วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

การฟื้นฟูวัดพุทธญี่ปุ่น / โดย ณ สันมหาพล

On June 5, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

เรื่องวัดพุทธญี่ปุ่นยังมีเรื่องที่น่าสนใจคือ มีแม่ชีวัย 35 ปีชื่อ Idol-bosatsu เป็นบุตรสาวเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง และเป็นนักร้องแนวเทคโน-ป๊อปทันสมัย เธอไม่ได้ใช้ชื่อจริง คำว่า Idol ที่แปลว่า “ขวัญใจ” ก็เพื่อสื่อไปถึงพระโพธิสัตว์ ซึ่งเวลาที่แสดงเธอจะแต่งกายเป็นพระโพธิสัตว์

bosatsu ฝันจะเป็นนักร้องเพลงป๊อปตั้งแต่ยังเด็ก แต่เก็บไว้เป็นความลับเพราะกลัวพ่อจะรู้ แต่เมื่อพ่อรู้กลับสนับสนุน เพราะเห็นว่าการเป็นนักร้องอาจทำให้เยาวชนสนใจพุทธศาสนามากขึ้น เธอเริ่มเปิดการแสดงภายในวัดที่เธอบวช ซึ่งเป็นวัดเดียวกับที่พ่อเธอเป็นเจ้าอาวาส

การแสดงค่อยๆโด่งดังจนสามารถดึงดูดคนหนุ่มสาวให้เข้ามาในวัดเพื่อชมการแสดงของเธอ โดยระหว่างการแสดงก็จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างเปิดอก

เธอกล่าวว่า ตอนนี้ได้ทำในสิ่งที่ต้องการทำสำเร็จแล้ว นั่นคือการใช้ความแปลกดึงดูดคนให้เข้าหาพุทธศาสนา อีกไม่นานเธอจะกลับไปใช้ชีวิตที่เป็นตัวตนที่แท้จริง คือใช้ชื่อจริง และแต่งชุดแม่ชีในการแสดง เป็นแม่ชีเต็มตัวแม้ในเวลาร้องเพลงต่อหน้าคนดู

ยุคนี้การบริหารทุกเรื่องจำเป็นต้องเป็นมืออาชีพ โชคดีที่มีการเคลื่อนไหวใหม่ๆเพื่อดึงคนญี่ปุ่นให้เข้าวัด ทำให้วัดพุทธฟื้นฟูพ้นจากสภาพร่วงโรย อย่างนักบริหารมืออาชีพที่เป็นพระสงฆ์ชื่อ Shoukei วัย 37 ปี นอกจากเป็นพระที่ให้คำปรึกษากับวัดที่ต้องการปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนสำเร็จปริญญาโทวิชาบริหารธุรกิจจากวิทยาลัยธุรกิจเมืองไฮเดอราบาดที่อินเดียแล้ว ยังเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกและพระสงฆ์รูปแรกที่สำเร็จจากวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งยังจบเอ็มบีเอด้วย

Shoukei เป็นชาวเกาะฮอกไกโด สนใจพุทธศาสนาเชิงปรัชญาตั้งแต่เด็ก ทำให้สงสัยว่าทำไมชาวพุทธญี่ปุ่นถึงสนใจพิธีกรรมมากกว่าการค้นหาหลักธรรมในพุทธศาสนาเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ปี 2546 หลังสำเร็จปริญญาตรีวิชาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยกรุงโตเกียวเมื่ออายุ 23 ปี Shoukei บวชที่วัด Komyo-ji ในกรุงโตเกียว ไม่ไกลจาก Tokyo Tower ซึ่งปรกติการบวชที่วัดนี้เป็นเรื่องยากมาก แต่เพราะเจ้าอาวาสไม่มีทายาทและกำลังมองหาบุคคลที่เหมาะสม เขาจึงกลายเป็นตัวแทนเจ้าอาวาสรูปต่อไป ซึ่ง Shoukei สนใจฐานะการเงินของวัด ขณะที่วัดกำลังมีปัญหาเรื่องรายได้

นี่คือที่มาของ Cafe Society ร้านกาแฟในวัดแห่งแรก ซึ่งกลายเป็นสถานที่พบปะสำคัญของคนในละแวกนั้น Shoukei เป็นทั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานบริษัทห้างร้าน เนื่องจากวัดมีบรรยากาศเปิดโล่งตามธรรมชาติ มีทิวทัศน์ที่งดงาม ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงนอกวัด สวนดอกไม้ กุฏิเก่าแก่ และป่าช้าที่ฝังกระดูกบรรพบุรุษที่ทอดยาวถึง 600 หลุม

หลังบวชนาน 7 ปี Shoukei พบว่าการจะทำให้วัดรุ่งเรืองตลอดไปนั้นจำเป็นต้องใช้ศาสตร์การบริหารสมัยใหม่ ทำให้เขาตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจที่อินเดีย เพราะจะได้เรียนรู้และผูกพันทางจิตวิญญาณพุทธศาสนาด้วย

ระหว่างเรียน Shoukei ยังรู้ว่าศาสนาซึมลึกเข้าไปในจิตใจคนอินเดียมากกว่าคนญี่ปุ่นเพราะการเรียนรู้และปฏิบัติ Shoukei ศึกษาทั้งการตลาด ยุทธศาสตร์และการเงิน หลังจากกลับไปญี่ปุ่นจึงบริหารจัดการกิจกรรมหารายได้ของวัด พร้อมรับเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารให้วัดที่สนใจ โดยมีการจัดสัมมนาปีละ 6 ครั้ง ซึ่งมีพระสงฆ์เข้าร่วมแล้วกว่า 400 รูป โดยให้ผู้เข้าสัมมนาเสนอปัญหาวัดของตัวเองเป็นกรณีศึกษา พร้อมให้เสนอวิธีการแก้ไข ทำให้ผู้เข้าสัมมนาเข้าถึงปัญหาและวิธีแก้ไขที่เหมาะสม

Shoukei ยังทำให้วัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อน โดยใช้ความสันโดษ ความเก่าแก่ และความผูกพันกับคนในละแวกนั้นมาดึงดูดและเอื้อต่อการทำธุรกิจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นร้านค้าเสมอไป และเปิดหลักสูตรสอนแนวทางนำหลักพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีการจัดนำเที่ยว บริการที่พักแรม และดึงคนในละแวกนั้นร่วมในสโมสรที่มีการพบปะสังสรรค์กันเป็นประจำ

วัดพุทธญี่ปุ่นอาจดูเหมือนสถานบันเทิง แต่ไม่ใช่ เพียงแต่มีการบริหารจัดการ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้เข้ากับวัด แม้แต่การจัดเก็บโกศบรรจุอัฐิบรรพบุรุษยังเข้าถึงด้วยบัตรสมาร์ทการ์ด

ที่สำคัญคือการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการวิปัสสนาเหมือนวัดในเมียนมาที่มีหลายคนอยากไป เพราะวัดพุทธญี่ปุ่นมีอุปกรณ์จำลองบรรยากาศให้ดูเสมือนจริง จึงทำให้ซึมซับบรรยากาศในการนั่งวิปัสสนาให้จิตใจสงบ ซึ่ง Shoukei สามารถทำให้วัดเป็นที่พึ่งของผู้คนมากมาย


You must be logged in to post a comment Login