- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ปราบผีเพื่อไทย
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
เรียบร้อยโรงเรียน สนช.ไปอีกฉบับสำหรับร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ความเห็นชอบวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 180 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่มีสนช.คนไหนลงมติไม่เห็นชอบแม้แต่เสียงเดียว
ถึงร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับนี้จะมีมากถึง 142 มาตรา แต่ความน่าสนใจมีอยู่ไม่กี่เรื่องที่เป็นข้อกำหนดใหม่ๆ ดังนี้คือ
จากนี้ไปการก่อตั้งพรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมใช้ก่อตั้งพรรคไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยผู้ที่ร่วมกันก่อตั้งพรรคจะต้องร่วมลงขันจ่ายเงินประเดิมเป็นทุนในการก่อตั้งไม่ต่ำกว่าคนละ 1 พันบาทแต่ไม่เกินคนละ 5 หมื่นบาท
ที่สำคัญการจ่ายเงินทุนประเดิมก่อตั้งพรรคกำหนดให้ต้องจ่ายผ่านธนาคาร หากพรรคใดไม่จ่ายทุนประเดิมจัดตั้งพรรคจะไม่มีสิทธิส่งตัวแทนลงสมัครส.ส.
การคัดเลือกตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ระบบเขตให้สาขาพรรคในพื้นที่หรือตัวแทนพรรคระดับจังหวัดเป็นผู้คัดเลือก ขณะที่การพิจารณาลำดับผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อล็อกอันดับหนึ่งไว้ให้หัวหน้าพรรคที่เดียว ส่วนลำดับอื่นๆต้องส่งให้บัญชีรายชื่อให้สาขาพรรค ตัวแทนพรรคระดับจังหวัดร่วมกันจัดลำดับผู้สมัคร ซึ่งต่างจากเดิมที่ให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้จัดลำดับผู้สมัคร
ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมของพรรคในลักษณะชี้นำ ควบคุม ครอบงำกิจการของพรรค หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ
ความตั้งใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผู้ที่ตั้งท้องร่างกฎหมายนี้ และ สนช.ที่ทำคลอดร่างกฎหมายนี้คือต้องการให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่พรรคของนายทุนเงินหนาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จึงออกข้อกำหนดมากมายไม่ให้เกิดการครอบงำกิจการพรรคได้ง่ายๆ
แต่ก็มีข้อท้วงติงเกิดขึ้นมากมายว่าเขียนกฎหมายแบบนี้อาจไม่บรรลุผลอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้ก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น การให้สาขาพรรค ตัวแทนพรรคระดับจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครส.ส.เขต
ความตั้งใจคืออยากให้สมาชิกพรรคในพื้นที่เป็นผู้คัดเลือกคนที่เห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม มีความเสียสละทุ่มเททำงานให้ประชาชนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่เป็นหลัก
แต่ในความเป็นจริงการเมืองระบบอุปถัมภ์ในบ้านเราประชาชนมักเออออห่อหมกตามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ คนที่เป็นสมาชิกพรรคย่อมมีความผูกพันสนิทสนมกับนักการเมืองในพื้นที่ การให้สาขาพรรค ตัวแทนพรรคในจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครจึงเป็นไปได้สูงที่จะได้คนที่นักการเมืองสนับสนุนหรือเสนอชื่อให้เลือก
หากจะใช้ระบบนี้ให้เกิดผลจริงจังต้องใช้ระบบเปิดรับสมัครแล้วให้สมาชิกพรรคในพื้นที่ลงคะแนนเลือกเหมือนการเลือกตั้ง ซึ่งยังพอมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะได้ผู้สมัครส.ส.ที่ไม่ใช่คนของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือข้อห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมพรรคในลักษณะชี้นำ ครอบงำ ควบคุมกิจกรรมการพรรค
ข้อกำหนดนี้แม้จะบังคับใช้กับทุกพรรคแต่ดูเหมือนเขียนมาเพื่อให้กระทบกับพรรคเพื่อไทยมากที่สุด
เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเติบโตครองเสียงข้างมากได้เพราะอาศัยนโยบายของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จ ประชาชนชื่นชอบในการหาเสียง และตัว ดร.ทักษิณ ก็มีส่วนร่วมในการวางนโยบายหาเสียงด้วย
แต่การถูกตัดสิทธิทางการเมืองทำให้ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ แม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นสมาชิกพรรคไม่ได้เพราะถูกตัดสิทธิทางการเมือง
หมายความว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปพรรคเพื่อไทยจะใช้ชื่อของดร.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หาเสียงไม่ได้ สโลแกนอย่าง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” หมดสิทธิใช้อย่างแน่นอน
คำถามที่ต้องขีดเส้นใต้ตัวโตๆคือ ใช้ชื่อคนหาเสียงไม่ได้ แล้วสามารถใช้นโยบายที่คนคนนั้นคิดหรือทำประสบความสำเร็จมาแล้วหาเสียงได้หรือไม่ จะถูกตีความว่าถูกคนนอกครอบงำในการกำหนดนโยบายพรรคหรือไม่
เลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคเพื่อไทยเปรียบเหมือนผีโดนมัดตราสังจับใส่หม้อถ่วงน้ำ ถูกกำราบความเฮี้ยน หมดสิทธิหลอกหลอนฝ่ายตรงข้ามอีกต่อไป
เหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้อดีตส.ส.กลุ่มใหญ่เคลื่อนไหวรวมตัวเพื่อขอเป็นลมใต้ปีกให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้ครองอำนาจต่อไปหลังเลือกตั้ง
You must be logged in to post a comment Login