วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

กฎหมายติดหนวด / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On May 18, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ผมอ่าน “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถอยออกมาสดๆร้อนๆ ต้องเรียนตามตรงว่าไม่ค่อยสบายใจ เพราะเนื้อหาที่ระบุในร่างยังมีข้อน่าสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าเขียนขึ้นเช่นนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 44 (3) เรื่องการให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสาร ทั้งไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือดำเนินการตามมาตรการเหมาะสม แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล ยกเว้นกรณีเร่งด่วนให้ “คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” หรือ “กปช.” ดำเนินการไปก่อนแล้วค่อยรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการแสดงออกของประชาชนต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ต้องเรียนว่าการที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพแบบนี้เท่านั้นจึงจะสะท้อนภาพให้เห็นว่าพวกเราทุกคนอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ดังนั้น การออกกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของทุกคน ทุกองค์กร ในทุกระบบ ทุกเครื่องมือ ทุกช่องทางได้ทันทีเมื่อเกิดกรณีเร่งด่วน หรือแม้ต้องขออนุญาตจากศาลก็ตาม การออกกฎหมายติดหนวดแบบนี้จึงถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่

และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เรื่องที่นักวิชาการหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าการให้อำนาจแก่ “กปช.” แบบครอบจักรวาล และการนิยามคำว่า “ความมั่นคงไซเบอร์” ที่กว้างเกินไป ย่อมทำให้ผู้มีอำนาจสามารถอ้างเหตุผลเพื่อขอหมายศาลในการขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐและเอกชน หรือบุกรุกเข้าไปดูได้ทันที เพียงแค่ “สงสัย” ว่าอาจมีการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงเท่านั้น

การที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจครอบจักรวาลเช่นนี้แตกต่างจากอำนาจที่ได้จาก พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับเก่า ซึ่งต้องรอให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อนจึงจะขอหมายศาลได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “ลุย” ได้เลย หรือถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านคือ สามารถดักฟังและเจาะข้อมูลการสื่อสาร รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องขอหมายศาลแต่อย่างใด

เพียงแค่ผู้มีอำนาจใช้ข้ออ้างว่ามีสถานการณ์ที่ “อาจมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ” และพิจารณาว่าเหตุที่สงสัยถือว่าเป็นกรณีเร่งด่วน “ท่านก็สามารถสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ”

ถ้าคิดในแง่ดีก็คือ หากตัดสินใจถูกก็สามารถเจอผู้กระทำความผิดและระงับยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าตัดสินใจผิดพลาดหรือการกระทำดังกล่าวไม่ตั้งอยู่บนความบริสุทธิ์ใจ การบุกรุกเข้าไปในสถานที่ของผู้อื่นโดยไม่มีหมายศาล แม้จะเป็นโลกไซเบอร์ก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย

ส่วนประธานของ “กปช.” ก็ไม่ใช่ใครอื่น เมื่อเขียนกฎหมายให้คณะกรรมการมีอำนาจล้นฟ้าแบบนี้ คนที่นั่งหัวโต๊ะก็คือนายกรัฐมนตรีนั่นเอง แต่เจตนาที่กำหนดมาแบบนี้ก็พอเข้าใจได้ เพราะในร่างเก่าหากให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯเป็นประธานเหมือนเดิมก็ไม่สามารถสั่งการอะไรใครได้ แต่ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจกำกับและบังคับบัญชาในทุกกระทรวงทบวงกรม จึงง่ายต่อการสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและปฏิบัติงานได้โดยไม่มีใครกล้าปฏิเสธ

นอกจากนั้นการที่ สปท. เสนอให้ใช้มาตรา 44 หรือ “ยาวิเศษ” ของท่านผู้นำสูงสุดเพื่อแต่งตั้ง “กปช.” ก่อนร่างกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายครั้งนี้ถึงความรีบร้อนในการได้มาซึ่งอำนาจตามกฎหมาย เพื่อนำไปใช้ในการตอบสนองภารกิจของรัฐบาลที่ใครๆก็ตั้งคำถามว่ามันคืออะไรกันแน่!!

ถึงแม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีข้อดีอยู่ตามสมควร แต่เมื่อบางมาตราถูกตั้งคำถามว่าไม่ได้เขียนออกมาตามหลักการประชาธิปไตย และอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงยากที่จะเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อ “คุ้มครองประชาชน” ในทางกลับกันคนส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าผู้มีอำนาจออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อต้องการ “ควบคุมและสร้างความมั่นคง” ให้กับรัฐบาลมากกว่า

ผมเองเคยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีเกือบ 3 ปี แม้วันนี้กระทรวงจะเปลี่ยนชื่อไปแล้ว แต่ภารกิจของกระทรวงคงไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ผมจำได้ดีว่ามันยากแค่ไหนกว่าจะเสนอกฎหมายใดๆออกไปจากกระทรวง เพราะการเขียนกฎหมายต้องตอบโจทย์ภารกิจของประเทศ และต้องสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศด้วย

ผมยังเชื่อมั่นในข้าราชการของกระทรวงและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่เคยร่วมงานว่า ทุกท่านมีเจตนาดีและพร้อมที่จะทำงานเสียสละเพื่อประเทศชาติและประชาชน แต่การเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาย่อม “มีความยาก” ที่จะปฏิเสธผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศชาติไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้น การทำงานภายใต้รัฐบาลทหารที่ “จำเป็น” ต้องแถวตรง ซ้ายหัน ขวาหันไปตามคำสั่ง จึงยากจะเสนอแนวทางที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย จะเห็นได้จากเนื้อหาของกฎหมายบางมาตราที่มีนิยามและขอบเขตของอำนาจที่กว้างขวางแบบ “ล้นฟ้า” และส่อว่าอาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญปี 2560

ผมยกตัวอย่างแค่มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าเนื้อหาของกฎหมายไซเบอร์ฉบับนี้อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ นี่ยังไม่นับอีกหลายมาตรา เช่น มาตรา 25 มาตรา 32 และมาตรา 36 ที่ท่านผู้อ่านต้องไปเปิดอ่านเอง เนื่องจากหน้ากระดาษหมดแล้ว

น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่เปลี่ยนชื่อกระทรวง “ไอซีที” ไปเป็นกระทรวง “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” แต่กลับออกกฎหมายที่อาจให้ผลสวนทางกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ถ้ามีเวลาสัปดาห์หน้าจะมาบ่นให้ฟังต่อครับ


You must be logged in to post a comment Login