- ปีดับคนดังPosted 10 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
อย่ามาโดนตัวกู! / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
การลอบวางระเบิด 3 ครั้งในระยะเวลาไม่ห่างกันใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะล่าสุดบริเวณห้องรอจ่ายยานายทหารระดับสูง “วงษ์สุวรรณ”โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 3 ปีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 20 คน ถือเป็นการท้าทายอำนาจของรัฐบาลทหารและ คสช. อย่างยิ่ง เพราะ 2 ครั้งก่อนหน้านี้เป็นแค่เพียงระเบิดที่ทำให้เกิดเสียงดังมากกว่าจงใจทำร้ายประชาชน ทั้งหน้ากองสลาก ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 เมษายน และหน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม
ระเบิดใจกลางกรุงเทพฯ 3 ครั้งติดต่อกันในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ถือว่าท้าทายและสั่นคลอนอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของรัฐบาลทหารและ คสช. อย่างยิ่ง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยืนยันถึงข้อสงสัยว่ารัฐบาลสร้างสถานการณ์เองหรือไม่ว่า “รัฐบาลบ้า” ที่ไหนจะทำแบบนี้ เว้นแต่คนที่อยากจะมาเป็นรัฐบาลที่จะทำ ทั้งยังประณามคนที่ทำ เพราะถ้าไม่เลวจริงๆทำไม่ได้และแช่งให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในโลกใบนี้ไม่มีใครทำในโรงพยาบาล เรื่องนี้จึงให้อภัยไม่ได้ วันนี้จับไม่ได้ พรุ่งนี้มะรืนนี้ก็ต้องได้ ต้องจับได้สักวัน
แน่นอนว่าการวางระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของใคร จะทำด้วยจุดมุ่งหมายอะไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องประณาม แม้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่โรงพยาบาลถือเป็นเขตปลอดภัยเพื่อรักษาผู้ป่วย แม้แต่ในภาวะสงคราม ทั่วโลกไม่มีใครใช้ความรุนแรงหรือโจมตีในพื้นที่โรงพยาบาล
การติดตามหาคนก่อเหตุครั้งนี้ให้ได้จึงท้าทายและมีความสำคัญอย่างมากกับรัฐบาลทหารและ คสช. แม้จะมีความหวังน้อยมากก็ตาม เพราะ 2 ครั้งที่ผ่านมาก็ไม่มีแนวโน้มจะได้ตัวผู้ก่อเหตุ ไม่ต่างกับการลอบวางระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 จะบอกว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยมีหลายกลุ่ม ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก มีความใจเย็นมากที่จะไม่ดำเนินการต่อกลุ่มต่างๆที่ต้องสงสัย ซึ่งหน่วยกำลังมีความพร้อมที่จะเข้าดำเนินการกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยทันทีหากมีการสั่งการให้ดำเนินการ แต่ผู้ใหญ่พูดเสมอว่าให้หาหลักฐานให้ชัดเจน หาจุดเชื่อมโยงให้ได้ หากไม่มีหลักฐานเพียงพอก็อย่าดำเนินการใดๆ เช่น การควบคุมตัว หรือการเชิญตัวผู้ที่มีพฤติกรรมที่จะทำลายประเทศมาให้ข้อมูล หากไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิดหรือหลักฐานที่ชัดเจนก็จะเป็นเพียงการสุ่ม
สำหรับ พล.อ.ประวิตรที่ไม่ปรากฏตัวช่วงนี้และมีคำถามว่าระเบิดครั้งนี้เป็นการจงใจท้าทาย พล.อ.ประวิตรหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรลาป่วย ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของคนอายุ 70 ปี แต่พูดคุยทางโทรศัพท์กันทุกวัน ขณะที่เฟซบุ๊ค “วาสนา นาน่วม” อ้างคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรว่า พล.อ.ประวิตรกำลังฟื้นฟูร่างกายจากอาการป่วย แต่ไม่บอกว่าป่วยอะไร
อย่างไรก็ตาม มีข่าวที่ไม่มีใครยืนยันออกมาจากบางแหล่งข่าวว่า พล.อ.ประวิตรมีปัญหาที่ปลายเส้นประสาทและน้ำในหูไม่เท่ากัน ข่าวบางสำนักถึงกับระบุว่า ต้องเข้ารักษาอาการกะทันหันจากโรคเส้นเลือดหัวใจ
ย้อนรอยระเบิด
ทุกฝ่ายค่อนข้างมั่นใจว่าการลอบวางระเบิด 3 ครั้งน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่ก็ต้องวิเคราะห์ว่าเป็นกลุ่มใดและทำไมต้องวางระเบิดวันที่ 22 พฤษภาคม ทำไมต้องเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งครั้งนี้จงใจทำร้ายประชาชน ที่สำคัญคือในรอบ 3 ปี มีการวางระเบิดนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้หลายครั้งต่อเนื่องกันคือ
ครั้งที่ 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เกิดระเบิดบริเวณทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามกับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
ครั้งที่ 2 วันที่ 7 มีนาคม 2558 คนร้ายปาระเบิดเข้าไปในบริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก
ครั้งที่ 3 วันที่ 10 เมษายน 2558 วางระเบิดลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยคนร้ายซุกระเบิดไว้ในรถยนต์หรือที่เรียกว่า “คาร์บอมบ์” มีผู้บาดเจ็บ 7 คน
ครั้งที่ 4 วันที่ 17 สิงหาคม 2558 ระเบิดครั้งรุนแรงบริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บ 130 คน
ครั้งที่ 5 วันที่ 10-12 สิงหาคม 2559 จำนวน 9 ครั้งใน 5 จังหวัดภาคใต้ มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน
ครั้งที่ 6 วันที่ 11-13 สิงหาคม 2559 เกิดระเบิดเกือบ 20 จุด กระจายใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน
ครั้งที่ 7 วันที่ 5 เมษายน 2560 ระเบิดหน้าอาคารกองสลากเก่า ถนนราชดำเนิน
ครั้งที่ 8 วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ
และครั้งล่าสุด วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีผู้บาดเจ็บกว่า 20 คน
คสช. สอบตก?
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า เหตุระเบิด 2 ครั้งหลังใกล้ท้องสนามหลวง ถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวสูงสุดกลางกรุงเทพฯ มีลักษณะเหมือนกันคือ เป็นระเบิดขนาดเล็กแรงดันต่ำแบบตั้งเวลาแบบ “ไปป์บอมบ์” อุปกรณ์ที่ใช้และรูปแบบการประกอบมีความใกล้เคียงกับระเบิดที่ใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นฝีมือของฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามหรือกลุ่มเคลื่อนไหวจากชายแดนภาคใต้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการก็ตาม แต่ก็ส่งสัญญาณชัดเจนและเป็นการตีแสกหน้า คสช. เพราะถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐและโจมตีพื้นที่ด้านความมั่นคงที่ คสช. ถือว่าเป็นผลงานที่โดดเด่นที่สุดของรัฐบาลทหาร
หากพิจารณาในแง่ความถี่การวางระเบิดก็จะพบว่า ความเชื่อมั่นของ คสช. ในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั้นอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เพราะตั้งแต่ คสช. เข้ามาคุมอำนาจการปกครองเมื่อปี 2557 โดนลูบคมด้วยระเบิดมาโดยตลอด
ประเด็นที่น่าสังเกตคือ ระเบิดบริเวณทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามกับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนเป็นระเบิดการเมืองแน่นอน รูปแบบระเบิดที่คนร้ายใช้เป็น “ไปป์บอมบ์แรงดันสูง” แบบเดียวกับเหตุระเบิดย่านมีนบุรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 ช่วงที่กลุ่ม กปปส. กำลังชุมนุมทางการเมือง ซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มการเมืองสีเสื้อแนวฮาร์ดคอร์
แต่ระเบิดในถังขยะหน้ากองสลากเก่า หน้าโรงละครแห่งชาติ และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นลักษณะ “ไปป์บอมบ์แรงดันต่ำ” ที่ใช้ดินระเบิดค่อนข้างน้อย อุปกรณ์ที่ใช้เหมือนการก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายความมั่นคงตั้งข้อสงสัยว่าการวางระเบิดในกรุงเทพฯ 3 ครั้ง เกี่ยวโยงกับกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ทั้งยังมีกลิ่นอายทางการเมืองเจือปนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิด 9 จุดช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เมื่อปี 2549 หลังรัฐประหารไม่นาน ระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่นย่านบางบัวทองช่วงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2553 หรือแผนก่อวินาศกรรมในกรุงเทพฯด้วยคาร์บอมบ์ช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) แต่ตำรวจอ้างว่าสกัดแผนได้ทันและจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 13 คน
ความเชื่อมโยงผู้ก่อการร้ายภาคใต้ในระยะหลังยังพบว่า ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีคาร์บอมบ์ห้างลีการ์เด้นส์ หาดใหญ่ ปี 2555 คดีคาร์บอมบ์ที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล เกาะสมุย ปี 2558 และระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนปี 2559 บางส่วนเป็นผู้ต้องหาคนเดียวกันหรือชุดเดียวกัน
ที่หนักไปกว่านั้นคือ เหตุคาร์บอมบ์พื้นที่เศรษฐกิจที่ปัตตานี 2 ครั้งหลังสุดคือ หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์นวิวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 และห้างบิ๊กซี ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 (2 จุดนี้ห่างกันราว 2 กิโลเมตรเท่านั้น) ผู้ต้องหาบางส่วนเป็นชุดเดียวกัน ทั้งยังทับซ้อนกับผู้ต้องหาคดีคาร์บอมบ์หาดใหญ่ คาร์บอมบ์สมุย และระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน
ทั้งหมดสะท้อนว่าฝุ่นควันระเบิดที่อบอวลในยุค คสช. เจือไปด้วยกลิ่นการเมืองและไฟใต้ ซึ่งสะท้อนถึงผลงานของ คสช. ในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและการแก้ปัญหาไฟใต้ว่าน่าจะ “สอบตก”
ระเบิดใน กทม.ถึงจะเป็นข่าวใหญ่
นายสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เมื่อหลักฐานออกมาค่อนข้างชัดแบบนี้ก็ต้องประเมินกันใหม่ว่าเป็นการขยายพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มเคลื่อนไหวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ เพราะทฤษฎีเดิมที่เคยเชื่อว่าความรุนแรงจำกัดเฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้นั้น วันนี้อาจใช้ไม่ได้แล้ว แต่การหาคำตอบในประเด็นนี้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ที่รอบคอบ การพูดเพื่อเบี่ยงเบนปัญหาจะกระทบภาพใหญ่ของงานความมั่นคงในระยะยาว
นายสุรชาติยังเตือนว่า อย่าพยายามนำเรื่องขั้วการเมืองเก่าเข้ามากลบปัญหาที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นการตั้งธงล่วงหน้าเหมือนเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนที่ด่วนสรุปว่ากลุ่มตรงข้ามรัฐบาลเป็นผู้ลงมือ จนส่งผลให้ทิศทางการวิเคราะห์เหมือนถูกชี้นำจากผู้มีอำนาจ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับการจัดการปัญหาที่แท้จริง
“งานความมั่นคงไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่งฟันธง แต่ต้องการความละเอียดรอบคอบในการวิเคราะห์ปัญหา ดังตัวอย่างการจัดการสถานการณ์ก่อการร้ายในตะวันตกที่ไม่รีบฟันธง แต่ใช้ความรอบคอบในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บวัตถุพยานและหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนแก่สังคม” นายสุรชาติระบุ
นายกฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักวิชาการอิสระด้านการก่อการร้ายและความรุนแรง ได้นำเสนอมุมมองการวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ระเบิดโรงพยาบาลต้องประณามแน่นอน แม้ยังไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุคือใคร แต่ในระดับหนึ่งก็มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ “เมสเสจที่ผู้ก่อเหตุต้องการจะสื่อถึงคือใคร” ก่อเหตุในวันครบรอบ 3 ปีการรัฐประหาร ก่อเหตุในโรงพยาบาลทหาร ก่อเหตุแถวห้องวีไอพีที่ตั้งชื่อตามนามสกุลคนกุมบังเหียนด้านความมั่นคงของรัฐบาลนี้ มันชัดยิ่งกว่าชัดอยู่แล้วว่า แม้จะตอบไม่ได้โดยชัดเจนว่าใครทำ แต่คนที่ทำต้องการจะบอกว่าเขามีปัญหากับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลนี้เป็นพิเศษ
การประณามผู้ก่อเหตุจึงกดดันให้รัฐบาลต้องพิจารณาว่าน่าจะทบทวนท่าทีด้านนโยบายความมั่นคงตัวเองได้แล้วว่าที่ผ่านมาไม่นำมาซึ่งการแก้ปัญหาอย่างไร ทำให้ปัญหาบานปลายแค่ไหน ควรมีทางออกอื่นอย่างไรบ้าง อีกทั้งต้องเข้าใจว่าผู้ก่อเหตุก่อการร้ายนั้นไม่ได้แยแสว่าเราจะก่นด่าประณามดราม่าใส่พวกเขามากเพียงใด เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าทำไปแล้วโดนด่า โดนประณาม หรือเสี่ยงชีวิตตัวเอง ฉะนั้นการด่าประณาม การไล่ฆ่าล้างบาง จึงไม่เคยตอบโจทย์ปัญหาลักษณะนี้
การทำแบบนี้เป็นการบ่งด้วยซ้ำว่าจะทำให้ “สารที่พวกเขาคิดจะสื่อ” เป็นที่ได้ยินต้องทำใน กทม. เท่านั้น เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในไทยมาหลายรอบ แต่นอก กทม. ก็เงียบงันกันไปทุกรอบ ต่อไปถ้าเฉพาะใน กทม. ถึงจะมีคนสนใจ ก็มีโอกาสที่ กทม. จะกลายเป็นเป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆได้
“ผมไม่ได้บอกให้เรากลับไปแยแสตามเดิม เพราะนั่นจะยิ่งแย่ใหญ่ การเงียบงันไม่แยแสยิ่งทำให้อะไรๆมันรุนแรงขึ้น ที่อยากจะบอกคือ การจะลดความรุนแรงลงได้มีแต่แสดงให้เห็นชัดว่ามีความพร้อมจะรับฟังข้อเสนอของพวกเขา พร้อมจะพูดคุยอย่างจริงจังและนำมาปฏิบัติจริงๆ
ลักษณะดังกล่าวนี้สำเร็จมาแล้วทั้งกรณีในแอฟริกาใต้หรือ IRA (ที่ทุเลาลงมาก) เพราะสิ่งที่ผู้ก่อเหตุต้องการคือ การได้รับความสนใจที่พร้อมจะนำไปสู่การปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้ ผมคิดว่าเราควรคิดจริงจังถึงเรื่องนี้ได้แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้ดาวบนบ่ามาถ่วงให้ชีวิตคนจมลงไปพร้อมกับความมั่นคง” นายกฤดิกรกล่าวในตอนท้าย
ขณะที่นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ก็ยอมรับว่า คนก่อเหตุเป็นคนที่มีประสบการณ์ มีศักยภาพ และมีเครือข่าย ไม่ใช่มือสมัครเล่น แต่ไม่น่าวิตกกังวลอะไร การก่อเหตุมีพัฒนาการที่สลับซับซ้อน มีการหวังผลทางการเมืองสูง เพื่อให้คนตื่นตระหนกและมีความวิตกกังวล เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวโยงกับการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนจึงกระทบต่อความรู้สึกของคนในแง่การรักษาความสงบเรียบร้อย แม้ผลจริงๆจะไม่กระทบกระเทือนในแง่ความสูญเสีย แต่พื้นที่สาธารณะในหลายประเทศเป็นพื้นที่ที่ดูแลยากมาก ซึ่งไทยก็นำมาใช้ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เขาเปลี่ยนรูปแบบ เช่น กรณีบิ๊กซี ปัตตานี เปลี่ยนวิธีการให้แยบยลมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น มีเครือข่าย เจ้าหน้าที่ก็ต้องเฝ้าพื้นที่อย่างระมัดระวังมากขึ้น
“เป็นพื้นที่ที่ถือว่าทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นพื้นที่สากล นานาชาติก็ประณาม และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้ มันผิดหลักการ แต่ยิ่งผิดหลักนั่นแหละยิ่งทำให้คนตื่นตระหนก ทำให้ได้ผลเชิงอื่นๆ” นายปณิธานกล่าว
อย่ามาโดนตัวกู!
ระเบิดที่เกิดขึ้นในวันครบรอบ 3 ปีการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดทำก็สั่นคลอนรัฐบาลทหารและ คสช. ไม่น้อย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทหารพยายามควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างไม่ให้กระเพื่อม แม้แต่การแสดงความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แม้แต่การจัดกิจกรรมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีรัฐประหารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ก่อนจะเกิดเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถึงขนาดห้ามผู้จัดงานมีข้อความที่ระบุว่า “คสช. เผด็จการรัฐประหาร” โดยอ้างว่าอาจมีปัญหาด้านความมั่นคง ไม่เช่นนั้นจะให้ยุติงานและจับกุมผู้จัดงานด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีป้ายปริศนาไปโผล่ที่สะพานลอยหน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ฝั่งถนนพหลโยธิน มีข้อความว่า “ลุง! หาทางลงได้ยัง 3 ปีแล้ว” และป้ายผ้าที่สะพานลอยหน้าประตูเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ข้อความว่า “ยามศึกเบิกงบ ยามสงบรัฐประหาร”
แม้รัฐบาลทหารและ คสช. จะยืนยันว่าผลงานโดดเด่น 3 ปี คือความมั่นคงและความสงบสุขของบ้านเมือง แต่ระเบิดที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ 3 ครั้งในระยะไล่เลี่ยกัน รวมถึงระเบิดครั้งใหญ่ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน และสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ร้อนระอุ โดยเฉพาะคาร์บอมบ์ที่ห้างบิ๊กซี ปัตตานีนั้น จะถือว่าบ้านเมืองมีความสงบสุขและมีความมั่นคงหรือไม่ คสช. เองก็คงรู้คำตอบ
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า 3 ปีการรัฐประหาร รัฐบาลทหารและกองทัพมีความมั่นคงอย่างมาก มั่นคงทั้งในทางทหารและทางการเมือง แต่มันคือความมั่นคงของบ้านเมืองจริงหรือไม่หากระเบิดยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่พื้นที่กรุงเทพฯ
จึงไม่แปลกที่มีรายงานข่าว (23 พฤษภาคม) ว่าเหตุระเบิด 3 ครั้งในกรุงเทพฯ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงเตรียมพิจารณานำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่เคยยกเลิกไปก่อนหน้านี้กลับมาบังคับใช้ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ปรกติ เพื่อให้อยู่ในอำนาจศาลทหารในคดีบางประเภทในบรรดาคดีที่กระทำความผิด โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 หัวหน้า คสช. จะประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม และคดีความมั่นคงบางคดี ซึ่งก่อนหน้านี้หัวหน้า คสช. ได้ยกเลิกให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม ก็จะดึงกลับมาให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร โดยจะมีการประชุมสรุปอีกครั้งเพื่อประกาศบังคับใช้ในเร็วๆนี้
ความกลัวและความหวั่นไหวของรัฐบาลทหารและ คสช. ดูได้จากการห้ามพูดแม้แต่คำว่า “คสช. เผด็จการรัฐประหาร” จะด้วยเหตุผลใดก็ตามก็บ่งบอกชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลทหารและ คสช. วันนี้อยู่ในลักษณะหวาดระแวงไปหมดชนิดที่ว่า “อย่ามาโดนตัวกู อย่ามาแตะต้องกู อย่ามาสะกิดกู” ถึงขนาดนั้น เพราะสถานการณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แตกต่างสิ้นเชิงกับวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 นับเป็นช่วง “ขาลง” ที่ต้องประคับประคองให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะล้มหัวทิ่มคะมำเอาได้ง่ายๆ
ระเบิดที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพฯกลายเป็นเรื่องความมั่นคงที่แยกไม่ออกจากการเมือง ซึ่งก็ต้องกลับมาที่คำถามและข้อกังขาว่า “ระเบิด” ที่เกิดขึ้นเพราะอะไร ใครเป็นผู้กระทำ และใครได้ประโยชน์?
ล่าสุดมีข่าวว่ากล้องวงจรปิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในวันเกิดเหตุนั้นบังเอิญเสียพอดี ถ้าเป็นข่าวจริงก็คงจะทำให้การสืบสวนหา “ความจริง” ยากลำบากยิ่งขึ้น
และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาพูดว่า แม้ทุกอย่างจะยังเป็นไปตามโรดแม็พ รวมถึงการเลือกตั้ง แต่หากมีเหตุการณ์ก็จำเป็นต้องมีการขยับออกไป
อะไรที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นตามเวลาแน่ๆ ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยแน่ไปโดยปริยาย!!??
You must be logged in to post a comment Login