วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

Thought & Imagineประวัติศาสตร์และความรับผิดชอบ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On May 29, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

คำว่า “ประวัติศาสตร์” ที่มาจากภาษาอังกฤษ “Chronicler” แปลว่าการประมวลและลำดับเหตุการณ์ ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้คิดคำว่าประวัติศาสตร์ขึ้นมาเพื่อใช้แทนภาษาอังกฤษ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงทฤษฎีของประวัติศาสตร์จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องอ้างอิงวิชาการจากโลกตะวันตก

เริ่มจากการกล่าวถึง “เฮโรโดตัส” ปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานให้กับการเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ โดยให้มีการตีความอย่างเป็นธรรมชาติ และบุคคลต่อมาที่ผมให้ความสนใจได้แก่ Edward Hallett Carr (E.H. Carr) ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ “What is History” เขากล่าวว่า “ข้อมูลทางประวัติศาสตร์คือการสนทนาระหว่างผู้เขียนกับข้อมูลของเขา หรือเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนกับข้อมูล ซึ่งเป็นการสนทนาตอบโต้อย่างไม่รู้จบ”

ความหมายดังกล่าวเป็นเรื่องเดียวกับที่ปราชญ์ชาวเยอรมันคือ “นิทเช่” กล่าวว่า “ข้อมูลทางประวัติศาสตร์นั้นก็คือการตีความของนักประวัติศาสตร์นั่นเอง” ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เราอาจยกตัวอย่างเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112 หากจะตีความประวัติศาสตร์แบบพม่า ซึ่ง ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า เคยให้ข้อสังเกตว่า “ถ้าตีความอีกอย่างแล้ว สงครามใน พ.ศ. 2112 พม่าไม่ได้ถือว่าไทยเสียกรุง แต่การเสียเอกราช นักประวัติศาสตร์พม่ามองว่า เกิดจากสงคราม พ.ศ. 2106 เพราะตอนนั้นพม่าในนามของอาณาจักรตองอูยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทางอยุธยาต้องเสียช้างเผือกไป 2 เชือก เพื่อแลกตัวกับพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวรซึ่งถูกจับไปเป็นตัวประกัน ดังนั้น พม่าถือว่าช้างเผือกคือสัญลักษณ์ของพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ การเสียช้างเผือกไป 2 เชือก จึงเท่ากับเป็นการเสียเอกราชของอยุธยา และมีการหย่าศึกระหว่างกัน โดยอยุธยาต้องเสียช้างไปอีก 30 เชือก เงิน 300 ชั่ง และต้องให้ตองอูเก็บภาษีที่เมืองมะริดได้”

ด้วยเหตุผลนี้พม่าจึงถือว่าอยุธยาได้เสียเอกราชไปตั้งแต่ พ.ศ. 2106 และครั้งนั้นทางตองอูได้ประกาศแต่งตั้งให้พิษณุโลกเลิกขึ้นต่ออยุธยาและให้ปกครองเป็นประเทศราชของตองอู เมื่อตีความเช่นนี้ สงคราม พ.ศ. 2112 ทางฝ่ายพม่าจึงถือว่าเป็นเพียงการยกทัพมาปราบขบถ

อีกตัวอย่างของการตีความทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจคือ กรณีที่นักประวัติศาสตร์หลายคนตีความว่าพระมหาธรรมราชาทรงหักหลังชาติไทยไปเข้าข้างบุเรงนองแห่งหงสาวดี จนทำให้ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก การตีความเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาด

เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วพระมหาธรรมราชาทรงขัดแย้งเป็นการส่วนตัวกับพระมหินทราธิราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองอยุธยาแทนพระมหาจักรพรรดิซึ่งทรงออกผนวช เพราะพระมหินทราธิราชสมคบเตรียมให้พระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้างยกทัพเพื่อมากำจัดพระมหาธรรมราชาที่พิษณุโลก มีการวางแผนจะยกพระเทพกษัตรีให้เป็นมเหสีของพระไชยเชษฐาธิราช จึงทำให้พระมหาธรรมราชาสะกิดบอกพระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีดักชิงตัวพระเทพกษัตรี เพราะทางอยุธยาต้องการจะถ่วงดุลหงสาวดีด้วยการผูกสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรล้านช้าง

ถ้าตีความประวัติศาสตร์เช่นนี้ เท่ากับพระมหาธรรมราชาไม่ได้ทรยศชาติไทยแต่อย่างใด แต่พระองค์ถูกฝ่ายอยุธยาบีบบังคับให้ไม่มีทางเลือกจนต้องไปเข้าข้างหงสาวดี

อีกประการคือ ช่วงเวลาดังกล่าวประวัติศาสตร์ชาติยังไม่มี คงมีเพียงประวัติศาสตร์ของอาณาจักร นี่คือความหมายของการตีความและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งยังมีแนวคิดของ “Robin George Collingwood” ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของประวัติศาสตร์ชื่อ “A Study of History” เขากล่าวว่า โดยความหมายแท้จริงแล้วประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความคิดและจินตนาการที่จะต้องประมวลเหตุผลตรวจสอบกัน

ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก ให้ความเห็นว่า ประวัติศาสตร์จำเป็นจะต้องปลายเปิด เพราะเป็นเหมือนคดีที่จะต้องสอบสวน และความหมายของคำว่า History ก็มาจากรากศัพท์ภาษากรีกซึ่งแปลว่าการทบทวนไต่สวนนั่นเอง

ข้างต้นเป็นการกล่าวถึงการตีความข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แม้แต่ Robin George Collingwood ก็เห็นว่าข้อมูลประวัติศาสตร์นั้นย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนประวัติศาสตร์โดยตรง และในการตีความประวัติศาสตร์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะแต่ละช่วงเวลาก็จะเกิดมุมมองและการตีความใหม่ๆ

เรามามองประวัติศาสตร์ระยะสั้นกันบ้าง ในกรณีที่มีการตีความเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ผมว่าการเปลี่ยนแปลงก็เปรียบเสมือนปูเสฉวน แต่เปลี่ยนแปลงแล้วจะเป็นอะไรก็อยู่ที่ปูเสฉวนจะเอาเปลือกหอยอะไรมาหุ้มตัวเองเพื่ออาศัยอยู่ต่อไป

ถ้ามีการเลือกตั้งในประเทศไทย ก็ต้องมองดูว่าปูเสฉวนจะเข้าไปอยู่ในเปลือกหอยอะไร ใครเป็นปูเสฉวนหรือใครจะเป็นเปลือกหอยก็พิจารณาเอาเองนะครับ!


You must be logged in to post a comment Login