วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘ทรัมป์’เพิ่มองศาร้อนให้โลก?

On May 30, 2017

ผู้นำระดับโลกต่างผิดหวังตามๆกัน เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ปฏิเสธลงนามให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ระหว่างเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำจี7 (G-7) ที่อิตาลี ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทรัมป์บอกทำนองว่า “ขอคิดดูก่อน”

ข้อตกลงปารีส เป็นสัญญากำหนดมาตรการลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนไปกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งป้องกันน้ำแข็งขั้วโลกไม่ให้ละลายมากผิดปรกติ ทำให้น้ำทะเลไม่เพิ่มสูงขึ้น และป้องกันสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง

สัญญานี้จัดทำตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ โดยกำหนดขึ้นเมื่อปี 2015 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

นานาชาติเห็นพ้องกันว่า ข้อตกลงนี้เป็นมาตรการแห่งความหวังหนึ่งเดียวในปัจจุบัน ในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน จึงยินยอมลงนามให้สัตยาบัน หรือลงนามยืนยันว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว 147 ประเทศ จากทั้งหมด 197 ประเทศ

ประเทศที่ให้สัตยาบัน มีจีน ซึ่งเป็นชาติปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดโลก รวมอยู่ด้วย ขณะไทยก็ประกาศให้สัตยาบันแล้วเช่นกัน

ข้อตกลงนี้ สามารถบังคับใช้ได้ทันทีเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีชาติสมาชิกลงนามให้สัตยาบันเกิน 55 ประเทศแล้ว

อย่างไรก็ตาม สหรัฐกลับกลายมาเป็นปัญหาสำคัญลำดับสุดท้ายของโครงการนี้

โลกทั้งใบใยสหรัฐถึงสำคัญปานนั้น?

มีคำอธิบายจากนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะโลกร้อนว่า หากสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ โดยปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรม แหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ ดำเนินการผลิตสินค้าตามปรกติ

จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกในอากาศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น โดยการลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของนานาชาติ ที่ดำเนินการตามข้อตกลง มีผลด้านการควบคุมอุณหภูมิโลกระดับหนึ่งเท่านั้น

สิ่งที่จะตามมาอีกอย่าง หากสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลง คือประเทศอื่นจะเอาอย่างด้วย เนื่องจากการลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านการผลิตสินค้า

ทั้งนี้ ทรัมป์จะประกาศการตัดสินว่า จะนำสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงหรือไม่ ภายในสัปดาห์นี้

ถ้าผู้นำสหรัฐ “โอเค” ยอมทำตามข้อตกลงปารีส ประชาคมโลกพอมีความหวังเรืองรองว่า ภาวะโลกร้อนจะไม่ระอุเพิ่มขึ้นถึงขั้นเป็นภัยร้าย และสภาพอากาศก็จะไม่แปรปรวนรุนแรงมากไปกว่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ในทางตรงกันข้าม หากทรัมป์ “โนโอเค” โลกมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญชะตากรรมจากสภาพอากาศดังที่ระบุแล้ว


You must be logged in to post a comment Login