วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

บราซิลนำร่องผลิต‘อ้อยจีเอ็ม’

On June 15, 2017

พืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือพืชจีเอ็มโอ (GMO : Genetically Modified Organism) บางครั้งก็เรียกง่ายๆว่า “พืชจีเอ็ม”  เป็นประเด็นถกเถียงกันถึงผลดีผลเสียของมันมานานในหลายประเทศ รวมทั้งไทย กระทั่งถึงปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปที่ใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงได้

ในส่วนของอ้อยจีเอ็ม ประเทศบราซิล ซึ่งปลูกอ้อยมากที่สุดในโลก และเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยด้านการส่งออกน้ำตาลผลิตจากอ้อย ถกเถียงถึงผลดีผลเสียของมันมานานเช่นกัน

แต่ในที่สุดก็ได้ข้อสรุป รัฐบาลเห็นดีเห็นชอบกับพืชสายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ ประกาศอนุมัติให้ผลิตเชิงพาณิชย์ได้

ทำให้บราซิล เป็นประเทศแรกของโลก ที่ไฟเขียวให้ปลูกอ้อยจีเอ็มเชิงพาณิชย์

อ้อยจีเอ็มสายพันธุ์นี้ พัฒนาโดยศูนย์วิจัยอ้อยแห่งบราซิล ใช้ชื่อในภาษาท้องถิ่นว่า Centro de Tecnologia Canavieira (CTC) เป็นศูนย์เทคโนโลยีอ้อยใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่รัฐเซาเปาโลของบราซิล

อ้อยจีเอ็มสายพันธุ์ใหม่มีคุณสมบัติเด่น คือทนต่อด้วงเจาะลำต้นและยอด (Diatraea saccharalis) ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญชนิดหนึ่งของอ้อย เท่าที่ผ่านมา ผู้ปลูกอ้อยของบราซิลเสียหายจากด้วงชนิดนี้ ประมาณปีละ 1,520 ล้านเหรียญสหรัฐ (51,700 ล้านบาท)

เกษตรกรบราซิลคาดหวังว่า อ้อยจีเอ็มจะช่วยลดความเสียหายดังกล่าว ส่งผลดีต่อยอดการผลิต

บราซิลมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 60 ล้านไร่ ปีล่าสุดผลิตได้ 595 ล้านตัน โดยอ้อยส่วนหนึ่งนำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และเอทานอล (Ethanol) แต่ส่วนใหญ่ใช้ผลิตน้ำตาลส่งออก

โดยบราซิลเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลผลิตจากอ้อยมากที่สุดในโลก และเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ซึ่งส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก  

ยอดส่งออกน้ำตาลปีที่แล้วของบราซิลอยู่ที่ 2.86 ล้านตัน ส่วนยอดส่งออกไตรมาสแรกปีนี้ (มกราคม-มีนาคม) อยู่ที่ 591,121 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อน 10% แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว 14%

สำหรับอ้อยจีเอ็ม บราซิลคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ในการขยายพันธุ์ปลูกเชิงพาณิชย์ได้ระดับแรก และกระจายพันธุ์ปลูกเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบในเวลา 10 ปี โดยจะมีสัดส่วนพื้นที่ปลูกอ้อยชนิดนี้ 15% ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด

ระหว่างช่วงปลูกอ้อยจีเอ็มรุ่นแรก บราซิลมีแผนพัฒนาพันธุ์จีเอ็มรุ่นใหม่ควบคู่ไปด้วย เป้าหมายให้ได้พันธุ์ทนต่อแมลงศัตรูพืชชนิดอื่น รวมทั้งทนต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช เพื่อเพิ่มผลผลิต และลดความสูญเสียให้แก่เกษตรกร

ด้านตลาดรองรับน้ำตาลผลิตจากอ้อยจีเอ็ม บราซิลระบุว่ามีค่อนข้างกว้าง โดยลูกค้าในปัจจุบันประมาณ 150 ประเทศ ยินดีรับน้ำตาลอ้อยจีเอ็มถึง 60%


You must be logged in to post a comment Login