วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ธุรกิจญี่ปุ่นยึดที่มั่นเวียดนาม

On June 14, 2017

ญี่ปุ่นเลือกประเทศเวียดนาม เป็นฐานที่มั่นแห่งหนึ่ง ด้านการลงทุนทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเห็นว่าเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวรวดเร็ว จำนวนพลเมืองชั้นกลางเพิ่มสูงต่อเนื่อง และมีงานก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เลือกจำนวนมาก

ญี่ปุ่นมองว่า ปัจจัยดังกล่าวในเวียดนามเอื้อต่อการลงทุน อีกทั้งค่าแรงถูก ก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง ทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่น เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ ที่เข้าไปลงทุนตรง (Foreign Direct Investment) ในเวียดนามปีล่าสุด คือปีที่ผ่านมา มากเป็นอันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้

วงเงินลงทุนรวมในเวียดนามของบริษัทญี่ปุ่นปีที่แล้ว บวกกับ 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้ อยู่ที่ 42,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.45 ล้านล้านบาท)

เคอิสึเกะ โคบายาชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนาม แห่งองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization) ระบุว่า ก่อนนี้ญี่ปุ่นเน้นเข้าไปเปิดโรงงานเวียดนาม เพื่อใช้ประโยชน์จากค่าแรงถูก

แต่ปัจจุบัน มีธุรกิจประเภทอื่นเข้าไปเปิดกิจการมากขึ้น ทำให้บุคลากรที่มีการศึกษา มีทักษะสูง และพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งแผนอาศัยคนท้องถิ่นช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทางญี่ปุ่นได้ดำเนินการมอบทุนการศึกษา ทุนเรียนภาษาญี่ปุ่น และโครงการส่งนักศึกษาเทคนิคและอาชีวะไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นระยะ 5 ปี  

นอกจากนั้น บริษัทญี่ปุ่นยังสร้างแรงจูงใจชาวเวียดนามเข้าร่วมงาน ด้วยการกำหนดเงินเดือนค่อนข้างสูง และให้สวัสดิการต่างๆ

แผนสร้างบุคลากรท้องถิ่นไว้เป็นฐานรองรับธุรกิจในเวียดนามของญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จ สามารถระดมนักศึกษาไปฝึกงาน โดยเรียนและทำงานควบคู่กัน สำรวจถึงสิ้นปีที่ผ่านมา จำนวนกว่า 90,000 คน

ส่งผลให้ชาวเวียดนาม เป็นนักศึกษาฝึกงานต่างชาติมีจำนวนมากที่สุดในญี่ปุ่นปัจจุบัน

จำนวนผู้ไปศึกษาต่อ รวมทั้งไปเรียนภาษาญี่ปุ่น ทั้งส่วนที่ได้ทุนการศึกษา และใช้ทุนของตนเอง มียอดพุ่งสูงเช่นกัน

จากข้อมูลขององค์การบริการนักศึกษาญี่ปุ่น (Japan Student Services Organization) รวบรวมถึงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (2016) มีจำนวน 54,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 6 ปีก่อนถึง 12 เท่า ทำให้ชาวเวียดนามเป็นนักศึกษาต่างชาติในญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน

ในส่วนของผู้ไปศึกษาต่อ และกลับมาทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นในเวียดนาม น่าจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย แบบ “Win-Win” แต่กรณีนักศึกษาฝึกงาน มีเสียงตำหนิญี่ปุ่นว่า เป็นมาตรการเอาเปรียบ

เนื่องจากทางบริษัทได้ผลประโยชน์เต็ม แต่จ่ายค่าแรงให้นักศึกษาฝึกงาน ต่ำกว่าค่าจ้างบุคลากรของบริษัท 


You must be logged in to post a comment Login