วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

3 ปีราคาอาหารเพิ่ม 33.2%! / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On May 18, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ผมได้สำรวจราคาอาหารใจกลางเมืองที่ถือเป็นดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยทำการสำรวจทุกรอบครึ่งปีรวม 11 ครั้งคือ เดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนของทุกปีตั้งแต่พฤษภาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน สำรวจเฉพาะพื้นที่สีลม-สุรวงศ์ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศที่มีคนทำงานจำนวนมาก โดยมีสมมุติฐานว่าราคาอาหารย่านนี้น่าจะเป็นราคามาตรฐาน เพราะเป็นใจกลางเมือง ส่วนบริเวณอื่นๆน่าจะถูกกว่า ยกเว้นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว

ผมเดินสำรวจซ้ำตามร้านเดิมที่เคยสำรวจจำนวนกว่า 20 บริเวณ บางบริเวณเป็นร้านอาหารร้านเดียว บางบริเวณเป็นศูนย์อาหาร พร้อมบันทึกภาพนิ่งและวิดีทัศน์ประกอบ บางบริเวณมีร้านค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยแต่ละครั้งที่สำรวจใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงในช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน

ผลการสำรวจโดยสรุปพบว่า ราคาอาหาร เช่น ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่มขึ้นจาก 31.0 บาทในเดือนพฤษภาคม 2555 เป็น 31.8 บาทในเดือนพฤษภาคม 2556 เดือนพฤษภาคม 2557 เพิ่มเป็น 34.3 บาท และ 36.1 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2557 กลายเป็น 38.4 บาทในเดือนพฤษภาคม 2558 เป็น 40.0 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็น 41.7 บาทในเดือนพฤษภาคม 2559 เป็น 43.1 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2559 และล่าสุด (พฤษภาคม 2560) เป็น 45.7 บาท หากคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในรอบ 6 เดือนล่าสุด (พฤศจิกายน 2559-พฤษภาคม 2560) ราคาอาหารเพิ่มขึ้นไม่มากนักคือ 3.4% แต่ก็ปรับตัวสูงกว่าภาวะเงินเฟ้อ

เมื่อประเมินจากภาพรวมสะสม 5 ปี (พฤษภาคม 2555-2560) ราคาเพิ่มจาก 31.0 บาท เป็น 45.7 บาท หรือเพิ่มขึ้น 47.5% หากคิดเป็นการเพิ่มขึ้นต่อปีก็เท่ากับประมาณ 8.1% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร เพราะสูงกว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นเวลา 3 ปีหลังรัฐประหารเพิ่มขึ้น 33.2% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 10% ถือว่าสูงขึ้นมากพอสมควร หากเทียบกับก่อนรัฐประหารช่วงเดือนพฤษภาคม 2555-2557 ปรากฏว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 10.7% หรือปีละ 5.2% ต่ำกว่าช่วงหลังรัฐประหาร

ทำไมราคาสินค้าดูปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่ราคาอาหารไม่ได้เพิ่มขึ้นมากในสัดส่วนเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำอาหารขายเป็นจำนวนมากนั้นมีต้นทุนค่าวัตถุดิบถูกกว่าการซื้อของใช้เองตามบ้าน มีโอกาสที่ผู้ค้าอาจลดปริมาณและคุณภาพลงบ้างเช่นกัน หรือเลือกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบไม่แพงนัก เช่น ใช้ผักตามฤดูกาล หรือใช้เนื้อหมู ไก่ ซึ่งราคายังไม่เพิ่มมากเท่าปลา เป็นต้น

จากการสัมภาษณ์ผู้ค้าพบว่า ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นบ้างไม่มีผลโดยตรงต่อราคาอาหารที่ขายเป็นปริมาณมากในแต่ละวัน สิ่งที่ส่งผลเด่นชัดกว่าคือ ค่าเช่าพื้นที่ขายอาหาร หากค่าเช่าแพงขึ้นมากจะทำให้ราคาอาหารเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลหรือกรุงเทพมหานครอาจช่วยจัดหาพื้นที่ขายราคาถูกเพื่อให้ผู้ค้าขายในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป และเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน

การที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 3.4% ในรอบ 6 เดือนล่าสุด แสดงว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การที่ภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างฝืดเคืองในปัจจุบันจะส่งผลต่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะต้องใช้จ่ายเงินกับเรื่องชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอาหารมากขึ้น ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯปีนี้จะลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10-14% ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าการพัฒนา

การที่รัฐบาล คสช. ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ราคาอาหารกลับเพิ่มขึ้น 33.2% ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา แสดงว่าความพยายามอาจยังไม่สัมฤทธิผลมากนัก เพราะในขณะที่ค่าครองชีพโดยทั่วไปเพิ่มไม่มากนักตามข้อมูลของทางราชการ แต่ราคาอาหารกลับเพิ่มขึ้นพอสมควร และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำมาก แสดงว่ารายได้และฐานะของประชาชนกลับยากจนลงเนื่องจากราคาอาหารเพิ่มขึ้น ข้อนี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขต่อไป

รัฐบาลและ คสช. อาจไม่สามารถตรึงราคาอาหารได้ อาจต้องใช้มาตรา 44 สั่งให้ตรึงราคา หรือไม่ก็ต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อสูงขึ้น ในขณะนี้ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้น แต่สินค้าอุปโภคบริโภคกลับเพิ่มขึ้น ข้อนี้เป็นสิ่งที่สั่นคลอนความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลเอง รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน


You must be logged in to post a comment Login