วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

กาตาร์วิกฤตหลังถูกโดดเดี่ยว

On June 7, 2017

กาตาร์เผชิญภาวะวิกฤต หลังถูกประเทศเพื่อนบ้านสำคัญในตะวันออกกลาง ลงโทษแบบเด็ดขาด ทำให้สถานการณ์ภายในประเทศปั่นป่วน ประชาชนตื่นตระหนกไม่ต่างกับเกิดสงคราม

ประเทศเพื่อนบ้านที่ประกาศตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์แบบไม่เหลือเยื่อใย ได้แก่  ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และบาห์เรน

อีกทั้งมีอียิปต์ เยเมน เขตปกครองด้านตะวันออกของลิเบีย (ลิเบียยังไม่มีเอกภาพด้านการปกครองและการบริหารประเทศ) และมัลดีฟส์ เข้าร่วมด้วย รวมเป็น 7 ประเทศ

ทางกลุ่มประกาศว่า กาตาร์ “เล่นไม่ซื่อ” จากการสนับสนุนเงินแก่กลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มก่อการร้ายมานาน โดยไม่ฟังคำร้องขอของประเทศเพื่อนบ้าน

ซาอุฯ ที่เป็นแกนนำกลุ่ม ลงแส้แรงกว่าชาติอื่น โดยปิดพรมแดน และเส้นทางติดต่อกับกาตาร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ และอากาศ

ทำให้สายการบินของกาตาร์ รวมทั้งการขนส่งสินค้าสู่กาตาร์ชะงัก ประชาชนแห่ซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นมากักตุน หวั่นเกิดการขาดแคลน

ที่สำคัญอีกอย่างคือ แผนก่อสร้างสนามกีฬา หมู่บ้านนักกีฬา และระบบสาธารณูปโภค เตรียมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ในอีก 5 ปีข้างหน้าของกาตาร์ มีแนวโน้มสะดุด เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าวัสดุก่อสร้างได้

กาตาร์เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 2.26 ล้านคน พื้นที่ประเทศเป็นคาบสมุทรริมอ่าวเปอร์เซีย มีพรมแดนภาคใต้ติดกับซาอุดีอาระเบีย ส่วนภาคที่เหลือติดทะเลทั้งหมด

แม้เป็นประเทศเล็ก แต่มีฐานะร่ำรวยจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีรายได้ต่อประชากรสูงสุดในกลุ่มประเทศอาหรับ อีกทั้งเป็นชาติอาหรับที่มีบทบาทบนเวทีโลก ทำให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

แม้ “ระเบิด” ครั้งนี้ จะลงที่การ์ตา แต่มีพลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าการลงทุนในวงกว้างทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

นอกจากความแรงแล้ว การรวมพลังโดดเดี่ยวกาตาร์ครั้งนี้ ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มประเทศที่ร่วมมือกันลงโทษ ไม่ได้ปิดตายแนวทางแก้ปัญหาเสียทีเดียว โดยตั้งเงื่อนไขให้โอกาสกาตาร์  “กลับตัวกลับใจ” ด้วย

เงื่อนไขดังกล่าวคือ “กาตาร์ต้องหยุดสนับสนุนเงินแก่กลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มก่อการร้ายโดยสิ้นเชิง” ทางกลุ่มจึงจะยอมทบทวนมาตรการลงโทษ

ดังนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลาย จึงขึ้นอยู่กับกาตาร์ว่าจะ “กลับตัวกลับใจ” หรือไม่

ทางกลุ่มยืนยันไม่รับฟังคำอธิบายจากกาตาร์ และไม่มีแผนเจรจาแก้ปัญหา

ทำให้กาตาร์มีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือต้องทำตามเงื่อนไข หากไม่ยินยอม ก็ต้องรับการคว่ำบาตรต่อไป  


You must be logged in to post a comment Login