- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ถูกต้องแต่หวั่นไหว / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ แม้จะมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อกันไปแล้ว และกำหนดจ่ายเงินงวดแรก 700 ล้านบาทภายในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ดูเหมือนยังต้องเจอคลื่นลมอีกพอสมควร
ขณะที่ประเด็นเรื่องความถูกต้อง เหมาะสม ยังไม่เคลียร์ให้เกิดความกระจ่าง ก็มีประเด็นข้อกฎหมายเข้ามาแทรก
มีการยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินนำเรื่องส่งให้ศาลปกครองพิจารณาว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำซึ่งเป็นการทำสัญญาในลักษณะรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีนั้นเข้าข่ายข้อกำหนดรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 178 หรือไม่
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 178 กำหนดว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการทําหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอํานาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาและหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทําให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้มีกฎหมายกําหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้รับการเยียวยาที่จําเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทําหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย
เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําขอ”
กรณีซื้อเรือดำน้ำเมื่อเป็นการทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ และยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสัญญาตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ ซึ่งเกี่ยวกับการก่อหนี้ผูกพันตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ก่อนเซ็นสัญญาต้องมีการเสนอเรื่องให้สภาพิจารณาเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญก่อน ถ้าไม่เห็นชอบสัญญาอาจจะตกเป็นโมฆะได้
นี่เป็นมุมมองของนายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายงบประมาณ และอีกหลายคน โดยเฉพาะนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ไปยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งต่อให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
นอกจากนี้ยังเห็นว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 ที่ระบุว่า หน่วยงานของรัฐที่จะก่อหนี้ผูกพันต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นใช้บังคับ ซึ่ง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ถูกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติก่อหนี้ผูกพันได้ไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 แต่กองทัพเรือเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 18 เมษายน 2560 ถือว่าเกินระยะเวลา 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด
หากอ้างว่ากองทัพเรือเสนอตั้งแต่ในช่วง 60 วัน แต่เหมือนกับว่าคณะรัฐมนตรียังไม่เห็นรายละเอียดของการจัดซื้อจัดจ้าง เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีเซ็นเช็คเปล่าให้กับกองทัพเรือหรือไม่
การจัดซื้อเรือดำน้ำถูกตั้งประเด็นข้อกฎหมาย 2 กรณีคือ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 หรือไม่ และขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 หรือไม่
เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ
กรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 178 อาจไม่เป็นปัญหาต่อรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหากไม่แน่ใจว่าการลงนามใดเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา 178 หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทหาร คสช. คงมั่นใจแล้วว่าไม่เข้ามาตรา 178 จึงให้ความเห็นชอบโดยไม่ส่งเรื่องตีความ
เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ติดใจเรื่องก็น่าจะจบ น่าจะตัดประเด็นนี้ไปได้
เรื่องที่ต้องลุ้นระทึกกว่าน่าจะเป็นกรณีที่ถูกร้องว่าเข้าข่ายผิดตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณหรือไม่
จึงต้องติดตามว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาตามคำร้องของนายศรีสุวรรณหรือไม่ และศาลปกครองจะตัดสินออกมาอย่างไร
แม้รัฐบาลทหาร คสช. จะมีเกราะคุ้มกันแน่นหนา และมีอำนาจตามอภิมหากฎหมายที่ใหญ่กว่ากฎหมายทุกฉบับให้การรับรองว่าไม่ต้องรับผิดชอบในทุกกรณีทั้งทางแพ่ง อาญา ทางปกครอง และสามารถใช้อำนาจตามอภิมหากฎหมายสั่งการให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายได้
แต่หากศาลปกครองชี้ว่าผิดตามข้อกล่าวหาก็จะเร่งวิกฤตศรัทธาในรัฐบาลให้ขยายวงกว้างออกไป ซึ่งจะไม่เป็นผลดีและสร้างความสั่นคลอนต่ออำนาจของรัฐบาลแน่นอน
“จะเข้ามาตราอะไรก็เข้าไป ผมไม่รู้ ไปว่ากันตามกฎหมาย ผมขี้เกียจพูดแล้ว อย่ามาพูดกับผมเรื่องเรือดำน้ำอีก ไม่เคยเข้าใจอะไรเลย จะว่าอะไรก็ว่ามา”
นี่คือคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตอบผู้สื่อข่าวหลังถูกถามเรื่องมีผู้ร้องให้ตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำว่าอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย
แม้โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจะผ่านการรับรองข้อกฎหมายจากอัยการสูงสุดที่โฆษกกองทัพเรือยืนยันว่าได้เข้ามาช่วยดูข้อกฎหมายตั้งแต่ต้น
แม้โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจะได้รับการรับรองในเบื้องต้นจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่าตรวจไม่พบความผิดปรกติในการจัดทำงบประมาณจัดซื้อ
แต่ความหงุดหงิดของท่านผู้นำจากประโยคที่ว่า “อย่ามาพูดเรื่องเรือดำน้ำกับผมอีก” ก็สะท้อนถึงความกังวลต่อการตรวจสอบที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
You must be logged in to post a comment Login