วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

Jigsaw Puzzle&Time Machine เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สลับซับซ้อน / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On June 5, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

การนำเสนอบทความชิ้นนี้คงไม่เกี่ยวกับเบื้องหลังการวางระเบิดที่โรงพยาบาลซึ่งเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน แต่ถ้าใครจะเอาแนวคิดและทฤษฎีไปจับวิเคราะห์กรณีดังกล่าวก็คงจะได้เหมือนกัน ซึ่งคงต้องรับผิดชอบคำตอบเอาเอง เพราะโดยข้อเท็จจริงผมเขียนบทความชิ้นนี้เป็นแนวทางทฤษฎีการนำเสนอประวัติศาสตร์ที่กำลังอยู่ในช่วงเขียนหนังสือเรื่อง “จักรพรรดิศรีไชยนาท มหาราชที่โลกลืม”

มีคำตอบจากการศึกษางานเขียนเรื่อง “Silk Road/A new history” ซึ่งเป็นผลงานของ “วาเลอรี แฮนเซน” ที่เคยแปลเป็นภาษาไทยโดยนงนุช สิงหเดชะ ในคำนำเขาบอกว่า “งานเขียนประวัติศาสตร์เรื่องเส้นทางสายไหมเป็นผลงานที่เปรียบเสมือน Time Machine คือเป็นการปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกัน นำเอาชีวิตความเป็นอยู่ที่เลือนหายไปเอามาเขียนเล่าใหม่”

ด้วยความหมายเดียวกันนี้ ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก ซึ่งรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มดังกล่าวได้ให้ความเห็นว่า “การเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับศรีวิชัยหรือจักรพรรดิศรีไชยนาทคงต้องใช้วิธีการศึกษาจากบริบทแวดล้อมแล้วก็ต่อจิ๊กซอว์ Time Machine ทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวออกมา เพราะคงเป็นไปได้ยากที่จะหาข้อมูลและหลักฐานตรงๆ ซึ่งหลายอย่างได้สูญหายไป และบางอย่างก็เป็นความสลับซับซ้อนมาก (Puzzle)”

ผมจึงต้องใช้วิธีการที่กล่าวถึงข้างต้นในการเขียนงานประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะเริ่มต้นก็ต้องหาคำตอบเกี่ยวกับราชวงศ์ไศเลนทร์ซึ่งเป็นต้นตอของศรีวิชัย ในการหาคำตอบเกี่ยวกับราชวงศ์ไศเลนทร์ก็เปรียบเสมือนการไขกุญแจถึงยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต้องหาให้ได้เสียก่อนว่าโดยแท้จริงแล้วฟูนัน หรือพนม หรือคีรีรัฐนั้น มีตัวตนอยู่ที่ไหนกันแน่?

โดยความเห็นของผมแล้วเห็นสอดคล้องกับเสนีย์อนุชิต ถาวรเศรษฐ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “สุโขทัยไม่ใช่รัฐแรกในสยาม” จิ๊กซอว์ตรงนี้ผมเอาไปต่อเข้ากับงานเขียนของประธาน สัจจะโชติ ที่เขียนในบทความเรื่อง “พระแก้วมรกตกับศรีวิชัย” โดยกล่าวว่า ใน พ.ศ. 799 ฟูนันว่างเว้นพระมหากษัตริย์จึงได้อัญเชิญเจ้าชายแห่งพันพานให้ไปครองราชย์ที่ฟูนันและมีพระนามว่า “พระเจ้าศรีอินทรเทพ” พระนามดังกล่าวผมสันนิษฐานว่าคือองค์เดียวกับ “ขุนเทียน” หรือ “มหาจักรพรรดิท้าวพันตา” คำว่าพันตาหมายถึงพระอินทร์หรือพระอิศวร จึงสอดคล้องกับการสันนิษฐานว่าแท้จริงแล้วศูนย์กลางของฟูนันน่าจะอยู่อำเภอคีรีรัฐนิคมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งต่อเชื่อมไปยังจังหวัดกระบี่ และในเขตพื้นที่ของกระบี่ก็มีภูเขาที่ชื่อภูเขาพนมเบญจา ซึ่งก็คือฟูนันที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ได้หมายถึงภูเขาพนมหรือบนัมตามที่นักปราชญ์ฝรั่งเศสหมายถึง พนมกับคีรีก็คือความหมายเดียวกัน จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ “คีรีรัฐ” และชื่อที่ถูกต้องของฟูนันในสมัยนั้นน่าจะเรียกว่า “สหมณฑลรัฐคีรีรัฐ”

ต่อมาขุนเทียนได้เดินทางเข้ามาในแผ่นดินเขมรและได้พระนางนาคโสมาหรือนางพญาใบมะพร้าว เชื้อสายชนชาติทมิฬโจฬะ เป็นมเหสี ซึ่งในหลักฐานจีนเรียกว่าพระนางหลิ่วเย่ ขุนเทียนสร้างอาณาจักรโจฬะบกขึ้นมาในเขมรอยู่ใกล้กับภูเขาพนมมันตัน โดยถือว่าอาณาจักรโจฬะบกคือส่วนหนึ่งของคีรีรัฐ ทำให้คนเขมรในช่วงเวลาดังกล่าวให้ความเคารพนับถือต่อขุนเทียนหรือมหาจักรพรรดิท้าวพันตาซึ่งถือเป็นต้นตอของราชวงศ์ไศเลนทร์ จึงได้มีการถวายความเคารพสร้างปราสาทหลังหนึ่งขึ้นมาบนเขาพระวิหารชื่อปราสาท “ศรีสิขเรศวร” หมายถึงไศเลนทร์นั่นเอง แปลเป็นไทยว่า “พระอิศวรของชาวเชิงภูเขา” เป็นคำมาจากมหาจักรพรรดิท้าวพันตาซึ่งเป็นกษัตริย์จากภูเขาพนมเบญจาของคีรีรัฐ

เรื่องดังกล่าวนี้ยังสอดคล้องกับตำนานตามโกณฑัญญะซึ่งก็คือขุนเทียน ข้อมูลเกี่ยวกับต้นตอของราชวงศ์ไศเลนทร์คือมหาจักรพรรดิท้าวพันตาหรือขุนเทียนนั้น ดร.ณัฐวุธก็เห็นด้วยกับผม เนื่องจากอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เคยเกี่ยวข้องกับการค้าขายนานาชาติในสมัยนั้น มีเส้นทางการค้าที่เชื่อมโยง สามารถเอาเรือสำเภาขนาดเล็กแล่นเข้ามาลึกในแผ่นดิน และอาจจะขนสินค้าต่อไปด้วยช้างเอาไปลงเรือสำเภาใหญ่ โดยผ่านไปทางเส้นทางแม่น้ำตาปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานของกรีกในแผนที่ปโตเลมีที่ระบุว่าแม่น้ำตาปีคือแม่น้ำอัตตาบาส์ ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมการค้าจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียมาทะลุอ่าวไทย

นี่คือการต่อจิ๊กซอว์ของผมที่ระบุว่าฟูนันอยู่ในประเทศไทยนี่เอง แต่อาจมีบางช่วงที่มีการแต่งตั้งศูนย์กลางอยู่ที่อาณาจักรโจฬะบกตอนที่ขุนพลพันทีได้ก่อการกบฏขึ้นมา นี่คือความลับของประวัติศาสตร์ไทยที่บ่งบอกว่าประวัติศาสตร์ไทยและเขมร ตลอดจนรัฐเครือญาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละโว้ สุโขทัย อยุธยา นครวัด นครธม นครศรีธรรมราช จนถึงดินแดนชวากลางซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของศรีวิชัย ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยสืบสายไปจากบรรพบุรุษของราชวงศ์ไศเลนทร์ หรือราชวงศ์พระอิศวรของชาวเชิงภูเขา ซึ่งได้แก่ขุนเทียนหรือมหาจักรพรรดิท้าวพันตา

ต่อมาในช่วงคีรีรัฐล่มสลายลง โดยการทำลายของอาณาจักรเจนละซึ่งร่วมมือกับอาณาจักรอิศานปุระของพระเจ้าจิตรเสน ภายใต้การหนุนหลังของราชวงศ์สุยแห่งประเทศจีน คีรีรัฐก็กลับฟื้นคืนมาเป็นเอกภาพอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 1202 ภายใต้การนำของจักรพรรดิศรีไชยนาท


You must be logged in to post a comment Login