วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รัฐประหารไทยอยู่ตรงไหนบนโลกใบนี้ / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On May 29, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ในโอกาสครบรอบ 3 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ประเมินดูว่าสถานะรัฐบาลทหารไทยมีตำแหน่งแห่งที่ตรงไหนในโลกใบนี้ แรกสุดประเทศที่มีการรัฐประหารปรากฏว่าพบอยู่ 4 กรณีคือ

เยเมน เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อถึง 5 เดือน และสร้างความเดือดร้อนอดอยากอย่างหนักแก่ประชาชน แกมเบีย เกิดความพยายามรัฐประหารวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557 แต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ในวันเดียว บูร์กินาฟาโซ ประเทศที่ยากจนมากในแอฟริกาตะวันตก คณะทหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558 แต่ถูกต่อต้านจากประชาชน ประเทศเพื่อนบ้าน และนานาชาติ ในที่สุดการรัฐประหารก็พ่ายแพ้ภายใน 1 สัปดาห์ คณะทหารที่ยึดอำนาจถูกจับกุมดำเนินคดี และสุดท้าย ตุรกี คณะทหารกลุ่มหนึ่งพยายามก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 แต่ประชาชนต่อต้านอย่างหนักและประสบความพ่ายแพ้ในวันรุ่งขึ้น รัฐบาลถือโอกาสปราบปรามฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร

นอกจากนั้นยังไม่มีประเทศไหนที่มีรัฐประหารในโลกใบนี้ที่ใช้การรัฐประหารแก้ปัญหาประเทศ คณะทหารหลงยุคที่พยายามยึดอำนาจในบูร์กินาฟาโซ แกมเบีย และตุรกี ต่างประสบความพ่ายแพ้ รัฐประหารในไทยเป็นกรณีเดียวที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนความล้าหลังอย่างยิ่งของชนชั้นนำไทย

ประการต่อมา มีประเทศไหนในโลกบ้างที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีไทยเพียงประเทศเดียวบนโลกใบนี้ แม้กระทั่งพม่า ฟิจิ และมาดากัสการ์ ก็เปลี่ยนแปลงเป็นรัฐบาลพลเรือนจนหมดสิ้น ประเทศเผด็จการทหารแห่งเดียวของโลกจึงโดดเดี่ยวมาก

ก่อนการรัฐประหาร สุรพงษ์ ชัยนาม เคยเสนอในกลุ่มรัฐบุคคลว่า กองทัพสามารถทำได้โดยไม่ต้องสนใจการคัดค้านจากนานาชาติ เพราะทุกประเทศต้องรักษาผลประโยชน์ของตนทั้งนั้น เมื่อรัฐประหารแล้วก็จะเป็นที่ยอมรับกันไปเอง แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการคว่ำบาตรจากนานาชาติกลายเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มจากกลุ่มประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกที่ยกเลิกการเจรจาทั้งหมดและไม่ลงนามในสัญญาใดๆกับไทยจนกว่าจะมีการรื้อฟื้นประชาธิปไตย จากนั้นออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ก็ใช้ท่าทีเช่นเดียวกัน ส่วนสหรัฐระงับการเจรจาทางการทหารและระงับการฝึกฝน การเยือนทางการทหาร และความช่วยเหลือทางการทหาร

ด้านในประเทศ 3 ปีของการรัฐประหารสร้างความเสียหายอย่างมากในทางการเมือง เริ่มจากระบอบประชาธิปไตยที่รองรับสิทธิของประชาชนผ่านการเลือกตั้งถูกทำลายและแทนที่ด้วยการปกครองระบอบทหาร สภาแต่งตั้งแทนสภาเลือกตั้ง และครอบงำประเทศด้วยระบบราชการ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องนับหนึ่งใหม่จนขณะนี้

รัฐบาลทหารยังละเมิดโรดแม็พของตนเองด้วยการต่ออายุทางการเมืองไปเรื่อยๆ เพราะปีแรกที่ก่อการรัฐประหารประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจเพียงปีเดียวแล้วจะคืนประชาธิปไตย ซึ่งตอกย้ำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่งเพลงว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา” แต่เมื่อครบปีก็เลื่อนโรดแม็พโดยอ้างว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จ

พล.อ.ประยุทธ์ยังได้แถลงข่าวที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 แต่ก็เลื่อนอีก โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จ จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 ปรากฏว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สร้างหลักประกันด้านประชาธิปไตย และถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจฝ่ายเผด็จการ แม้กระนั้นกำหนดการเลือกตั้งก็ยังไม่แน่นอนชัดเจน โดยสมาชิกสภาแต่งตั้งเสนอว่าการเลือกตั้งต้องขยับไปกลางปี 2561 เพราะพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ทัน

มักอ้างว่าผลดีของการรัฐประหารคือ ความสงบสุขของบ้านเมือง แม้แต่ คสช. ก็นำมาอ้างเป็นผลงาน จึงต้องอธิบายว่าความสงบสุขนี้มาจากการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ห้ามประชาชนใช้สิทธิทางการเมือง ควบคุมแม้กระทั่งการจัดงานทางวิชาการในมหาวิทยาลัย รัฐบาลทหารใช้มาตรการจับกุมหรือควบคุมตัวในลักษณะต่างๆ การเรียกตัวไปปรับทัศนคติ และพยายามจะควบคุมแม้กระทั่งการใช้โซเชียลมีเดียของประชาชน ซึ่งไม่ได้แก้ไขความขัดแย้งทางสังคมและความแตกแยกทางการเมืองเลย

ผลการกวาดล้างปราบปรามทำให้ 3 ปี สิทธิมนุษยชนในไทยถูกทำลายอย่างหนัก เพราะการกวาดล้างจับกุมกลุ่มที่คิดต่าง มีประชาชนถูกดำเนินคดีและติดคุกข้อหาทางการเมืองจำนวนมากกว่า 200 คน ทำให้เกิดการล่มสลายของระบอบกฎหมาย เพราะคำสั่งหรือประกาศตามอำเภอใจของคณะรัฐประหารได้รับการรับรองให้เป็นกฎหมายที่ถูกต้องเสมอ ศาลก็ยอมรับ กระบวนการยุติธรรมจึงถูกบิดเบือน

ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลทหารพยายามโฆษณา “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นเป้าหมายอันสวยหรู ความจริงเศรษฐกิจไทย 3 ปีที่ผ่านมา วิกฤตจากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ ต่างมีปัญหาทั้งสิ้น การลงทุนลดลงอย่างมาก มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การส่งออกขยายตัวต่ำมาก ทำให้ต้องพึ่งพาเพียงการท่องเที่ยวและรายจ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รายได้ของรัฐลดลงอย่างมาก เงินคงคลังลดลงจาก 600,000 ล้านบาทเมื่อปี 2556 (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เหลือเพียง 75,000 ล้านบาทในปี 2560

ขณะเดียวกันในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2550 จำนวน 118,000 ล้านบาท แต่ พ.ศ. 2560 มีวงเงินถึง 214,000 ล้านบาท เพิ่มเกือบเท่าตัวในเวลา 10 ปี ทั้งที่สถานการณ์โลกอยู่ในภาวะค่อนข้างสงบ รวมทั้งในเอเชียและประเทศอาเซียนก็มีความสัมพันธ์อันดียิ่ง อาจสรุปได้ว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นคือราคาที่ประชาชนไทยต้องจ่ายให้กับการรัฐประหาร 2 ครั้งในเวลา 10 ปี

นี่คือตำแหน่งแห่งที่ของเผด็จการทหารของไทย


You must be logged in to post a comment Login