วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

3 ปี คสช.ชาวประชาหน้าใส / โดย ทีมข่าวการเมือง

On May 22, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ตั้งแท่นตีปี๊บจะแถลงผลงาน 3 ปีรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 22 พฤษภาคม แต่สุดท้าย “ทั่นผู้นำ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ประกาศหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (16 พฤษภาคม) จะไม่แถลงผลงาน 3 ปีของ คสช. แต่จะไปแถลงในเดือนกันยายนแทน โดยช่วงนี้จะสร้างความเข้าใจไปก่อนว่าหลักคิดของรัฐบาลมีปัญหาอะไรบ้างในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนภายใต้โครงการประชารัฐ

พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่า ที่ไม่แถลงผลงาน 3 ปีของ คสช. ส่วนหนึ่งเพราะมีการนำไปเป็นประเด็นโจมตี คสช. และรัฐบาล แต่ยืนยันว่าวันนี้ตนทำงานเกือบ 200 เปอร์เซ็นต์ จึงอย่ามาว่าไม่มีผลงาน ทั้งฝากสื่ออย่าให้ความสำคัญกับพวกที่พูดจาให้รัฐบาลเสียหายถ้าคาดหวังจะให้ลูกหลานมีความสุขในวันข้างหน้า หากให้เครดิตพวกโจมตีรัฐบาล ตนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

“อย่าไปฟังคำพูดที่สัญญาว่าวันหน้ากลับมาแล้วจะให้อะไร ผมไม่ได้สัญญาแบบนั้น ผมเพียงแต่ให้ทุกคนวาดอนาคตร่วมกัน มองปัญหาและร่วมกันแก้ ผมใช้วิธีการแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วจะให้อะไรตอบแทน ถ้าเลือกตั้งกันแบบนั้น ผมถามว่าได้อะไรกลับมา นี่คือสิ่งที่ผมกังวล เพราะผมห่วงประเทศไทย ไม่ได้ห่วงประชาธิปไตย เพราะยังไงประชาธิปไตยก็ต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยที่ถูกต้องมันเป็นอย่างไร การเลือกตั้งที่ได้คนมีปัญหาเข้ามาจะทำอย่างไรกับเขา ผมเข้าใจว่าการเลือกตั้งคงไม่ต่างจากของเดิมเท่าไร แต่มันก็ต้องเลือกตั้ง ประเทศไทยมีอิสรภาพเยอะแยะ เราไม่ใช้อิสรภาพเหล่านี้เลย มัวแต่ทะเลาะเบาะแว้ง มัวแต่มีปัญหา แล้วยังไม่เข้าใจปัญหาและยังให้เป็นปัญหาต่อไป ให้นึกถึงลูกหลานกันบ้าง เขาจะโตอย่างไรในวันข้างหน้าถ้าเจอปัญหาแบบนี้ รัฐบาลนี้พยายามจะวางพื้นฐานให้ ก็ขอให้เข้าใจกันหน่อย ใครที่มาพูดบิดเบือน ทุกคนก็รู้อยู่ว่าสิ่งที่เขาพูดไม่ใช่ แต่ทุกคนก็เสนอข่าวกลายเป็นว่ารัฐบาลนี้ล้มเหลว ไม่ทำอะไร ไม่มีผลงาน ประชาชนลองจับดูว่าได้อะไรบ้าง แต่ถ้าถามว่าจะได้สตางค์หรือไม่ ผมบอกเลยว่าไม่ได้ทุกคน เพราะทุกคนต้องออกแรงร่วมมือช่วยตัวเองบ้าง ถ้าคิดว่าให้เป็นหน้าที่รัฐบาลโดยอยู่เฉยๆมันไปไม่ได้ ไม่มีประเทศไหนทำได้ ต้องร่วมมือไปด้วยกัน”

3 ปี คสช. ไม่มีรัฐบาลไหนทำได้อีกแล้ว

“สิ่งที่ผมไม่พอใจ เพราะทำให้เสร็จตามเวลาไม่ได้ แต่ก็ทำทุกอย่างได้ดีที่สุดตราบเท่าที่มีงบประมาณและมีเวลาทำ ส่วนใครจะทำต่อวันข้างหน้าก็ไปว่ากันมา เราพยายามทำทุกอย่างให้ต่อเนื่องเพื่อวันข้างหน้า หลายคนไม่เข้าใจและไม่พอใจ หาว่าจะสืบทอดอำนาจ ผมก็จะสืบทอดปัญหาให้ท่านไง เพราะถ้าผมทำไม่เสร็จก็จะส่งปัญหาเหล่านี้ไปให้พวกท่านแก้ต่อ นั่นแหละเขาเรียกว่าสืบทอดสิ่งที่จะต้องทำให้กับประเทศชาติ อันไหนที่เขาคิดว่าทำดีกว่าก็ให้ไปหาวิธีการใหม่ทำ”

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า วันนี้สิ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจคือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่อยากให้มองประเด็นที่รัฐบาลจะต้องอุดหนุน แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาให้ แต่ก็ต้องดูแลเท่าที่มีงบประมาณ ซึ่งคงไม่ได้ตามมาตรฐาน เพราะรัฐบาลคงไม่มีเงินจากไหนมาให้ ถ้าจะให้ปูพื้นแบบเท่าเทียมกันรัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาล อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามหาช่องทาง แต่อย่าไปปลุกระดมเรื่องสิทธิที่ต้องเท่าเทียมกัน หากทุกคนมีรายได้พอเพียงแล้วยังต้องรับอยู่อีกเหรอ อยากฝากสื่อมวลชนให้ช่วยสร้างความเข้าใจด้วย เพราะประเทศไทยประกอบด้วยคนหลายอาชีพ หลายระดับ หลายรายได้ และรัฐบาลก็มีมาตรการดูแลแต่ละระดับ จะให้อุดหนุนทุกอย่างในโลกใบนี้เป็นไปไม่ได้ การแก้ปัญหาถ้าไม่ไว้วางใจกัน ถามว่าใครจะทำได้ ถ้ารัฐบาลนี้ทำไม่ได้ ไม่มีรัฐบาลไหนทำได้อีกแล้ว ตนไม่อยากพูดเดี๋ยวจะหาว่าให้ความสำคัญตัวเอง มันไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเราเอาทุกปัญหามาดูและทำให้ได้เท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ไม่ทำ หากไม่ทำก็เกิดปัญหายาวนานสะสมไปอีก วันหน้าก็จะกลับมาที่เก่า นี่คือสิ่งที่ตนเป็นห่วง จึงอยากฝากประชาชนทั้งในชนบทและในเมืองให้ฟังรัฐบาลบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แม้แต่การประเมินผลงานองค์กรระหว่างประเทศก็ได้นำมาดูเพื่อนำมาแก้ไข ที่ผ่านมาเคยทำกันหรือไม่ มันเป็นสิ่งที่ยากเขาถึงไม่ทำ การทำงานเพื่อประเทศไม่ใช่ทำปีเดียวแล้วจบ การพัฒนาประชาธิปไตยก็เหมือนกัน 85 ปีมาแล้วจะต้องไปสู่ประชาธิปไตยอะไร ไปสู่การเลือกตั้งแบบเดิมๆหรือไม่ ได้คนเก่ามาหรือ ตนคิดว่าไม่ใช่ รัฐบาลแก้ปัญหาที่โครงสร้าง แก้กฎหมาย แต่คนก็ไม่ชอบตน ซึ่งก็ยอมรับว่ามีความขัดแย้งสูง เพราะคนเราคิดไม่เหมือนกัน แต่การจัดลำดับของยูเอสนิวส์ว่าไทยดีขึ้นหลายอย่าง แม้แต่เรื่องเสรีภาพ ตนไม่เห็นว่าไปควบคุมอะไรใครทั้งที่มีกฎหมาย มีอำนาจเยอะแยะ วันนี้เรากำลังเป็นรัฐบาลปฏิรูปประเทศ อะไรที่เป็นสาระก็ฟังกันหน่อยและไปช่วยกันขับเคลื่อน สร้างความเข้าใจ ไม่ใช่เอาคนที่ไม่เคยทำมาตีคนที่ทำ

3 ปี คสช. จับกุมคุมขังเพียบ

คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ต่างจากที่ผ่านมา เพราะยังยืนยันว่าจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองที่หมักหมมมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ไม่ต่างกับการมองว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์พยายามเจาะจงไปที่นักการเมืองว่าคือปัญหา แต่ไม่พูดถึง “วงจรอุบาทว์” ซ้ำซากที่เกิดจากการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ จนคนส่วนใหญ่ไม่มีใครเชื่อว่าการรัฐประหารจะแก้ปัญหาประเทศได้

แม้แต่การทำรัฐประหารของ คสช. ที่รัฐบาลทหารและ คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากที่สุด แต่ 3 ปีที่ผ่านมากลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าไม่ได้แก้ปัญหาตามที่ประกาศไว้เลย แม้แต่โรดแม็พก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้งเพื่อคืนระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน แต่ 3 ปีของ คสช. ถูกมองว่าทำให้บ้านเมืองยิ่งถอยหลังและมีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งและปัญหาเศรษฐกิจ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุดคือประชาชน

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกคำสั่งและกฎหมายมากมายเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศตามที่ประกาศ แต่สิ่งที่ปรากฏอีกด้านคือ ทุกคน ทุกฝ่ายต้องเชื่อและไว้วางใจรัฐบาลทหารและ คสช. ขณะที่ผู้เห็นต่างจำนวนมากกลายเป็น “คนไม่ดี” หรือไม่หวังดีกับบ้านเมือง การเรียกมารายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ จนถึงการจับกุมและดำเนินคดีข้อหาต่างๆ ไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมือง แต่ยังรวมถึงนักวิชาการ ประชาชน และนักศึกษา แม้แต่การแสดงความเห็นในเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบ ซึ่งสวนทางกับที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าไม่ได้บังคับอะไรใคร

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw ระบุว่า หลังรัฐประหารมีการจับกุมผู้ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จำนวน 270 คน ยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 จำนวน 62 คน ผิด พ.ร.บ.ความสะอาดฯและข้อหาเล็กน้อย 20 คน ฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรียกรายงานตัวกับ คสช. 13 คน และข้อหาอื่นๆที่มาจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 26 คน และตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2558 มีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารถึง 1,408 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,629 คน

3 ปี คสช. เสรีภาพทางวิชาการถดถอย

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ เขียนบทความ “ทหารมีไว้ทำไม” จนเกิดกระแสตอบโต้จากกองทัพและการวิพากษ์วิจารณ์มากมายในสื่อออนไลน์ โดยนายนิธิเป็นปัญญาชนคนแรกๆที่ถูกตำรวจ-ทหารรวบตัวในงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ได้ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยถึง 3 ปีของการยึดอำนาจว่า ไม่เคยมีครั้งไหนที่ความเป็นวิชาการถูกกระทบมากขนาดนี้ แม้แต่ในชั้นเรียนยังถูกระงับ เสรีภาพทางวิชาการจึงถดถอย มีหลายเรื่องที่พูดไม่ได้โดยอิสระ หลายกิจกรรมนักวิชาการตั้งใจจะจัดแต่ไม่ได้รับอนุญาต

“ถ้าคุณพยายามจะจัดให้ได้ก็ต้องจัดในสิ่งที่ไม่ออกมาพูดโดยตรง แต่ทำในเชิงสัญลักษณ์หลบเลี่ยงไป ดังนั้น ทำให้ตัววิชาการก้าวหน้าต่อไปได้ยาก เพราะถ้าเป็นตัววิชาการต้องตรงไปตรงมา ต้องเปิดให้คนอื่นวิจารณ์คุณได้ทุกแง่มุม โต้แย้งคุณได้ ถ้าต้องหลบเลี่ยงมันเป็นแทคติก ซึ่งจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองไป ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม”

กรณีของนายนิธิเป็นหนึ่งในตัวอย่างนักวิชาการหลายคนที่ถูกควบคุมตัวและถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลทหารและ คสช. ซึ่งนายนิธิยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ ผู้มีอำนาจอาจคิดว่าเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” แต่นายนิธิกลับมองว่าไม่ใช่ เพราะลิงดูจนเบื่อหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิชาการที่ถูกดึงไปร่วมกับรัฐบาลทหารในฐานะเป็น “เครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย” อย่างน้อย 41 คน โดยร่วมในคณะรัฐมนตรี 5 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 16 คน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 13 คน และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 7 คน ซึ่งนายนิธิถือว่านักวิชาการเหล่านี้ตายไปแล้วในทางวิชาการ เพราะถูกท้าทายโดยนักวิชาการรุ่นใหม่และไม่เคยตอบคำถามใดๆได้เลย โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ต่อตัวเองในฐานะนักวิชาการ

3ปี คสช. เพื่อไทย-ปชป. ยันเสียของ

การวิพากษ์วิจารณ์ผลงาน 3 ปีของ คสช. จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไม่แถลงผลงาน คงหนีไม่พ้นการออกมาของฝ่ายการเมืองที่มีความเห็นไม่แตกต่างกันนักว่า 3 ปีการรัฐประหารครั้งนี้ “เสียของ” และ “เสียเปล่า” ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า รัฐบาลทหารและ คสช. ล้มเหลวการสร้างความปรองดองอย่างสิ้นเชิง แล้วยังทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ไม่เคารพความเห็นต่าง ควบคุมและปิดปากประชาชน ซึ่งสร้างความสงบได้แต่ก็ไม่ยั่งยืน และยิ่งแตกแยกมากขึ้น ไม่นับรวมปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งเหว การยึดอำนาจครั้งนี้จึงมากกว่าการเสียของ เพราะทำให้ประชาชนทุกข์ยาก และประเทศถอยหลังไปหลายสิบปี

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งยืนยันว่าเศรษฐกิจมีปัญหามาโดยตลอด กล่าวว่า ผลงานของ คสช. ไม่มีสิ่งที่จับต้องได้เลย มีแต่คำพูดหรูๆเท่านั้น ความสงบเรียบร้อยที่อ้างถึงต้องถามว่า ก่อนปฏิวัติทหารมีส่วนทำให้เกิดความไม่สงบร่วมกับ กปปส. ด้วยหรือไม่ เชื่อว่าตอนนี้สังคมคงมีคำตอบชัดเจนแล้ว และข้ออ้างเข้ามาแก้ปัญหาการทุจริตกลับมีข้อครหาการทุจริตเพิ่มขึ้นอีก ทั้งยังปิดกั้นเสรีภาพและการแสดงออกของประชาชน พยายามจะควบคุมสื่อและการรับรู้ของประชาชน ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ เยาวชนหัวก้าวหน้าถูกตำหนิและห้ามพูด บางคนถูกจับ ภาพพจน์ของประเทศในสายตาประชาคมโลกตกต่ำสุดขีด

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปีที่ 3 ทำให้เห็นปัญหาชัดเจนมากกว่า 2 ปีก่อนคือ การรัฐประหารนอกจากแก้ปัญหาประเทศไม่ได้แล้ว ยังจะทำให้ปัญหาต่างๆเลวร้ายมากกว่าเดิม เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีความแน่นอน ไม่ชัดเจนว่าจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพได้เมื่อไร การปฏิรูปก็ไม่เป็นแก่นสารอะไรเลย การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่คนจำนวนไม่น้อยฝากความหวัง คสช. กลับเข้ามาแทรกแซงองค์กรต่างๆที่มีหน้าที่จนไม่มีความเป็นอิสระ รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐก็สูญเปล่า ไม่คำนึงถึงความสามารถทางการคลังและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เห็นถึงปัญหาหลายมิติพร้อมๆกันคือการซื้อเรือดำน้ำ 3 ปีของ คสช. กำลังสะสมปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คสช. ยึดอำนาจเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งแตกแยกและความรุนแรง แต่ตนมองว่ารัฐบาลสอบไม่ผ่าน ขณะที่ผู้มีอำนาจก็ใช้เรื่องนี้มาต่อรองกับประชาชนเสมอว่าอยากให้บ้านเมืองกลับไปเป็นแบบนั้นอีกไหมและจะไม่รับผิดชอบอะไรอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นรัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม ส่วนการปฏิรูปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร จับต้องไม่ได้ ซ้ำยังรวบอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลางอีก การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ก่อนนี้ผู้มีอำนาจกล่าวหานักการเมืองจากการเลือกตั้งทุจริต ยุคนี้ไร้นักการเมืองบริหารประเทศ แต่การทุจริตก็ยังมีและเพิ่มมากขึ้นด้วย

3 ปี คสช. “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

แม้ฝ่ายการเมืองและกลุ่มต่างๆจะโจมตีว่ารัฐประหารเสียของ แต่รัฐบาลและผู้นำกองทัพประสานเสียงว่า เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองมั่นคงและสงบสุข ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นที่สุด

ถ้าดูจากตัวเลขงบประมาณคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของกองทัพ ซึ่งงบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ สำนักข่าวบีบีซีไทยได้รายงานถึงโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตลอด 3 ปีของ คสช. ที่ถือเป็น “เรื่องลับ” ว่าหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 งบด้านการทหารเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า งบประมาณทหารของไทยเพิ่มจาก 86,000 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 169,000 ล้านบาทในปี 2552 และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 200,000 ล้านบาทในปี 2556 ก่อนจะปรับลงเล็กน้อย ส่วนงบประมาณปี 2560 ประมาณ 214,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าในรอบ 12 ปี

กองทัพไทยจึงถือว่ามีความแข็งแกร่งมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยเว็บไซต์ globalfirepower ซึ่งจัดอันดับแสนยานุภาพทางทหารของโลก จัดให้กองทัพไทยมีแสนยานุภาพอันดับที่ 19 ของโลก สูงกว่าเกาหลีเหนือที่มีอาวุธพิสัยไกลสามารถยิงข้ามทวีปได้ ขณะที่กำลังพลประจำการมีกว่า 200,000 นาย และสามารถเรียกระดมพลได้ทันทีถึง 27 ล้านนาย

บีบีซีไทยยังเปิดเผยว่า การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้งบประมาณสูงและน่าสนใจมีอย่างน้อย 9 โครงการคือ กองทัพบก ปี 2558 ซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีนไม่ระบุจำนวน มูลค่า 4,985 ล้านบาท ปี 2559 ซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi7VS จากรัสเซีย 2 ลำ มูลค่า 1,698 ล้านบาท ปี 2559 ซื้อเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซียไม่ระบุรุ่น 4 ลำ มูลค่า 3,385 ล้านบาท และปี 2560 ซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีนไม่ระบุจำนวน มูลค่า 2,017 ล้านบาท

กองทัพเรือ ปี 2558 ซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งไม่ระบุรุ่นและจำนวน มูลค่า 2,850 ล้านบาท ปี 2558 ซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่งไม่ระบุรุ่น 4 ลำ มูลค่า 490 ล้านบาท ปี 2559 ซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่งไม่ระบุรุ่น 5 ลำ มูลค่า 627 ล้านบาท และปี 2560 จัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท และกองทัพอากาศ ปี 2560 ซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เบื้องต้นจากเกาหลีใต้ 8 ลำ มูลค่า 8,997 ล้านบาท

กองทัพไทยจึงมีความมั่นคงและมั่งคั่ง เพราะงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นกว่า 100% ก่อนรัฐประหารปี 2549 ได้เพียง 86,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 214,000 ล้านบาทในปี 2560 คสช. จึงมั่นใจในความมั่นคงทั้งกองทัพและการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งก็แยกไม่ออกว่าอำนาจที่มั่นคงนี้จะมีผลประโยชน์อื่นๆตามมาด้วยหรือไม่ ไม่ว่าจะมองเห็นและมองไม่เห็น เฉพาะเงินเดือนและผลตอบแทนที่ คสช. แต่งตั้งนายทหารทั้งเกษียณอายุและยังรับราชการจำนวนมากเข้าไปนั่งตำแหน่งต่างๆทางการเมืองและรัฐวิสาหกิจช่วง 3 ปีนั้น แค่เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงต่างๆ บางคนมีรายได้ปีละเป็นล้าน อย่าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม แจ้งที่มารายได้ต่อปีต่อ ป.ป.ช. 5,060,000 บาทคือ เงินเดือน 1,470,000 บาท รายได้จากการเป็นสมาชิก คสช. 1,440,000 บาท รายได้จากเป็นกรรมการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด 410,000 บาท กรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย 192,000 บาท กรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศไทย 128,000 บาท กรรมการกองทุน กสทช. 60,000 บาท และสมาชิก สนช. 1,360,000 บาท ตัวเลขผลตอบแทนจากการควบตำแหน่งทำงานหนักเหล่านี้นับว่าเป็นความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” มิใช่น้อย

3ปี คสช. ชาวประชาหน้าใส

หากถามว่า “วันนี้ประเทศไทยอยู่ตรงไหนบนโลกใบนี้” ซึ่งเป็นหัวข้อการจัดกิจกรรมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (ขบวนการประชาธิปไตยใหม่) วันที่ 21-22 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในโอกาส 3 ปีรัฐประหาร คสช. ที่ไม่รู้ว่าจะจัดได้หรือไม่นั้น คำตอบคงไม่พ้นว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารที่มั่นคง (ด้วยยุทโธปกรณ์) มั่งคั่ง (ด้วยงบประมาณกระทรวงและตำแหน่งที่ไว้ให้เฉพาะ “คนดี”) และยั่งยืน (ด้วยยุทธศาสตร์ชาติอย่างต่ำๆ 20ปี) เบ็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ส่วนผลงาน 3 ปีภายใต้การบริหารประเทศด้วยอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จจากการรัฐประหารจนประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่คนไทยไม่ได้เลือกนั้นจะแถลงว่าอย่างไร “เอาที่สบายใจ” ก็แล้วกัน เพราะไม่กี่วันที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งกล่าวถึงกรณีคนรากหญ้าว่า

“..หากท่านอยากสบาย ไม่ต้องทำงานมาก เกียจคร้าน ไม่อดทน ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องช่วยเหลือตลอดเวลา คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความจริง อย่าไปหลงเชื่อในวาทกรรมการบิดเบือนและการสร้างความเข้าใจที่ผิดๆอีกต่อไป ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม หวังดีหรือไม่หวังดี หรืออาจจะมีผู้ที่หวังผลให้บ้านเมืองไม่สงบสุข”

หรือกล่าวปฏิเสธการสืบทอดอำนาจไว้อย่างน่างงงวยว่า “..สิ่งที่ผมไม่พอใจคือทำให้เสร็จตามเวลาไม่ได้ เเต่ก็ได้ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดตราบเท่าที่มีงบประมาณเเละมีเวลาทำอยู่ ในส่วนที่ว่าใครจะทำต่อเป็นเรื่องอนาคต เราก็พยายามให้มันต่อเนื่องไปข้างหน้า มีหลายคนไม่เข้าใจหาว่าจะสืบทอดอำนาจ เเต่ผมสืบทอดปัญหาที่ท่านส่งมาให้ผมต่างหาก ผมทำไม่เสร็จก็ต้องส่งให้ท่านเเก้ต่อ นั่นเเหละเรียกว่าสืบทอดสิ่งที่จะทำให้ประเทศชาติ ถ้าเห็นว่ามีวิธีการใหม่ที่จะทำให้ดีกว่าก็ไปหาวิธีทำมา”

หรือคนไทยอยากรู้ว่า “ทั่นผู้นำ” ทำงานหนักแค่ไหน ท่านก็ตอบชัดเจนว่า “..ถามว่าใครจะทำได้ ถ้ารัฐบาลนี้ทำไม่ได้ มันไม่มีรัฐบาลไหนทำได้อีกแล้ว..”

…ฟังแล้วก็เชื่อได้ว่า “การบริหารประเทศนั้นง่ายนิดเดียว” เพราะ 3 ปีที่ คสช. บอกว่า เราจะทำตามสัญญาเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ.. บัดนี้ชาวประชาหน้าใสวิ้ง!!??


You must be logged in to post a comment Login