วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ซาอุฯยุคใหม่! / โดย ณ สันมหาพล

On June 12, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

ซาอุดีอาระเบียกำลังเปลี่ยนไป แต่เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่ก็จะไม่รู้ การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนอย่างหนึ่งคือ การแสดงการดีดพิณของ Khalil Almuwail วัย 42 ปี ซึ่งจัดที่เต็นท์นอกศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติในกรุงริยาด เป็นการดีดพิณอาหรับที่เรียกว่า oud โดยปรกติใครดีดพิณแบบนี้จะถูกลงโทษ เนื่องจากขัดคำสั่งกลุ่มเคร่งครัดทางศาสนาที่เป็นกลุ่มอิทธิพลสูงสุดของประเทศ

ยิ่งกว่านั้นเพลงที่เล่นไม่ใช่เพลงพื้นเมือง แต่เป็นเพลงคลาสสิก “Ode to Freedom” หรือ “รำพึงถึงเสรีภาพ” ประพันธ์โดยเบโทเฟน เป็นเพลงตะวันตกที่ถูกห้ามเช่นกัน

ที่สำคัญคนที่เข้าไปฟังมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง แถมบางคนไปเป็นคู่และนั่งชิดติดกันโดยไม่กลัวถูกตำรวจศาสนาจับตัวไปเฆี่ยน แม้แต่ที่สวนสาธารณะ Bujairi Park ที่เพิ่งเปิดทางตะวันตกของนครหลวง จะเห็นชายหญิงเดินคู่กันและจับมือกันอย่างสนิทสนม ซึ่งเมื่อก่อนมีกฎเคร่งครัดทางศาสนา

ยิ่งถนน Tahlya Street ที่อยู่ไม่ไกลจากสวนสาธารณะ มีโรงแรมสำหรับหนุ่มสาวที่จะแอบมีอะไรกัน ทั้งผู้หญิงที่เข้าไปใช้บริการกับผู้ชายยังไม่แยแสกับการคลุมหน้าอีกด้วย หากใครอยากอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานก็สามารถเช่าอพาร์ตเมนต์ได้

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในซาอุฯสะท้อนให้เห็นอำนาจของกลุ่มอิทธิพลทางศาสนา ซึ่งตำรวจศาสนาไม่ตรวจเหมือนสมัยก่อน

ส่วนการดีดพิณของ Khalil Almuwail นั้น ที่ผ่านมาเขาเคยขออนุญาตรัฐบาลและผู้นำศาสนา แต่ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งรัฐบาลเริ่มผ่อนผันข้อห้ามทางศาสนาเพื่อรับกระแสเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิมีเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปีถึงร้อยละ 65 ของประชากรที่มีทั้งสิ้นราว 32 ล้านคน

ความคิดของคนรุ่นใหม่แตกต่างกับคนรุ่นก่อนชัดเจน แต่เหตุผลแท้จริงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือรายได้จากน้ำมันที่ลดฮวบ ทำให้รัฐบาลซาอุฯมีรายได้ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง ปีที่ผ่านมารัฐบาลขาดดุลงบประมาณสูงถึง 90,000 ล้านยูโร หรือ 3.55 ล้านล้านบาท จนต้องกู้เงินเป็นครั้งแรก

รัฐบาลซาอุฯต้องคิดหาช่องทางเพิ่มรายได้ ซึ่งมีทางเดียวคือทำให้ประชาชนทำธุรกิจและการค้าให้มากขึ้น เพื่อจะมีรายได้จากภาษีอากรมาทดแทนรายได้จากน้ำมัน โดยประชาชนกลุ่มที่เป็นพลังหลักในการผลักดันคือผู้หญิง ซึ่งได้รับการปลดปล่อยจากข้อห้ามทางศาสนาที่เคร่งครัด ผู้หญิงซาอุฯได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นแค่ระดับสภาท้องถิ่นคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งผู้หญิงซาอุฯไปใช้สิทธิมากถึงร้อยละ 80 จากจำนวนผู้ไปลงทะเบียน 100,000 คน ขณะที่ผู้ชายไปใช้สิทธิเพียงร้อยละ 50 จาก 1 ล้านคน

นอกจากนี้ยังมีผู้หญิง 20 คนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งอาจได้มากกว่านี้หากหลายพื้นที่ไม่มีการแย่งชิงกันลงสมัคร และมีการผลักดันให้ผู้หญิงทำธุรกิจและการค้ามากขึ้น ปัจจุบันผู้หญิงซาอุฯก้าวสู่วงการธุรกิจและการค้าอย่างรวดเร็ว แม้แต่การขึ้นสู่ชั้นสูงสุดในฐานะผู้บริหารกิจการสำคัญในธุรกิจภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ

ปัจจุบันจะเห็นผู้หญิงซาอุฯทำงานนอกบ้านเป็นจำนวนมาก ประเมินว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48 ระหว่างปี 2553-2557 จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้หญิงเป็นผู้บริหารธนาคาร ผู้บริหารศูนย์วิจัย นักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ ผู้จัดการการซื้อขายสินค้า บรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่การเป็นนางแบบ ซึ่งหลายคนได้งานเดินแบบในต่างประเทศ

ซาอุดีอาระเบียวันนี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและถาวร เชื่อกันว่าเพราะเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระราชโอรสของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ที่มีพระชนมายุเพียง 31 พรรษา และเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เป็นผู้ริเริ่มกำหนดแผนวิสัยทัศน์ปี 2030 ที่จะปฏิรูปประเทศซาอุดีอาระเบียทุกด้าน เพื่อให้เป็นประเทศทันสมัยอย่างสมบูรณ์ในอีก 14 ปีข้างหน้า

แน่นอนว่าไม่ใช่งานง่าย แต่ยากมากสำหรับประชาชนซาอุฯที่จะสลัดความคิดเก่าๆ ความเชื่อเก่าๆ และยังจะต้องทำให้คนชนชั้นเดียวกับเจ้าชายที่เป็นชนชั้นสูงทั้งทางการเมืองและศาสนายอมรับ รวมถึงผลประโยชน์ต่างๆที่เคยได้ทั้งหมด


You must be logged in to post a comment Login