เพราะเกินศักยภาพมนุษย์อย่างมาก นอกจากจำเลยจะต้องมีเงินทองมากพอที่จะเป็นเจ้าของเครื่องมือทันสมัย

ขณะที่คำตัดสินของศาลอธิบายว่า จำเลย “ใช้เครื่องมือใดไม่ปรากฏชัดตัดและโค่นไม้สัก” ซึ่งทำให้มีข้อแย้งได้มากมาย และอีกคำอธิบายของศาลว่า จำเลยและพวกใช้ “มีดแผ้วถางขนาดเล็ก” ซึ่งไม่มีทางจะตัดไม้จำนวนมากขนาดนั้นได้ ซึ่งศาลก็ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลว่าทั้งสองทำลายป่าและตัดไม้จำนวนมากขนาดนั้นไปทำไม ถ้าอ้างว่าตัดเอาไปขายก็หมายความว่าทั้งสองต้องมีศักยภาพทางการตลาดอย่างมาก ซึ่งในคำพิพากษากล่าวในลักษณะว่า “เชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง ยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด”

ถ้าเป็นไปตามคำบรรยายดังกล่าวก็ไม่มีเหตุผลที่จะลงโทษชาวบ้านทั้งสองที่สมัครใจมอบตัวและรับสารภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินคดีทั้งหมดไม่ได้มีการพิสูจน์ว่ามีใครเห็นจำเลยทั้งสองตัดไม้ทำลายป่าด้วยเครื่องมืออะไร มีแต่อ้างว่าเห็นทั้งสองวิ่งหนี ความเชื่อว่าจำเลยมีความผิดจึงอนุมานเอาเองจากที่เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ในที่เกิดเหตุ

คดีของสองสามีภรรยาจึงทำให้เกิดข้อวิจารณ์จำนวนมาก เพราะสะเทือนใจที่ชาวบ้านไปเก็บเห็ดเพื่อประทังชีวิตแล้วถูกลงโทษหนักขนาดนี้ ทั้งคดีนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาในระดับโครงสร้างของลักษณะกระบวนการยุติธรรมที่อาศัยคำตัดสินคดีชี้เป็นชี้ตายชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ แม้ต่อมาจะมีหลักฐานความผิดพลาดก็เป็นไปได้ยากที่จะแก้ไขคำตัดสิน

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องพิจารณากันต่อไป


You must be logged in to post a comment Login