- อย่าไปอินPosted 4 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 23 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ยืดอกพกถุงมือ / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
ถุงมือยางเป็นสิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสวมใส่ก่อนเข้าไปสำรวจในที่เกิดเหตุ เพื่อปกป้องหลักฐานต่างๆไม่ให้มีการปนเปื้อน ระเบียบปฏิบัตินี้เกิดจากคดีฆาตกรรมโหดที่ตำรวจสมัยก่อนใช้มือเปล่าโกยชิ้นส่วนร่างผู้เคราะห์ร้ายเพื่อนำไปพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต
แพทริก มาฮอน เกิดในตระกูลชนชั้นกลางค่อนมาทางชั้นล่างในเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1889 เขาแต่งงานกับเจสซี่ ฮานนาฮ์ เพื่อนสาวสมัยเรียนมัธยมฯ ในปี 1910 หลังจากนั้นแพทริกเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เขาถูกตำรวจจับในข้อหาฉ้อโกงและลักขโมย ปล่อยให้เจสซี่เลี้ยงดูบุตรสาวตามลำพัง
ระหว่างที่แพทริกถูกจำคุก เจสซี่พาลูกสาวย้ายมาอยู่ที่เมืองเซอร์รีย์ และได้งานทำในโรงงานผลิตเครื่องทำน้ำอัดลมแห่งหนึ่ง หลังจากที่แพทริกพ้นโทษ เจสซี่ฝากเขาเข้าทำงานตำแหน่งพนักงานขายในโรงงานแห่งเดียวกัน
แพทริกมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งอย่างลับๆกับเอมิลี่ เบลบี เคย์ เลขานุการสำนักงานบัญชีแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน เอมิลี่เป็นสาวโสดวัย 37 ปี ซึ่งเธอรู้ดีว่าแพทริกแต่งงานแล้วแต่ก็ยังหวังว่าเขาจะหย่ากับภรรยาเพื่อมาอยู่กินกับเธอ
ความลับแตก
วันที่ 25 เมษายน 1924 แพริกกลับจากการเดินสายขายสินค้าหลังจากออกจากบ้านไป 2 สัปดาห์ เจสซี่เก็บเสื้อผ้าสามีไปซัก ระหว่างนั้นเธอล้วงกระเป๋าเสื้อสูทพบตั๋วรับฝากสัมภาระสถานีรถไฟวอเตอร์ลู
ด้วยความแปลกใจว่าทำไมแพทริกจึงต้องฝากสัมภาระไว้ที่สถานีรถไฟวอเตอร์ลู เพราะเกรงว่าแพทริกอาจทำเรื่องผิดกฎหมายอีก เจสซี่ตัดสินใจสืบหาความจริงด้วยตนเอง
เจสซี่ไหว้วานเพื่อนคนหนึ่งที่เคยทำงานเป็นตำรวจรถไฟให้ช่วยสืบ เขาเดินทางไปที่สถานีรถไฟวอเตอร์ลู นำตั๋วรับฝากสัมภาระของแพทริกไปเบิกกระเป๋า เมื่อเปิดกระเป๋าออกมาก็ต้องตกใจ เพราะภายในบรรจุชุดชั้นในสตรีและมีดเปื้อนคราบเลือด
เพื่อนของเจสซี่รีบคืนกระเป๋าไว้ที่เดิม กลับมาเล่าสิ่งที่เห็นให้เจสซี่รับรู้ และบอกให้เธอนำตั๋วรับฝากสัมภาระไปใส่ในเสื้อสูทของแพทริกตามเดิมก่อนที่จะเดินทางไปแจ้งตำรวจ
สารภาพไม่หมด
ตำรวจจัดเวรยามเฝ้ารอที่สถานีรถไฟวอเตอร์ลู จนกระทั่งวันที่ 2 พฤษภาคม แพทริกก็เดินทางมารับกระเป๋าที่ฝากไว้ ตำรวจจึงตรงเข้ารวบตัวได้คาหลักฐานอย่างดิ้นไม่หลุด
แพทริกรับสารภาพว่า เขามีความสัมพันธ์ลับๆกับเอมิลี่ และเกิดมีปากมีเสียงกันจนทำให้เธอสูญเสียการควบคุม ล้มลงศีรษะฟาดกับถังใส่ถ่านหินในบ้านพักที่พวกเขาเช่าไว้เพื่ออยู่ด้วยกัน
ตำรวจเดินทางไปยังบ้านพักที่เกิดเหตุในเมืองซัสเซกส์ พบว่าถังใส่ถ่านหินข้างเตาผิงไม่บุบสลาย ไม่มีร่องรอยของการถูกกระทบอย่างแรงตามคำให้การของแพทริก
จากการสืบสวนยังพบอีกว่าเอมิลี่ตั้งครรภ์ อีกทั้งแพทริกซื้อมีดหั่นเนื้อก่อนหน้าเอมิลี่เสียชีวิตเพียง 3 วัน ซึ่งบ่งบอกว่าแพทริกได้เตรียมการสังหารเอมิลี่ล่วงหน้า แต่จะต้องค้นหาหลักฐานเพื่อมัดตัวแพทริกให้ได้
กระท่อมรัก
ต้นเดือนเมษายน 1924 แพทริกเช่ากระท่อมริมชายหาดเมืองอีสต์บอร์น ชำระค่าเช่าล่วงหน้า 2 เดือน เพื่อใช้เป็นสถานที่ฟีเจอริ่งกับชู้รัก เอมิลี่เดินทางมายังที่นัดหมายเมื่อวันที่ 7 เมษายน
วันที่ 12 เมษายน แพทริกเดินทางเข้าเมืองซื้อมีดหั่นเนื้อขนาดใหญ่และเลื่อยปากฉลาม วันที่ 15 เมษายน แพทริกสังหารเอมิลี่แล้วจัดการหั่นศพเป็นชิ้นเล็กๆ แยกชิ้นส่วนยัดใส่ลงในกระเป๋าเดินทางของเธอ และชิ้นส่วนชิ้นเล็กๆใส่ในกล่องขนมปังนำไปฝังไว้รอบๆกระท่อม ส่วนศีรษะนำไปเผาในเตาผิง
แพทริกยังคงอาศัยอยู่ในกระท่อมอีกหลายวัน ระหว่างนั้นเขารับหญิงชู้รักรายอื่นๆมาที่กระท่อมโดยมีชิ้นส่วนของเอมิลี่ซ่อนในกระเป๋าเดินทางที่เก็บไว้ในห้องนอนรับรองแขกภายในกระท่อม จนกระทั่งเขาเดินทางกลับบ้านเมื่อวันที่ 25 เมษายน และภรรยาพบตั๋วรับฝากสัมภาระในเสื้อสูท
รายละเอียดทั้งหมดคือคำรับสารภาพของแพทริกหลังจากที่ตำรวจพิสูจน์ได้ว่าเขาให้การเท็จในตอนแรก และจำนนต่อหลักฐานที่ตำรวจพบในที่เกิดเหตุ
ถุงมืออนามัย
ตำรวจติดต่อเซอร์ เบอร์นาร์ด สปิลส์บิวรี นักพยาธิวิทยาที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคสมัยนั้น มาทำการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของเอมิลี่ เมื่อเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ เบอร์นาร์ดสั่งตำรวจให้รวบรวมชิ้นส่วนผู้เคราะห์ร้าย
ตำรวจใช้มือเปล่าโกยชิ้นส่วนของเอมิลี่ที่พบนำมาใส่รวมกันในถัง เบอร์นาร์ดถามตำรวจว่าพวกเขาไม่มีถุงมือยางใช้หรือ? ตำรวจตอบว่าไม่มี
วันรุ่งขึ้นเบอร์นาร์ดจดรายชื่อเครื่องมือต่างๆที่ตำรวจจำเป็นต้องมีใช้สำหรับการเก็บรวบรวมหลักฐานในที่เกิดเหตุเสนอให้กรมตำรวจ ซึ่งประกอบด้วย ถุงมือยาง ถุงใส่ศพ แว่นขยาย เทปวัดระยะ ผ้าซับของเหลว คีม กรรไกร ถุงเล็กสำหรับเก็บหลักฐาน และอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็น
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถุงมือยางก็เป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องสวมใส่ก่อนเข้าสำรวจที่เกิดเหตุ และกลายเป็นมาตรฐานที่ตำรวจทั่วโลกนำมาปฏิบัติดังเช่นปัจจุบัน
ส่วนคดีฆาตกรรมเอมิลี่ลงเอยด้วยแพทริกรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา เขาถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคม 1924
You must be logged in to post a comment Login