วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รวม‘หมอชิต-บางซื่อ’ / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On June 8, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรใช้มาตรา 44 สั่งให้สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิตกับสถานีรถไฟบางซื่อ (หัวลำโพง 2) อยู่ด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชน หากให้ บขส. กับ ร.ฟ.ท. ตกลงกันเองคงเป็นไปไม่ได้ในชาตินี้ ไม่ใช่ยอมจำนนต่ออำนาจที่มิชอบ แต่เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ใช้อำนาจไปในทางที่ชอบ

ผมเห็นว่าการย้ายหมอชิตไปรังสิตจะเป็นปัญหาแก่ประชาชน ขณะนี้ก็มีข่าวว่าอาจต้องพิจารณาที่แห่งใหม่ที่ยิ่งไกลออกไปอีก ถือเป็นการเพิ่มภาระการเดินทางแก่ประชาชน ทั้งขนาดที่ดินที่จะซื้อก็อาจเล็กไป ทั่วโลกเน้นให้การขนส่งผู้โดยสารเข้าถึงใจกลางเมือง และกระจายโดยระบบรถโดยสารต่างจังหวัดโดยให้มีการเชื่อมกับระบบขนส่งมวลชน ยิ่งกว่านั้นควรมีการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส รวมทั้งมีการว่าจ้างประเมินค่าทรัพย์สินให้ถูกต้องก่อนที่จะตัดสินใจทำธุรกิจซื้อที่ดินแปลงใดเพื่อการพัฒนา “บขส.”

กรณีลอนดอน “บขส.” ของเขาอยู่ใกล้พระราชวังบัคกิงแฮมเลยชื่อ Victoria Coach Station เช่นเดียวกับนิวยอร์ก “บขส.” ของเขาอยู่ใจกลางเมืองคือ Port Authority ส่วนสถานีรถไฟอยู่ที่ Penn Station สามารถเดินถึงกันได้เลย

แม้แต่นิวยอร์กที่หนาแน่น แต่ไม่แออัด ก็ยังมี บขส. และหัวลำโพงอยู่ติดกัน ยกตัวอย่าง “บขส.” คือ Port Authority Bus Terminal และ “หัวลำโพง” ของนครนิวยอร์กคือ Penn Station ก็ตั้งอยู่ใกล้กันในย่านใจกลางเมืองบนเกาะแมนฮัตตัน หรือกรณีกรุงลอนดอน “บขส.” ชื่อ Victoria Coach Station ก็อยู่ใกล้พระราชวังบัคกิงแฮม

1.กรณี “บขส.” ไปตั้งอยู่นอกเมือง ห่างจากกรุงเทพฯถึง 40-60 กิโลเมตร ก็เท่ากับไม่มีรถ “บขส.” เข้าเมืองเลยในอนาคต ต้องต่อรถกันพัลวัน เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300-400 บาท หากนั่งแท็กซี่เข้าเมืองก็แพงกว่าค่าโดยสารรถ บขส. จากต่างจังหวัดเสียอีก

2.บางท่านอาจแย้งว่านั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้าเมืองได้ แต่ความเป็นจริงรถไฟฟ้าสายสีแดงออกแบบมาให้เพียงพอกับการใช้สอยในเมือง ไม่สามารถรองรับคนจากต่างจังหวัดนับเป็นแสนได้

กรณีนี้จะให้ ร.ฟ.ท. กับ บขส. เจรจากันเองคงเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลประยุทธ์จึงควรใช้มาตรา 44 หรืออำนาจเบ็ดเสร็จ (ถ้ามีจริง) สั่งหรือประสานให้อยู่ด้วยกัน เพราะต่างก็จะยึดถือประโยชน์ของหน่วยงานของตนเป็นที่ตั้ง พื้นที่ปัจจุบันของ “หมอชิต 2” ที่ใช้อยู่มีขนาดประมาณ 73 ไร่ หากย้ายไปรังสิตที่มีขนาดใกล้เคียงคือเพียง 80 ไร่นั้น มีความเหมาะสมเพียงใดหากไม่คิดเผื่อการขยายตัวในอนาคต

ผู้เขียนมีความเห็นว่า “หมอชิต” ควรอยู่ที่เดิม เพราะประชาชนสามารถเลือกที่จะต่อรถไฟ รถไฟฟ้า หรือรถประจำทางได้สะดวก ไม่สิ้นเปลืองเงินทองและเวลาในการเดินทาง การทำทางเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ทั้งขาเข้าและขาออกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยรถโดยสารก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง อันที่จริงหากพัฒนา “หมอชิต” ใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็น่าจะรองรับการเดินทางได้สะดวกกว่าในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

บางท่านอาจรู้สึกว่าทำไมเราต้องไปร้องให้ใช้อำนาจพิเศษจากมาตรา 44 ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นอำนาจที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่ได้มาจากอาณัติของประชาชน ข้อนี้ก็จริงอยู่ แต่ถ้าสามารถทำให้ คสช. หรือรัฐบาลใช้อำนาจนี้ได้ก็จะส่งผลดีเป็นอเนกอนันต์ต่อรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยใช้มาตรา 44 ในทางที่เป็นคุณต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม

สังเกตได้ว่ามาตรา 44 ส่วนมากใช้ในการโยกย้ายข้าราชการเป็นหลัก ซึ่งเป็นข้อครหาว่าครั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย้ายข้าราชการเพียงคนเดียวกลับถูกถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมือง แต่รัฐบาลนี้ย้ายข้าราชการมากมายสามารถทำได้ ขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังบริหารและพัฒนาประเทศโดยไม่ถูกกลุ่ม กปปส. ก่อกวนให้เสียเรื่อง ตอนนี้ประเทศไทยคงเจริญไปมากกว่าทุกวันนี้

จึงอยากให้ใช้มาตรา 44 ในเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาชาติและประโยชน์ของประชาชนบ้าง แต่พนันได้เลยว่าไม่ได้ใช้แน่..อิอิ


You must be logged in to post a comment Login