- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
รวมกันเราอยู่
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
การหวนคืนกลับสู่รังเก่าของบรรดาอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ทำให้ภาพการเมืองที่ชัดเจนอยู่แล้วมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในหลายกรณี
1.ชัดเจนว่า กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์เป็นพวกเดียวกัน การประกาศลาออกจากพรรคไปเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เพื่อหลีกคำครหาแพ้ในสภาเล่นการเมืองข้างถนน หลบปัญหาข้อกฎหมายที่อาจมีปัญหาต่อสถานะภาพของพรรค วันนี้เมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นก็กลับมารวมตัวทำงานร่วมกันใหม่
2.ชัดเจนว่าข่าวความต้องการเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคจากนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ไปเป็นบุคคลอื่นนั้นมีมูลความจริง แต่เมื่อกลุ่มของนายอภิสิทธิ์ยังมีความแน่นหนาการกลับเข้าพรรคมาอีกครั้งต้องรักษามารยาทด้วยการสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ต่อไปจนกว่าจะพ้นวาระการเป็นหัวหน้าพรรคช่วงปลายปีหน้า
หากการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็พคือช่วงกลางปีหน้าและพรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้ง หรือไม่สามารถรวมเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลได้ นายอภิสิทธิ์กระเด็นออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแน่นอน แต่จะเป็นการกระเด็นแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เพราะมีข้ออ้างแสดงความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้เปิดทางให้คนใหม่มาเป็นแม่ทัพนำพรรคต่อสู้ในเวทีการเมืองต่อไป
3.พรรคประชาธิปัตย์หมดมุกหาเสียงกับประชาชน จึงตัดสินใจชูประเด็นเดิมลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า คือต่อต้านระบอบทักษิณ กำจัดทุนสามานย์ และปฏิรูปประเทศ
เป็นการต่อต้านระบอบทักษิณ ทั้งที่ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากประเทศไทยไปแล้ว 1 ทศวรรษ เป็นการต่อต้านระบบทักษิณ ทั้งที่ฝ่ายทักษิณไม่ได้เป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญกำหนดกติกาประเทศ
ที่สำคัญการชูประเด็นปฏิรูปประเทศ แม้จะไปตอกย้ำความล้มเหลวเสียของของการทำรัฐประหารเพื่อการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เพราะถ้าปฏิรูปสำเร็จคงไม่เหลืออะไรให้พรรคประชาธิปัตย์นำมาใช้หาเสียงเรื่องการปฏิรูปอีก แต่จะเป็นการรักษาฐานมวลชนที่ร่วมกันเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเอาไว้ในมือ
4.หากพรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้ง จะละทิ้งประเพณีปฏิบัติทางการเมืองที่ให้พรรคได้เสียงอันดับหนึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ด้วยการรวบรวมเสียงในสภาแข่งกับพรรคที่ชนะเลือกตั้งเพื่อเป็นรัฐบาล พร้อมที่จะสนับสนุนใครก็ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย และมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าเมื่อมองจากฐานเสียงสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง ที่คสช.จะแต่งตั้งรอเอาไว้ก่อนลงจากอำนาจ
5.เมื่อประเมินแล้วว่าเสียงสนับสนุนยังตกเป็นรองพรรคคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทย โครงการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ก่อนหน้านี้จนต้องพับเก็บไปก่อน แม้การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อาจมีโอกาสดึงอดีตส.ส.จากพรรคอื่นเข้าร่วมได้ แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วน่าจะเป็นการตกปลาในบ่อเพื่อนเสียมากกว่าจึงไม่เกิดประโยชน์ ปล่อยปลาให้อยู่ในบ่อใครบ่อมันไม่ต้องเสียค่าเลี้ยงดู ถึงเวลาโหวตในสภาค่อยเจรจาขอรับการสนับสนุนก็มีผลเท่ากัน เพราะพรรคการเมืองอื่นๆที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยพร้อมทำตัวเป็นน้ำปรับตัวเข้าหากลุ่มอำนาจอยู่แล้ว
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เสียการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองที่อยู่ตรงข้ามพรรคเพื่อไทย ทั้ง กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ยังเห็นตรงกันว่าจะงดตอบโต้ด้วยวิวาทะในสิ่งที่เห็นต่างกับกลุ่มการเมืองเหล่านี้เพื่อรักษาน้ำใจ รักษาคะแนนเสียงที่จะได้รับในการเลือกตั้ง
การกลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ของอดีตแกนนำ กปปส. แม้จะไม่เป็นเนื้อเดียวกันเหมือนในอดีต แต่จำต้องกลับมาเพราะพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าที่จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยเข้าตำรา “รวมกันเราอยู่” นั่นเอง
You must be logged in to post a comment Login