วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ผู้พิทักษ์ลายเส้นนัซกา / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On May 29, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

ลายเส้นปริศนาที่ขีดเขียนบนพื้นทะเลทรายกินเนื้อที่กว้างกว่า 520 ตารางกิโลเมตร ได้รับการปัดกวาดจนปรากฏให้เห็นเป็นภาพต่างๆโดยผู้หญิงตัวเล็กๆเพียงคนเดียว และเธอคอยเฝ้าระวัง ปกป้องรักษาภาพลายเส้นนัซกาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ปี 1932 มาเรีย ไรช์ สาวเยอรมันวัย 20 ปี สมัครเป็นครูสอนส่วนตัวให้กับลูกชายทูตชาวเยอรมันที่ประจำอยู่ในกรุงลิมา ประเทศเปรู หลังจากนั้นเธอก็ทำงานแปลเอกสารให้กับฮูลิโอ เตโย นักโบราณคดีชาวเปรู

วันหนึ่งมาเรียบังเอิญได้ยินฮูลิโอสนทนากับโตริบิโอ เมเยีย นักโบราณอีกคนหนึ่ง โตริบิโอบอกว่าเขาพบลายเส้นปริศนาบนพื้นทะเลทรายใกล้กับเมืองนัซกา และพยายามโน้มน้าวให้ฮูลิโอไปสำรวจ แต่ฮูลิโอตอบกลับไปว่า มันไม่น่าสนใจ

มาเรียเกิดความสงสัยว่าลายเส้นบนพื้นทะเลทรายที่โตริบิโอพูดถึงนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เธอตัดสินใจเดินทางไปทะเลทรายชายเมืองนัซกาตามลำพังเพื่อดูด้วยตาตัวเอง

ลายเส้นปริศนา

ลายเส้นกว่า 1,000 เส้นบนพื้นทะเลทรายกินเนื้อที่หลายร้อยตารางกิโลเมตร สร้างความประหลาดใจให้กับมาเรียเป็นอย่างมาก เส้นบางเส้นแคบขนาดแค่รอยเท้า แต่บางเส้นมีความกว้างถึง 15 ฟุต บางเส้นก็สั้น บางเส้นก็ยาว เส้นส่วนใหญ่ถูกลากเป็นเส้นตรงเหมือนลากด้วยไม้บรรทัดยาวหลายกิโลเมตร

เส้นเหล่านี้ถูกทำขึ้นโดยมนุษย์ระหว่าง 200 ปีก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. 700 ด้วยการแกะสลักผิวหินชั้นบนที่สีดำคล้ำออกไปเผยให้เห็นเนื้อหินชั้นล่างที่มีสีอ่อนเรียงต่อกันเป็นเส้นตรง

ต่อมาในปี 1939 พอล โคซอก นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เดินทางมายังเปรูเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการชลประทานยุคโบราณ เขาได้ยินว่ามีผู้ค้นพบเส้นปริศนาลากยาวกินเนื้อที่หลายร้อยตารางกิโลเมตรบนพื้นทะเลทรายใกล้กับเมืองนัซกา ซึ่งเขาเชื่อโดยส่วนตัวว่าอาจเป็นทางส่งน้ำ

เมื่อพอลเดินทางมาดูด้วยตาตัวเอง เขาก็พบว่าเส้นเหล่านี้แคบและตื้นเกินกว่าที่จะเป็นทางส่งน้ำได้ เขาจึงตั้งทฤษฎีใหม่ว่ามันคือปฏิทินดาราศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ พอลเฝ้าสังเกตลายเส้นในวันที่ 21 มิถุนายน 1941 ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรโลกมากที่สุด และพบว่าดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับเส้นนัซกาเส้นหนึ่ง

ภาพวาดบนพื้นทะเลทราย

สิ่งที่พอลยังไม่เข้าใจคือ ขณะที่เส้นส่วนใหญ่เป็นเส้นตรง แต่มีบางเส้นเป็นเส้นโค้ง เขาจึงเริ่มร่างเส้นที่เห็นลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อร่างจนเสร็จเขาพบว่ามันเป็นภาพนกขนาดใหญ่ที่จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อมองมาจากที่สูงมากๆเช่นบนท้องฟ้าเท่านั้น

พอลปักใจเชื่อทันทีว่าลายเส้นปริศนาเหล่านี้คือปฏิทินดาราศาสตร์ของคนโบราณ เขาต้องการรู้ว่าเส้นอีกหลายพันเส้นที่เหลือประกอบกันเป็นรูปอะไรบ้าง เขาจึงว่าจ้างมาเรียให้มาทำการสำรวจ

มาเรียตกปากรับคำ เธอเดินทางเข้าทะเลทรายโดยมีเพียงกระติกน้ำดื่มกับสมุดจดและปากกา ทำการขีดเขียนเส้นสายตามที่เห็นบนพื้นลากมาบรรจบกันเป็นรูปต่างๆมากมาย จนกระทั่งไปพบเส้นเส้นหนึ่งที่ชี้ตรงไปยังดวงอาทิตย์ในวันที่ 22 ธันวาคม ซึ่งเป็นอีกวันหนึ่งของปีที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรโลกมากที่สุด

สิ่งที่มาเรียพบยืนยันทฤษฎีของพอลว่าลายเส้นนัซกาคือปฏิทินดาราศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การทำงานของมาเรียถูกขัดจังหวะเมื่อเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 มาเรียถูกห้ามทำงาน เพราะเธอเป็นคนเยอรมัน

งานปัดกวาด

หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง มาเรียก็กลับมาทำงานอีกครั้งในปี 1946 แต่งานทำความสะอาดพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตรในยุคสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

มาเรียใช้คราดกวาดฝุ่นทรายบนพื้นทะเลทราย แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เธอจึงเปลี่ยนมาใช้ไม้กวาดแบบที่ใช้กวาดบ้านปัดกวาดแทน ซึ่งเธอใช้วิธีนี้ในการปัดฝุ่นทรายออกจากผิวหน้าลายเส้นปริศนาตลอดระยะเวลา 50 ปี พบภาพลายเส้นอื่นๆอีกกว่า 30 ภาพ

ดังนั้น อาจพูดได้ว่ามาเรียคือผู้ค้นพบภาพลายเส้นนัซกาส่วนใหญ่ และไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเป็นผู้ที่ทำให้สาธารณชนหันมาสนใจภาพลายเส้นปริศนานี้ด้วยการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Mystery On The Desert (ปริศนาบนทะเลทราย)

ลายเส้นนัซกากลายเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในปี 1968 เมื่ออีริช ฟอน ดานิเกน เขียนหนังสือเรื่อง Chariots Of The God โดยตั้งข้อสังเกตว่า ภาพลายเส้นนัซกาแท้ที่จริงแล้วก็คือสัญลักษณ์บอกตำแหน่งให้ยานอวกาศลงจอด

องครักษ์พิทักษ์ลายเส้น

เมื่อมีคนรู้กันมากก็ยิ่งมีคนอยากมาชมลายเส้นปริศนาด้วยตาตนเอง นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลเดินทางมายังทะเลทรายนัซกา บางคนก็ขี่บิ๊กไบค์ บางคนก็มาด้วยรถลุยทะเลทราย คนเหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับลายเส้นโบราณบนพื้นทะเลทราย

มาเรียอุทิศรายได้ทั้งหมดที่เธอได้รับจากการขายหนังสือว่าจ้างคนลาดตระเวน ระแวดระวังไม่ให้นักท่องเที่ยวสร้างความเสียหายให้กับลายเส้นนัซกา

ช่วงบั้นปลายชีวิตมาเรียป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน แต่เธอก็ยังนั่งรถเข็นสั่งการให้ขับไล่นักท่องเที่ยวกลุ่มที่สร้างความเสียหายให้กับลายเส้นนัซกา จวบจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1998 ด้วยวัย 95 ปี

ลายเส้นนัซกามีมากกว่า 1,000 เส้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บังเอิญมีเส้นตรงไปตรงกับดวงอาทิตย์ในวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ขณะที่ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าลายเส้นที่เหลือมีความสัมพันธ์กับดวงดาวหรือไม่ ดังนั้น ปัจจุบันจึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าลายเส้นนัซกาถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใดกันแน่


You must be logged in to post a comment Login