วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

Thailand only 4.0 ถามไม่ตรงคำตอบ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On June 5, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

1.คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่?

2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร?

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่?

4.คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกครั้งหรือไม่ หากเข้ามาแล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร?

4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” กลายเป็น “คำถามแห่งชาติ” ที่น่าสนใจอย่างยิ่งไม่ว่าจะมองในมุมใด เพราะมีทั้งสนับสนุน ไม่เห็นด้วย และเสียดสีต่างๆนานา โดยเฉพาะคำถามเรื่องการสืบทอดอำนาจและจะเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์เขียนตอบคำถามสื่อมวลชน (30 พฤษภาคม) ถึงการตั้ง 4 คำถาม นายกฯมั่นใจหรือไม่ว่าจะได้คำตอบจริงๆที่ไม่ใช่การกลั่นกรองเอาแค่คำตอบที่ถูกใจว่า “ผมไม่มีความตั้งใจจะได้คำตอบที่ถูกใจหรือไม่ตรงใจ ผมต้องการสร้างการเรียนรู้ว่าประชาชนจะช่วยกันอย่างไรให้ได้รัฐบาลที่ดี มีธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมืองต่อไป ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวนายกรัฐมนตรีเลย เพราะการเลือกตั้งประชาชนเป็นผู้เลือก ต้องเลือกด้วยความรอบคอบ”

การเขียนคำตอบแทนการให้สัมภาษณ์ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์บอกก่อนหน้านี้ (29 พฤษภาคม) ว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์ 2-3 สัปดาห์ หลังจากชี้แจงการตั้งคำถามให้ประชาชนส่งคำตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรม และให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมส่งมาที่นายกรัฐมนตรี

“อยากจะตอบอะไรก็ตอบไป ไม่มีการสรุป แต่ขอให้ประชาชนตอบมาก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร วันหน้าเมื่อรัฐบาลนี้ไม่อยู่ก็ขอให้สื่อช่วยถามรัฐบาลหน้าด้วย ถ้ารัฐบาลหน้าไม่ตอบให้ชัดเจน ผมก็จะมาไล่กับสื่อ ทีเมื่อก่อนไม่เห็นมีถามเขาแบบนี้เลย ถ้าถามแล้วทำไมถึงมีเรื่อง มีความขัดแย้ง มีการใช้ระเบิดและอาวุธสงคราม ก่อนหน้านี้ผมสงบเสงี่ยมเจียมตัวมาหลายสัปดาห์แล้ว”

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารและ คสช. ว่า “เมื่อเขาเล่นงานผม ผมก็ต้องถามกลับไปบ้าง แล้วทำไมจะต้องฟังแต่เขาข้างเดียว ผมไม่มีโอกาสจะพูดอะไรเลยเหรอ ช่วยผมสิ ผมต้องการสร้างความคิด เลือกตั้งผมไม่ได้ขัดแย้ง ยังไงก็ต้องมี โรดแม็พว่าเมื่อไรก็ต้องเมื่อนั้น แต่วันนี้แค่เลือกตั้งยังไม่ยอมกันเลย ต่างเร่งให้เร็วแค่นี้แค่นั้น มีความไม่สงบเกิดขึ้นแล้วบอกว่าจะต้องเลือกตั้งให้เร็วขึ้น จะต้องขยายความให้เขาทำไม ประเทศไหนก็ไม่มีหรอก ถ้าไม่สงบเรียบร้อยก็ทำอย่างอื่นไม่ได้ ผมไม่เคยพูดสักคำว่าจะไม่เลือกตั้ง แล้วนักการเมืองตีความอย่างนั้นทำไม หลายคนที่ออกมาพูดวันนี้สร้างความเสียหาย วันหน้าถ้าเกิดปัญหาขึ้นอีกจะเรียกใคร ประยุทธ์ไม่อยู่แล้วจะเรียกใคร แล้วบอกทหารไม่ต้องรัฐประหาร ซึ่งไม่มีใครอยากจะทำอยู่แล้วถ้าพวกคุณไม่สร้างความเสียหายไว้”

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงนักการเมืองที่มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเป็นนายกฯต่อว่า “อยู่ได้อย่างไร ถ้าอยากอยู่ต่อ ผมต้องถามว่าต้องการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ผมไม่ได้ถาม เมื่อไม่ได้ถามก็อย่าไปตีความ ผมถามว่าถ้าเกิดปัญหาในวันหน้าจะแก้ไขอย่างไร หรือต้องเรียกทหารออกมาปฏิวัติอีก คุณจะเอาอะไรกับผม”

“พุทธะอิสระ-ไพศาล-สุเทพ” หนุน “ลุงตู่” เป็นนายกฯต่อ

คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นปริศนาต่อว่ามีจุดประสงค์ที่แท้จริงอะไร แม้จะยืนยันว่าการเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแม็พ แต่ที่ผ่านมาโรดแม็พก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก เช่นเดียวกับคำถามเรื่องการสืบทอดอำนาจ ซึ่งหลายฝ่ายก็เห็นสอดคล้องกันว่าถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบทเฉพาะกาล 5 ปี ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช. 250 คน นายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ดังนั้น ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือตำแหน่งการเมืองใดๆหลังการเลือกตั้ง ประเด็นการสืบทอดอำนาจก็จะยังมีอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับ “นายกฯคนนอก” ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุน คสช. ก็ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจนกว่าจะปฏิรูปประเทศสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นพุทธะอิสระ (พระสุวิทย์) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.แต่งตั้งที่ประกาศจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยพุทธะอิสระซึ่งประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯต่อมาตลอดเพื่อปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ ได้โพสต์เฟซบุ๊คตอบ 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า นักการเมืองจะมีธรรมาภิบาลคงต้องรอให้พระอาทิตย์ขึ้นในทิศตะวันตกและตกในทิศตะวันออกเสียก่อน ดังนั้น จึงไม่ต้องมีการเลือกตั้ง รอให้นักการเมือง พรรคการเมืองมีธรรมาภิบาลในใจเมื่อไร เมื่อนั้นค่อยเลือกตั้ง

นายไพศาลโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Paisal Puechmongkol อย่างต่อเนื่องว่า ประชาชนเชียร์ “ลุงตู่” กึกก้องทุกที่ทุกทางทุกโพล 4 คำถามของ “ลุงตู่” ทำให้นักการเมืองเลวหวาดผวาประชาชนทั่วประเทศ เพราะคำตอบของประชาชนเป็นฉันทามติที่จะไม่กลับไปสู่ยุคเผาบ้านระเบิดเมืองโกงบ้านกินเมืองอีก จะเป็นฉันทามติขอร้องให้ “นายกฯตู่” ดูแลบ้านเมืองต่อไปจนกว่าบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อยและปฏิรูปประเทศไทยได้เสร็จสิ้น

หนุน “ประยุทธ์” แต่ไม่ได้เป็นขี้ข้า

นายสุเทพได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊คล่าสุด (30 พฤษภาคม) ยืนยันในฐานะกระบอกเสียงมวลมหาประชาชนว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯต่อไป เพราะมีความสามารถ มีความกล้าที่จะเป็นคนกลางในการปฏิรูปประเทศ

ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตแกนนำ กปปส. ซึ่งกลับเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเตรียมตัวสมัครรับเลือกตั้งก็กล่าวตอบโต้ผู้พาดพิงพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. บางคนทำตัวเป็นขี้ข้า พล.อ.ประยุทธ์ว่า พวกคนที่ให้โอกาสการทำงานให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมั่นใจว่า 30-40 ปีต่อสู้มากับเผด็จการทุกรูปแบบ เผด็จการมี 2 รูปแบบคือ เผด็จการที่ได้อำนาจมาจากอาวุธ และเผด็จการที่ได้มาจากอำนาจเงิน ทั้ง 2 อย่างถ้าสามานย์เมื่อไรต้องจัดการ มั่นใจว่าไม่ได้เป็นขี้ข้าใคร นักการเมืองที่ดีต้องเป็นข้าของแผ่นดิน ชาติ พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ขี้ข้ารองรับตัณหาของตัวเอง ถ้าผ่านตรงนี้ไม่ได้ ประชาชนมีแต่จะเบื่อหน่ายและด่านักการเมืองตลอด

นายวิทยายังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเผด็จการหรือไม่ ตอบว่าใช่ เพราะได้มาจากการรัฐประหาร แต่ถามว่าสามานย์หรือไม่ ตอบว่ายัง เผด็จการที่ล้มง่ายที่สุดในประเทศไทยคือเผด็จการสามานย์ เผด็จการที่ล้มยากที่สุดคือเผด็จการทุนนิยมสามานย์ และคงไม่มีเผด็จการที่ไหนตั้งคำถามให้ประชาชนตอบเพื่อรับฟังข้อมูล ขณะที่พวกเรายืนยันในการเรียกร้องมาโดยตลอดคือ ขอให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง การปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ และเร่งปราบการทุจริตในแวดวงราชการและท้องถิ่นที่ยังคงมีมากขณะนี้

ประเด็นแกนนำ กปปส. กลับเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นข่าว เพราะมีการปล่อยข่าวว่า กปปส. ต้องการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค รวมถึงอาจเปลี่ยนจุดยืนของพรรคในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า ไม่ใช่แค่ข่าวลือ แต่เป็นความตั้งใจของกลุ่ม กปปส. ทั้งถามว่าการที่ กปปส. ยกพวกกันกลับมาในสายตาคนทั่วไปจะมองอย่างไร

“ถ้าย้อนดูเรื่องเก่าที่ผมเคยพูดไปแล้วนั้น กี่เรื่องๆมันกำลังเกิดขึ้นแล้วตามลำดับ เรื่องที่พูดไว้ว่าจะเกิดอีกในอนาคตก็กำลังจะเกิดขึ้นจริง ผมจึงไม่อยากจะสนใจ ไม่อยากให้ข่าวแล้ว อยากอยู่เงียบๆ” นายพิเชษฐกล่าว

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมายืนยัน (30 พฤษภาคม) ว่าไม่มีความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม แกนนำกลุ่ม กปปส. ที่กลับมาเป็นสมาชิกพรรคก็ได้เข้าหารือเป็นการภายในกับนายอภิสิทธิ์และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ก่อนจะออกมายืนยันว่าจะสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งสถานการณ์นั้นยังอีกยาวไกล ต้องดูว่าข่าวลือจะเป็นจริงหรือไม่ แน่นอนว่าน่าจะชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง

เข้าแถวตอบ “ประยุทธ์”

การตอบ 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ที่น่าสนใจและขาดไม่ได้เลยคือแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนายพิชัย นริพทะพันธุ์ ซึ่งตอกย้ำการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ล้มเหลวมาโดยตลอด แต่หากคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนและมีการเลือกตั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติก็จะกลับมาทันที และได้กล่าวถึง 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้มีความคิดเป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงของประชาชน เห็นว่าประชาชนไม่ฉลาด ถูกหลอกได้ง่าย แถมยังไม่ได้ดูตัวเองและผลงานตัวเองว่าปัจจุบันสภาวะที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร ดีกว่าในอดีตหรือไม่ จะทำอย่างไรหากรัฐบาลขาดผลงาน ขาดความรู้ความสามารถ และยังขาดวิสัยทัศน์ ขาดธรรมาภิบาล

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค “ปากพาจน” ว่า รายงานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ชี้ว่าเศรษฐกิจรากหญ้าของไทยซึมยาว เพราะค้าปลีกโตต่ำสุดในอาเซียนต่อเนื่องมาเกือบ 4 ปี เศรษฐกิจไทยอยู่ในอาการโคม่าเพราะเศรษฐีไม่กล้าใช้เงิน ส่วนประชาชนทั่วไปก็ไม่มีเงินจะใช้ จึงกระทบอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวพันกับผู้คนทั้งประเทศ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า แทนที่จะสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนและนักลงทุน นายกรัฐมนตรีกลับตั้งคำถามทำนองว่าจะไม่ให้มีการเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในทิศทางของประเทศ เศรษฐกิจไทยที่แย่อยู่แล้วต้องแย่หนักขึ้นไปอีก การเป็นผู้นำทางการเมืองต้องคิดก่อนพูด หากไม่มั่นใจควรอยู่เฉยๆก็จะไม่เกิดความเสียหาย ซึ่งตรงกับคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ของสหรัฐ ที่ว่า “Better to remain silent and be thought a fool than to speak out and remove all doubt.” แปลว่า “อยู่เงียบๆปล่อยให้คนอื่นคิดว่าเราโง่ดีกว่าการอ้าปากพูดแล้วทำให้คนสิ้นสงสัย”

นายชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มจากการตอบคำถามตัวเองก่อนว่าที่ดูแลและบริหารประเทศมานั้นเป็นอย่างไร มีธรรมาภิบาลแล้วหรือไม่ ตนเชื่อว่าจนถึงขณะนี้ทุกภาคส่วนทั้งนักการเมืองและประชาชนคงมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าอะไรที่ดีและอะไรที่ไม่ดีต่อบ้านเมือง การตั้งคำถามขึ้นมาทำท่าเหมือนว่าอยากจะอยู่ต่อหรือไม่ จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะตอบคำถามว่าอย่างไร

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย คำถาม 4 ข้อจะไม่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด เพราะจะมีคำตอบในตัวของมันเองว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ดังนั้น การที่ประชาชนต้องการเลือกใคร ต้องการได้ธรรมาภิบาลแบบไหน ก็เป็นสิทธิที่เขาจะเลือกใครก็ได้ อย่าประเมินประชาชนต่ำเกินไป ต้องให้เกียรติและรับฟังเสียงประชาชนบ้าง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นายกฯไม่อยากฟังจากนักการเมือง แต่ตนเห็นว่าถ้าเป็นการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ได้รัฐบาลที่ดีมีธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งตนไม่กดดัน เพราะบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาลอยู่แล้ว แต่คิดว่าคำถามของนายกฯจะย้อนกลับไปกดดัน คสช. เอง เพราะถ้าไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้จะกลายเป็นว่าสิ่งที่ คสช. ทำมาก็ไม่สำเร็จ ส่วนคำถามที่บอกว่าเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่นั้น การได้มาซึ่งผู้มีอำนาจไม่มีหลักประกันว่าจะได้ธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง สรรหา หรือปฏิวัติรัฐประหาร แต่โอกาสที่จะได้ถ้ามีประชาธิปไตยต่อเนื่องมีมากกว่า การผูกขาดอำนาจจึงไม่ควรสับสน เพราะถ้าไปตั้งเป้าว่าไม่แน่ใจว่าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้งหรือไม่แล้วบอกว่าไม่ต้องเลือกตั้งเป็นข้อสรุปที่ผิด เพราะจะไม่มีประเทศไหนได้เลือกตั้งเลย

นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) โพสต์เฟซบุ๊คว่า รัฐบาลไม่ควรตั้งคำถาม 4 ข้อกับประชาชน แสดงถึงการเอาเปรียบและดูถูกความคิดประชาชน หากรัฐบาลต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปนานๆก็ควรทำให้ประชาชนยอมรับในผลงานจะถูกต้องกว่า อย่าใช้วิธีการกลบเกลื่อนความบกพร่องผิดพลาดแล้วให้ประชาชนตอบคำถามที่รัฐบาลตั้งธงเอาไว้ เพื่อเอามาเป็นข้ออ้างในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ทั้งที่เรื่องที่รัฐบาลควรรีบทำคือแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาความขัดแย้งลดน้อยลงจริงหรือไม่ หรือรอวันที่จะระเบิดออกมา เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นจริงหรือไม่ รัฐบาลมีความจริงใจแก้ปัญหาการทุจริตกี่เรื่องและมีเรื่องใดบ้าง ที่ผ่านมาจัดการเรื่องทุจริตอย่างตรงไปตรงมา อย่างถูกต้องโปร่งใส จนประชาชนยอมรับหรือไม่

Thailand only 4.0

การตั้ง 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ถูกตั้งคำถามว่าเพื่อสกัดนักการเมืองที่อ้างว่า “เลว” ลงเลือกตั้งครั้งหน้า หรือเป็นข้ออ้างเลื่อนการเลือกตั้งก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ก็พูดชัดเจนว่ามีกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อบิดเบือนข้อมูลและดิสเครดิตรัฐบาล จึง “ขอตั้งคำถามกลับไปยังนักการเมืองที่ออกมาโจมตีการตั้งคำถามของตนว่าเป็นใคร ทำไมถึงแตะต้องไม่ได้”

ฝ่ายนักการเมืองและฝ่ายประชาธิปไตยก็ถามกลับเช่นกันว่า “แล้ว พล.อ.ประยุทธ์เป็นอะไร และทำไมถึงตอบโต้ไม่ได้” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็รู้ดีว่าเป็นผู้นำจากการรัฐประหาร 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลทหารถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน แม้แต่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันก็ไม่ได้ลดลงอย่างที่อวดอ้าง การรัฐประหารครั้งนี้ถูกมองว่าไม่ได้แตกต่างกับรัฐประหารที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาลที่ถามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและนักการเมืองก็ถูกย้อนกลับว่าควรถามรัฐบาลนี้มากกว่าหรือไม่ ซึ่งนายโสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ตอบคำถาม พล.อ.ประยุทธ์เรื่องรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะมีธรรมาภิบาลหรือไม่ว่า เป็นการคาดคะเนอนาคต ซึ่งไม่มีวันที่จะได้คำตอบที่แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วจะเรียกว่าแบบไหนคือ “ธรรมาภิบาล” แค่นี้ก็สรุปได้แล้วว่าคำถามนี้ “ผิดรูปแบบ” คือไม่ใช่คำถามที่ดี โดยเฉพาะหลังจากเลือกตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนจะทำงานไม่ได้เต็มที่ เพราะมีวุฒิสภา 5 ปีแรกที่ คสช. แต่งตั้งขี่คออยู่ มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่แน่ใจว่าพวกที่มาขี่คอจะมี “ธรรมาภิบาล” จริงๆ หากพวกนี้บังคับให้รัฐบาลของประชาชนทำผิดโกงชาติบ้านเมือง หากรัฐบาลของประชาชนไม่ทำก็จะเขี่ยทิ้ง แล้วเราจะทำอย่างไร แบบนี้คือการขาดธรรมาภิบาลอย่างชัดแจ้งไม่ว่าจะนิยามอย่างไร

เช่นเดียวกับ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องธรรมาภิบาลในสังคมไทยว่า ในอดีตแนวคิดนี้ถูกนำเข้ามาเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของประชาธิปไตย โดยเฉพาะนักการเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย ถ้าจะบริหารบ้านเมืองให้ดีก็ให้ใช้หลักธรรมาภิบาล ไม่ต้องใช้หลักประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งที่อันตรายในหลักธรรมาภิบาลแบบบิดเบี้ยวนี้คือ เชื่อว่าระบบราชการสามารถมีกฎเกณฑ์ของตัวเองที่เป็นอิสระจากนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน และไม่ทำให้มิติการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นมิติหนึ่งของธรรมาภิบาล มีลักษณะที่สะท้อนพลังอำนาจของประชาชน หลักธรรมาภิบาลในอดีตจึงเป็นเพียงข้ออ้างของระบบราชการที่จะเป็นอิสระจากประชาชนและไม่ต้องผ่านการควบคุมตรวจสอบจากประชาชน

คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการโยนหินถามทางมากกว่าเป็นคำถาม เพราะเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ ส่วนจะมีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ เหมือนที่แกนนำกลุ่ม กปปส. กลับสู่พรรคประชาธิปัตย์ที่ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป้าหมายที่แท้จริงคือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องถามแกนนำกลุ่ม กปปส. ว่าภารกิจ “การปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง” นั้นสำเร็จแล้วใช่มั้ย? เพราะกลุ่ม กปปส. ประกาศว่าต้อง “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” หรือแท้จริงแล้วก็รู้แก่ใจว่า “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” เป็นแค่เพียงวาทกรรม

ถ้าการปฏิรูปประเทศไม่สำเร็จก็เท่ากับกลุ่ม กปปส. หลอกลวงประชาชนเพียงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ สิ่งที่ กปปส. ยกเป็นข้ออ้างได้ทำให้ประเทศชาติเสียหายและเสียเวลากับการจมปลักภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จากการรัฐประหารจริงหรือไม่ สุดท้ายแทนที่ “ทั่นผู้นำ” จะมาตั้งคำถามกับประชาชน ประชาชนที่เดือดร้อนต่างหากที่ควรเป็นฝ่ายตั้งคำถามใช่หรือไม่?

การตั้งคำถามของ “ทั่นผู้นำ” จึงไม่ต่างจากการเล่นบทนักการเมือง (ที่มาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจ) ซึ่งเป็นนักการเมืองพันธุ์พิสดารกว่าพันธุ์อื่นด้วยซ้ำ ยิ่งกว่าการหาเสียงนั่นก็คือสร้างภาพหลอนให้ประชาชนหวาดกลัวหวาดระแวงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ลืมไปว่าต่างก็เป็น “นักการเมือง” เหมือนกัน จะแตกต่างกันก็เฉพาะที่มาและสายพันธุ์เท่านั้น

อันที่จริงคนไทยเองก็รู้ว่าการรัฐประหารนั้นไม่เคยแก้ปัญหาบ้านเมืองและปัญหาปากท้องของประชาชนได้เลย มีแต่ระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างยั่งยืน ตรวจสอบได้ และปรับเปลี่ยนได้ด้วยอำนาจของประชาชนผ่านระบอบรัฐสภาที่มีตัวแทนจากการเลือกตั้ง

ผู้มีอำนาจย่อมรู้ดีว่าอำนาจจากปลายกระบอกปืนนั้นไม่มีวันจะอยู่ได้ตลอดไป ช่วง “ขาลง” จึงควรลงอย่างมีสง่าราศีให้เร็วที่สุดและดูดีที่สุด

คำถามของ “ทั่นผู้นำ” ไม่ใช่แค่ “ถามตรงคำตอบ” หรือ “ตอบตรงคำถาม” หรือไม่ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ใครกันแน่ที่ควรตั้งคำถามและใครควรเป็นคนตอบ?

คนที่ติดตามเงื่อนไขทางการเมืองอย่างใกล้ชิดคงพอจะเดาได้ว่า “นายกฯคนต่อไปชื่อใครจะลอยมา?”

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น วันนี้มีคำถาม “ผ่านมา 3 ปีหลังการรัฐประหาร ประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้าง?”

ตอบกันเองในใจก็พอ.. ไม่ต้องตอบเสียงดัง.. เดี๋ยว “ทั่น” งอล!!??


You must be logged in to post a comment Login