วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปฏิบัติการกำจัดหนู / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On June 19, 2017

ปฏิบัติการกำจัดหนู / โดย ศิลป์ อิศเรศ

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

หนูหลายหมื่นตัววิ่งขวักไขว่ไปทั่วเมืองสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อยู่อาศัย ทางการจึงประกาศสงครามรณรงค์ให้ช่วยกันกำจัด ถึงขนาดตั้งเงินรางวัลค่าหัวหนูทุกตัวที่จับได้ แต่ดูเหมือนยิ่งกำจัดก็ยิ่งมีปริมาณหนูเพิ่มมากขึ้น

ปี 1897 ปอล ดูแมร์ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการอินโดจีน เขาถูกส่งตัวมาประจำที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ปอลวาดฝันที่จะสร้างกรุงฮานอยให้มีความโอ่อ่าอลังการเฉกเช่นเมืองใหญ่ในทวีปยุโรป ดังนั้น สิ่งแรกที่เขาลงมือทำคือสร้างระบบสาธารณูปโภค

ปอลสั่งให้ขยายถนนและปลูกต้นไม้สองข้างทาง และอีกสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ การวางระบบระบายน้ำเสียจากครัวเรือนตามมาตรฐานของชาวยุโรป เพื่อรองรับบ้านพักอาศัยของคนฝรั่งเศสที่กำลังจะเดินทางเข้ามาทำธุรกิจในเมืองหลวงของเวียดนาม

ระบบระบายน้ำเสียหลักจะก่อสร้างใต้ดินในเขตที่อยู่อาศัยชาวฝรั่งเศส ส่วนเขตที่อยู่อาศัยของชาวเวียดนามที่อยู่นอกเมืองจะเป็นระบบระบายน้ำเสียขนาดเล็ก เพียงพอไม่ให้มีสิ่งปฏิกูลทะลักออกมาเป็นที่อุจาดนัยน์ตา

ท่อระบายน้ำถูกวางจากตัวเมืองลากยาวไปไกลกว่า 9 ไมล์ใต้พื้นถนน และกลายเป็นแดนสวรรค์ของหนูที่เข้ามาอยู่อาศัย ปลอดภัยจากศัตรูที่คอยล่าพวกมัน อีกทั้งยังเป็นทางด่วนที่สามารถใช้เดินทางเข้ามาหาอาหารในเมืองได้อย่างสะดวกสบาย

ประกาศสงคราม

หนูอาศัยอยู่ในท่อระบายน้ำที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีความมืดและความชื้นกำลังพอดีเหมือนเป็นแดนสวรรค์ แถมยังไม่มีศัตรูมาล่าเหมือนขุดรูอยู่ตามท้องไร่ท้องนา มันจึงออกลูกออกหลานมามากมายจนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน

ด้วยเหตุนี้เองปอลจึงตั้งงบประมาณว่าจ้างนักล่าออกกำจัดหนูให้สิ้นโดยเร็ว ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ “ปฏิบัติการกำจัดหนู” เพียงสัปดาห์เดียวในเดือนเมษายน 1902 ก็สามารถสังหารหนูไปได้มากถึง 7,985 ตัว แต่นั่นเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นประกาศสงครามเท่านั้น

เดือนพฤษภาคมหนูถูกกำจัดไปวันละกว่า 4,000 ตัว เมื่อถึงวันที่ 30 พฤษภาคม เพียงวันเดียวสามารถสังหารหนูได้ 15,041 ตัว ปฏิบัติการล่าหนูดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และยอดสังหารที่สูงที่สุดคือเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เพียงวันเดียวสามารถฆ่าหนูได้ 20,112 ตัว

แม้ว่าหนูจะถูกกำจัดไปกว่าแสนตัว แต่ดูเหมือนปริมาณของพวกมันไม่ได้ลดลงไปเลย การล่าหนูเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะคนล่าจะต้องมุดเข้าไปในท่อระบายน้ำที่คับแคบและมืด อีกทั้งเสี่ยงต่อการถูกหนูหรือแม้กระทั่งหมัดหนูกัด ซึ่งเป็นพาหะของเชื้อกาฬโรค

ตั้งค่าหัว

ปอลเริ่มรู้ตัวว่าการจ้างนักล่ากำจัดหนูไม่สามารถลดปริมาณหนูลงได้มากสักเท่าไร เขาจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีตั้งค่าหัวเพื่อเพิ่มปริมาณของนักล่า ให้รางวัลกับใครก็ได้ที่สามารถสังหารหนูได้ ให้ตัดหางหนูนำมาขึ้นเงินรางวัลในราคา 1 เซ็นต์ต่อ 1 หาง

การนับหางหนูดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ดี เพราะนักล่าแต่ละคนสามารถล่าหนูได้อย่างต่ำก็หลักร้อยตัว หากให้เอาหนูมาทั้งตัวคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งหนูแต่ละตัวก็มีแค่หางเดียวเท่านั้น การนับหางหนูจึงน่าจะสะดวกกับผู้ล่าและเจ้าหน้าที่จ่ายเงินรางวัล

ชัยชนะกลับมาเป็นของผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสอีกครั้ง แต่ละวันมีคนนำหางหนูจำนวนมากมาขอขึ้นเงินรางวัล แต่น่าแปลกใจว่าทำไมยังมีหนูจำนวนมากวิ่งขวักไขว่ในเมือง มิหนำซ้ำยังดูเหมือนจะมีปริมาณมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เขาจึงเริ่มสังเกตดูและเห็นว่าหนูส่วนใหญ่ไม่มีหาง

จากการสืบสวนพบว่าชาวบ้านจับหนูมาตัดหางเพื่อขึ้นเงินรางวัลเท่านั้น แต่พวกเขาไม่ได้ฆ่าหนู มิหนำซ้ำยังเอาหนูที่ตัดหางแล้วไปขยายพันธุ์เพื่อให้ได้ลูกหนูมาเลี้ยงตัดเอาหางในอนาคต เท่านั้นยังไม่พอ ชาวบ้านบางคนไปอิมพอร์ตหนูจากเมืองอื่นมาเลี้ยงเพื่อตัดเอาแต่หางมาขึ้นเงินรางวัล เรียกว่าทำฟาร์มหนูอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงไม่น่าแปลกใจที่จำนวนหนูในกรุงฮานอยมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

คอบร้าเอฟเฟ็ค

สมัยที่อังกฤษปกครองอินเดียเคยเกิดกรณีคล้ายๆกันนี้ มีผู้พบเห็นงูจงอางจำนวนมากในกรุงเดลี รัฐบาลอังกฤษจึงตั้งเงินรางวัลให้กับผู้ที่ล่างูจงอางได้ ส่งผลให้มีชาวบ้านหัวใสเพาะพันธุ์งูจงอางเพื่อนำมาขึ้นเงินรางวัล หรือที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “คอบร้าเอฟเฟ็ค” (Cobra Effect) มีความหมายว่าการพยายามแก้ปัญหาหนึ่ง แต่วิธีการที่ทำส่งผลให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ไม่พบหลักฐานว่าเหตุการณ์คอบร้าเอฟเฟ็คเคยเกิดขึ้นจริง จึงเชื่อว่าเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานต่อๆกันมาเท่านั้น ต่างกับกรณีความพยายามกำจัดหนูในกรุงฮานอยซึ่งมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงน่าจะเรียกว่า “แรทเอฟเฟ็ค” (Rat Effect) มากกว่า

และแล้วสิ่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสเกรงกลัวก็เกิดขึ้นจริง เกิดการระบาดของเชื้อกาฬโรคในกรุงฮานอยเมื่อปี 1906 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 263 คน แต่ในช่วงเวลานั้นปอลเดินทางกลับกรุงปารีสไปแล้ว และต่อมาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปี 1931

การสร้างระบบระบายน้ำเสียในกรุงฮานอยโดยไม่ศึกษาสภาพแวดล้อมเสียก่อนส่งผลให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของหนู และปฏิบัติการกำจัดหนูกลับทำให้พลเมืองหนูมีปริมาณมากยิ่งขึ้น กลายเป็นการสร้างปัญหาให้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิมจนไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นหนึ่งในบทเรียนราคาแพงที่ถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์


You must be logged in to post a comment Login